ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : ปฏิบัติธรรมจน นิสัยเปลี่ยนไป ทำอย่างไรดี
ถาม : ดิฉันปฏิบัติธรรมจนเกิดความเบื่อหน่ายในกามและนิสัยเปลี่ยนไป กินน้อยลง ช็อปปิ้งน้อยลง พูดน้อยลงสำรวมกิริยามากขึ้น แต่ญาติคนรอบข้างกลับมาว่าดิฉันปฏิบัติธรรมแล้วเพี้ยน ทำตัวแปลก ไม่มีความสุขในชีวิตเหมือนเดิม ดิฉันควรปฏิบัติตัวอย่างไรดีคะ ควรฝืนตัวเองทำอะไรแบบเดิมบ้าง หรือมุ่งหน้าไปทางธรรมต่อไป และจะอธิบายให้คนรอบตัวฟังอย่างไรดีคะ
พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ ตอบปัญหานี้ไว้ว่า
ตอบ : เท่าที่ฟังดู คุณโยมก็ปฏิบัติได้ดีอยู่แล้วเพราะเป็นธรรมชาติของผู้ปฏิบัติธรรมที่จะเป็นเช่นนี้ พูดโดยสรุปคือ ไม่ต้องไปแคร์ชาวโลกเพราะชาวโลกเขานิยมยกย่องในเรื่องบ้าบอ-คอแตกที่เราอาจทำไม่ลง ทำได้ยากขึ้นเพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ไม่ค่อยมีสาระถ้าพูดตามภาษาธรรมก็คือ ปฏิบัติตัวแบบนี้ดีแล้ว ไม่ต้องไปสนใจชาวโลก ถ้าเขายังไม่เข้าใจก็ไม่ต้องไปอธิบายอะไรมาก
แต่ถ้าอยากเอื้อเฟื้อคนรอบข้าง เราอาจต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อาจต้องอยู่กับโลกสมมุติแบบเป็นละคร แบบเป็นมายาบ้างมีการหัวเราะ มีชีวิตชีวา สดชื่นแจ่มใส ไปกิน ไปช็อปปิ้งบ้าง เพื่อให้ญาติทั้งหลายและครอบครัวสบายใจ ไม่ใช่หักดิบไปเลยแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
โยมเคยปฏิบัติธรรม แต่ญาติยังไม่เข้าใจ เขาอาจรู้สึกว่า ทำไมคนปฏิบัติธรรมเป็นแบบนี้ และอาจรู้สึกไม่ดีกับวงการปฏิบัติธรรมหรือนักปฏิบัติธรรมได้ ฉะนั้น ถ้าอยากสงเคราะห์ญาติ ก็ลองใช้วิธีสมดุลแบบ 50 - 50โลกไม่ช้ำ ธรรมไม่เสีย หรือโบราณเรียกว่าบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น เพราะเรายังเป็นคฤหัสถ์ฆราวาสผู้ครองเรือน เรายังไม่ใช่นักบวช ยังไม่ใช่พระ อาจต้องอยู่ในทางโลกบ้าง เขาชวนไปกิน ไปช็อปปิ้งก็ไปบ้าง แต่อาจไม่ไปบ่อย ๆ เหมือนเมื่อก่อน แต่ทำตัวเหมือนว่าไม่ผิดปกติ เพื่อช่วยให้ญาติไม่เกิดจิตอกุศลทำทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ไม่เหมือนเดิมเพราะใจเราไม่ได้อินกับเรื่องพวกนี้แล้ว
พระอาจารย์ขอยกตัวอย่างของนักปฏิบัติธรรมรุ่นแรก คือ นางวิสาขา เป็นบุคคลขั้นโสดาบัน แต่ยังต้องแต่งเนื้อแต่งตัวออกงานสังคม แต่ใจรู้ดีว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระไม่ใช่แก่นสาร ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ดังนั้นการที่เรายืนอยู่ในสังคมโลก ก็เพื่อไม่ให้เสียสังคม ให้หลายคนรู้สึกว่า ถึงปฏิบัติธรรมแต่ก็ไม่ได้ขวางโลก ไม่ได้หลุดโลก ไม่ได้ผิดปกติ เมื่อเขามีความรู้สึกที่ดี เห็นเราใช้ชีวิตปกติ สดใส เขาก็จะเข้ามาถามเองว่าได้ข่าวว่าเธอไปปฏิบัติธรรมมา เราก็จะได้
แนะนำเขาได้ แต่ถ้าเราไปที่ไหนแล้วคนหัวเราะเรากลับนั่งทอดตามองต่ำ เดินก็เดินช้า ๆไปงานราตรีก็ใส่ชุดขาวมีผ้าคลุมไหล่ เวลานั่งก็กำหนดอย่างมีสติสัมปชัญญะ เขาจะกินอะไรก็มองเขา เห็นอย่างนี้ไม่มีใครอยากถามหรอกว่า เราไปปฏิบัติธรรมที่ไหนมา
โดยสรุปคือ ให้ถือว่าสงเคราะห์สังคมญาติ ให้บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น โลกไม่ช้ำ ธรรมไม่เสีย แต่เน้นว่าให้ไปตามเขา “บ้าง” เท่านั้นทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่ไม่เหมือนเดิม
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
ภาพ : www.pexels.com
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่ Secret Magazine (Thailand)
บทความที่น่าสนใจ
ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : ฟุ้งซ่าน อยู่คนเดียวไม่ได้ ทำอย่างไรดี
ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : บาปหรือไม่ ถ้าฆ่าสัตว์มีพิษเพื่อป้องกันตัว
ปฏิบัติธรรมตามจริต แบบไหนที่เหมาะกับคุณ
หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การเจริญกุศล โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
เคล็ดลับของการปฏิบัติธรรมให้มีชีวิตชีวา โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ