ปฏิบัติธรรมตามจริต | จริตแบบนี้ปฏิบัติธรรมแบบไหนดีนะ
ก่อนจะกล่าวถึงเรื่อง ปฏิบัติธรรมตามจริต ลองมาทำความรู้จักกับ “สมาธิ” หรือ Meditation กันก่อน
สมาธิ หมายถึง ที่ตั้งมั่นแห่งจิต ในทางปฏิบัติหมายถึงการทำใจให้นิ่ง แม้ในพระพุทธศาสนาจะกล่าวว่า มีวิธีทำสมาธิอยู่ถึง 40 วิธี แต่การทำสมาธิก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะการทำสมาธิได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงทำให้มีวิธีปฏิบัติหลากหลายและปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม นั่นเป็นเพราะสมาธิมีประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและจิตใจ
พระพุทธศาสนาแบ่งจริตหรือพื้นฐานจิตของบุคคลออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ ๆ พร้อมวิธีปฏิบัติสมาธิที่เหมาะแก่จริตนั้น ๆ ไว้ดังนี้
1. ราคจริต คือ คนที่รักสวยรักงาม ชอบเครื่องประดับและอาหารรสกลมกล่อม ปราณีต ชอบระเบียบเรียบร้อย วิธีปฏิบัติสมาธิที่เหมาะสม ได้แก่ อสุภกรรมฐานและกายคตาสติ
2. โทสจริต คือ มีนิสัยใจร้อน ขี้หงุดหงิด อารมณ์รุนแรง ชอบอาหารรสจัด ชอบวิวาท ยอมหักไม่ยอมงอ วิธีปฏิบัติสมาธิที่เหมาะสม ได้แก่ การเจริญพรหมวิหาร 4
3. โมหจริต คือ มีนิสัยไปทางเชื่อคนง่าย ตื่นข่าวลือ งมงาย ไม่ค่อยสะอาดเรียบร้อย ชอบเหม่อลอย เผลอสติ วิธีปฏิบัติสมาธิที่เหมาะสม ได้แก่ อานาปานสติ
4. สัทธาจริต คือ มีนิสัยไปทางศรัทธา ไม่มีมารยาสาไถย เลื่อมใสง่ายในพระรัตนตรัยและครูบาอาจารย์ วิธีปฏิบัติสมาธิที่เหมาะสม ได้แก่ อนุสติ 6 (พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์, ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระธรรมเป็นอารมณ์, สังฆนุสสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์, สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลเป็นอารมณ์, จาคานุสสติ ระลึกถึงผลของทานการบริจาคเป็นอารมณ์ และเทวตานุสสติ ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์)
5. วิตกจริต คือ มีนิสัยไปทางขี้วิตก กังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ฟุ้งซ่าน ย้ำคิดย้ำทำ วิธีปฏิบัติสมาธิที่เหมาะสม ได้แก่ อานาปานสติ
6. พุทธิจริต คือ ชอบใช้เหตุผลและสติปัญญา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ชอบศึกษา ครุ่นคิด วิธีปฏิบัติสมาธิที่เหมาะสม ได้แก่ มรณัสสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์, อุปสมานุสติ ระลึกถึงความสุขในนิพพานเป็นอารมณ์, จตุธาตุววัตถาน การอบรมจิตด้วยการพิจารณากายที่ประกอบด้วยธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอารมณ์ และอาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ การพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร
หมายเหตุ: เป็นธรรมดาที่แต่ละบุคคลอาจมีจริตนิสัยมากกว่าหนึ่งประเภท ฉะนั้นจึงควรเลือกวิธีปฏิบัติที่คิดว่าเหมาะสมกับตนมากที่สุด (ขอขอบคุณข้อมูลจากพระอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
บทความน่าสนใจ
ธรรมะเยียวยาใจเมื่อต้องพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก
ธรรมะไม่ธรรมดาของเจ้าพ่อเกมโชว์พันล้าน ปัญญา นิรันดร์กุล
ชีวิตนี้แสนยาก เพราะตัวเราเองหรือเปล่า บทความธรรมะจาก ปิยสีโลภิกขุ
3 บุคคลที่หันหลังให้พระพุทธเจ้า - คนที่ถูกพระพุทธเจ้าทิ้ง บทความธรรมะจากท่าน ว.