พาใจของเรากลับบ้าน เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน

ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ล้วนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามา ทำให้เรามักลืมหันกลับมามองตัวเอง และหลงลืมความรู้สึกข้างในของเราไป วันนี้ใครที่กำลังรู้สึกเหนื่อยล้า เหมือนแบกโลกทั้งใบไว้ ชีวจิตอยากนำเสนอข้อคิดดีๆ จาก คุณพศิน อินทรวงค์ ในหัวข้อของการพาใจกลับบ้าน หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณจะรู้สึกผ่อนคลายลงได้ค่ะ

กายทำอะไร ให้ใจเราอยู่กับสิ่งนั้น อย่าปล่อยใจล่องลอยไปอยู่ในโลกของความคิด

เดินให้รู้ว่าเดิน นั่งให้รู้ว่านั่ง ยืนให้รู้ว่ายืน นอนให้รู้ว่านอน ทำสิ่งใดอยู่ ให้รู้ตัวทั่วพร้อม

 

ความคิดดึงเราหลุดเข้าไปในอดีต ความคิดดึงเราหลุดเข้าไปในอนาคต ที่จริงไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต

เพราะคิดสิ่งใด เราก็คิดอยู่ในเวลาของปัจจุบัน อดีตอนาคตเป็นมายา มีอยู่แค่ในห้วงคำนึง เป็นเงาของเวลา คว้าไปก็วางเปล่า

 

ลองอยู่กับลมหายใจก็ได้

ทำง่ายๆ จงทำตนประหนึ่งนายทวารเฝ้าประตู ลมเข้าให้รู้ ลมออกให้รู้ ลมเข้ายาวให้รู้ ลมเข้าสั้นให้รู้ หากความคิดผุดขึ้น ก็ให้รู้ รู้แล้วดึงกลับมาที่ลมหายใจ

 

การอยู่กับลมหายใจได้ เราจะได้สมาธิ ได้ใจที่ตั้งมั่น เข้มแข็งไม่คิดมาก

แต่ถ้าเราเห็นความคิดผุดเข้ามาบ่อยๆ โดยไม่แทรกแซง โดยใจเป็นกลาง คราวนี้เราจะได้ปัญญา ปัญญานี้คือปัญญาที่เห็นว่า ความคิดไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ความคิดมีลักษณะไปๆมาๆ เกิดๆดับๆ เป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงตลอด ไม่มีความแน่นอนเลย

 

อยู่กับปัจจุบันไม่ใช่การคิดบวก และอยู่กับปัจจุบันไม่ใช่การคิดลบ

อยู่กับปัจจุบัน เป็นการตระหนักเห็นความคิด โดยไม่มีส่วนร่วมกับความคิด เมื่อเห็นโดยไม่เข้าไปเป็น ความคิด ความรู้สึกจึงมีอิทธิพลกับผู้ที่เห็นน้อยลง หากทำได้ตลอด ก็จะสิ้นสุดความทุกข์อันเกิดจากความคิด

 

การฝึกตนเองให้อยู่กับปัจจุบันขณะ

ทำได้ทุกที่ เพราะเราคิดอยู่ตลอด เราเคลื่อนไหวอยู่ตลอด กายและใจของเราทำงานอยู่ตลอด เราจึงมีสิ่งที่ให้สังเกตอยู่ตลอดเวลา ความเชื่อที่ว่า การฝึกความรู้สึกตัว ฝึกการอยู่กับปัจจุบันขณะ ฝึกเจริญสติต้องไปทำที่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรมเท่านั้น ความเชื่อเช่นนี้ไม่จริงเลย เพราะการฝึกตนให้อยู่กับปัจจุบันขณะนั้นทำได้ทุกที่

 

 

เช่น ณ เวลานี้เรากำลังอ่านบทความอยู่ ก็ให้รู้ว่า กำลังอ่านบทความ

อ่านแล้วเกิดความรู้สึกอะไรผุดขึ้นมาก็ให้รู้ให้เห็น หากเราอ่านไปสักพัก รอบข้างเกิดเสียงมากระทบโสตประสาท เกิดเสียง ก็ให้รู้ เมื่อเกิดเสียงแล้ว เรามีความรู้สึกอย่างไรก็ให้รู้ รู้ไปอย่างนี้ตลอดเส้นทาง รู้ไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปกติของชีวิต

 

เดี๋ยวก็ชอบ เดี๋ยวก็ไม่ชอบ เดี๋ยวเศร้า เดี๋ยวสุข

ดีใจเสร็จแล้วก็สงสัย เปลี่ยนเป็นมั่นใจ เป็นหวั่นไหว โมโห เหล่านี้คืออารมณ์ปกติที่เกิดๆดับๆ ไหลเวียนเปลี่ยนผ่าน เป็นของธรรมดา อย่าเข้าไปเป็น อย่าเข้าไปอิน เพียงแค่เห็น แค่รู้ก็พอ

 

หากมีเรื่องไม่สบายใจ ให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน

ให้คิดก่อนคิด คิดก่อนคิด หมายความว่า ก่อนจะคิดอะไร ก่อนจะเครียดกับอะไร ลองคิดดูว่า สิ่งที่เรากำลังคิดอยู่ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องคิดต่อ หากพบว่า ไม่จำเป็นต้องคิดเพราะคิดแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เช่นนี้หมายความว่า สิ่งที่เรากำลังคิด เป็นความคิดที่ไร้คุณภาพ เป็นความคิดในเชิงทำร้ายตนเอง ถ้า เป็นไปได้ ก็ไม่ต้องคิด

 

อยู่กับปัจจุบัน

พูดง่าย แต่ทำไม่ง่าย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องฝึกฝน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สะสมชั่วโมงบิน ทำบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ทำด้วยใจที่เบิกบาน ไม่เร่งรีบ จิตจะค่อยๆพัฒนาไปเอง

 

ผู้เขียน : พศิน อินทรวงค์ นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 583

 


 

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

3 เทคนิค การหายใจ ช่วยให้ผ่อนคลาย คลายเครียด และคลายกังวล

10 วิธี ดูแลจิตใจ เจอหนักแค่ไหนก็เอาอยู่

ความเครียด ทำร้ายเราได้อย่างไรบ้าง

Posted in MIND
BACK
TO TOP
Riya
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.