โลก

สัมผัส โลก เบา ๆ โดย พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)

สัมผัส โลก เบา ๆ โดย พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)

สมบัติบน โลก ใบนี้มีไว้ให้ทุกคนชื่นชม มิใช่ให้ใครครอบครอง แม้ใครจะเป็นเจ้าของก็เป็นได้ชั่วขณะ เมื่อถึงเวลาวางก็ต้องวางให้ได้ ทุกคนต้องหัดวาง ถ้าไม่หัดอาจติดขัดเวลาเดินทางกลับ เรามาอยู่บนโลกนี้เพียงมือเปล่า เพียงร่างกายเท่านั้นที่เรานำมาหรือนำเรามา สมบัติทั้งปวงเราหาใหม่ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นเงินทอง บ้านเรือน การศึกษา บาปกรรมและบุญกุศลตกแต่งให้เราเกิดมาแตกต่างกัน การมาเกิดจึงเหมือนการเดินทางมาท่องเที่ยว คลอดจากครรภ์แม่เหมือนเดินลงจากเครื่องบิน มองเห็นทิวเขา ดอกไม้ ผู้คนสวยงาม อากาศดีสดชื่น ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เรารู้สึกเพลิดเพลินเจริญใจสังเกตเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ ต่างสถานที่ อากาศดีอาหารดี เพื่อนดี เราจะเบิกบานใจ พอใจ สุขใจ

ชีวิตเป็นเช่นนี้ คนใหม่ตื่นเต้น คนเก่าเริ่มเดินทางซ้ำซากสายเก่าที่เคยเดิน เคยเที่ยว เคยกิน เคยมี เคยเห็น เคยเป็นเจ้าของ ยิ่งถ้าใครถึงจุดหมายของชีวิตสูงสุดตั้งแต่เยาว์วัยยิ่งทำให้ต้องคิดหนัก เพราะอะไรที่คนส่วนใหญ่ต้องการ เราได้หมดแล้ว ชีวิตที่เหลืออีกตั้งนานจะทำอย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีเรื่องของการทำสาธารณประโยชน์เกิดขึ้น ใครมีมากมีน้อยยังไม่สำคัญเท่ากับใครทำให้คนอื่นได้มากกว่ากัน การให้จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของบุญกุศล เพราะจะทำให้เรามีความสุขยิ่งกว่าการมี

ตอนแรกเราอาจคิดว่าการมีมากๆ คือความสุข การได้ครอบครองคือความยิ่งใหญ่ แต่ความจริงการได้เป็นผู้ให้ต่างหากคือความสุขใจ ภูมิใจ

ลองคิดดู ในชีวิตจริงของเรา เราภูมิใจเมื่อเราหาเงินได้ซื้อของที่ต้องการได้ ได้กิน ได้ไปตามปรารถนา เราภูมิใจมากแต่เมื่อใดก็ตามถ้าเราสามารถทำให้คนอื่นที่ด้อยโอกาสกว่าเราทำได้อย่างที่เราทำ เราจะมีความภาคภูมิใจ ปลื้มปีติยินดีไม่สิ้นสุด อย่างน้อยที่สุดก็คนใกล้ชิดเรา เช่น ภรรยา สามี ลูก ญาติพี่น้อง มิตรสหาย ต่อมาถึงคนอื่นที่ยากจนขาดแคลน

ด้วยเหตุนี้จึงมีเศรษฐีจำนวนไม่น้อย เวลามีเงินทองมากมายเหลือใช้แล้วนำเงินมาทำการกุศล เช่น ตั้งมูลนิธิการศึกษา สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน สร้างมหาวิทยาลัยเพื่อให้ใจบางเบาต่อการยึดครอง

การให้เป็นกำไรของชีวิตเสมอ

 

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

จงปล่อยวาง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ธรรมะสอนใจ จากพระไพศาล วิสาโล

ฝึกปล่อยวาง ด้วยคำสอน หลวงพ่อชา สุภทฺโท

6 คำสอนปล่อยวางจากทุกข์ โดย หลวงปู่แหวน สุจิณโณ อริยสงฆ์แห่งเมืองเชียงใหม่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.