บทความน่าคิด จากพระไพศาล วิสาโล

อยู่สบาย แล้วทำไมต้องตายลำบาก บทความน่าคิด จากพระไพศาล วิสาโล 

อยู่สบาย แล้วทำไมต้องตายลำบาก บทความน่าคิดจากพระไพศาล วิสาโล 

ความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ คนสมัยนี้มีชีวิตที่สุขสบายกว่าสมัยก่อนมาก มาอ่าน บทความน่าคิด จากพระไพศาล วิสาโล กันค่ะ

นอกจากอาหารการกินอุดมสมบูรณ์และหลากหลายแล้ว ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จะไปไหนก็ไม่ต้องเดิน จะกินหรือซื้ออะไร ก็แค่โทรศัพท์หรือกดปุ่ม งานการก็ไม่ต้องใช้เรี่ยวแรงหรืออาบเหงื่อต่างน้ำ ยังไม่ต้องพูดถึงความบันเทิงเริงรมย์ ซึ่งมีให้เสพได้ทุกเวลา

แต่หากพูดถึงความตายแล้ว กลับกลายเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากมากขึ้นสำหรับคนสมัยนี้ คือ ยิ่งร่ำรวยมากเท่าไรก็ยิ่งตายลำบากมากเท่านั้น นิตยสาร The Economist ฉบับเดือนพฤษภาคม รายงานว่า ในประเทศร่ำรวย ผู้คน 2 ใน 3 ไม่เพียงตายในโรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชราเท่านั้น แต่ยังได้รับการรักษาที่ไร้ประโยชน์และก้าวร้าวรุนแรง หลายคนตายคนเดียวด้วยความสับสนและเจ็บปวด จำเพาะประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าระหว่างปี พ.ศ. 2541 - 2553 คนอเมริกันที่มีความสับสน เป็นโรคซึมเศร้า และเจ็บปวดในปีท้าย ๆของชีวิตเพิ่มมากขึ้น

ประเทศร่ำรวยเหล่านี้ แม้มีเทคโนโลยีล้ำหน้ามากมายแต่บ่อยครั้งกระบวนการรักษาที่กระทำแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น นอกจากก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากมายแล้ว ยังไม่ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นเลย ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ป่วยแม้กระทั่งในช่วงท้ายของชีวิต ประมาณ 1 ใน 8 ของชาวอเมริกันที่ป่วยด้วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้รับเคมีบำบัดกระทั่ง 2 สัปดาห์สุดท้ายของชีวิต ทั้ง ๆ ที่วิธีดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์อันใดสำหรับผู้ป่วยระยะนี้เลย ยิ่งเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้ว เกือบ 1 ใน 3 ได้รับการผ่าตัดในช่วงปีสุดท้าย ร้อยละ 8 ได้รับการผ่าตัดกระทั่งสัปดาห์สุดท้าย

เคยมีการสอบถามญาติมิตรของผู้ป่วยที่เสียชีวิต เกือบร้อยละ 40 ระบุว่า เพื่อนหรือญาติของตนได้รับความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น เมื่อถามถึงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ส่วนใหญ่ให้คะแนน “ปานกลาง” หรือ “แย่”

มองในแง่นี้ คนสมัยก่อนแม้มีชีวิตที่ลำบาก แต่ถึงเวลาตายกลับสบายกว่า เพราะนอกจากมีญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านมาช่วยดูแล สร้างความอบอุ่นใจ และช่วยน้อมใจให้ไปสงบแล้วมักประสบความเจ็บปวดน้อยกว่าหรือไม่นานเท่าคนสมัยนี้เพราะส่วนใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้ตายในเวลาไม่นา นอีกทั้งไม่ต้องเจอกระบวนการยื้อชีวิต ซึ่งแม้จะทำให้มีลมหายใจยืนยาวขึ้น แต่กลับสร้างความทุกข์ทรมานอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเกิดมาเป็นคนสมัยนี้แล้วจะต้องตายลำบากเสมอไป ระยะหลังมีการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างครอบคลุมทั้งกายและใจ ไม่เน้นการยื้อชีวิต แต่ช่วยลดความทุกข์ทรมาน และทำให้สุขสบายมากที่สุด การดูแลแบบนี้เรียกว่า การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care)

จากการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่ตายในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เจ็บปวด เครียด และซึมเศร้ามากกว่าผู้ป่วยประเภทเดียวกันที่ตายในสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือที่บ้าน ซึ่งได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ที่เป็นเช่นนี้สาเหตุสำคัญเป็นเพราะผู้ป่วยกลุ่มหลังไม่ต้องได้รับการรักษาที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น ซึ่งเพียงแต่ยื้อชีวิต แต่ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การรักษาแบบประคับประคองจะให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตใจ รวมทั้งความรู้สึกและความต้องการของคนไข้ ก่อนให้การรักษาจะมีการพูดคุยระหว่างหมอกับคนไข้เกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ป่วย สิ่งที่ผู้ป่วยอยากทำในระยะท้าย สิ่งที่หวาดกลัวไม่อยากให้เกิด รวมทั้งจะยอมทนแค่ไหนเพื่อมีเวลาทำสิ่งที่ต้องการได้

การทำตามความต้องการของคนไข้หรือช่วยให้คนไข้ได้ทำสิ่งสำคัญสุดท้ายของชีวิต ช่วยให้คนไข้ยอมรับความตายได้มากขึ้น ไม่ต่อสู้ขัดขืนความตาย แต่จะทำเช่นนั้นได้การสนทนาพูดคุยระหว่างหมอกับคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ “การสนทนาอาจมีอานุภาพยิ่งกว่าเทคโนโลยีเสียอีก” แพทย์ชาวอังกฤษกล่าวจากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน

ที่น่าสนใจก็คือ แม้การรักษาแบบประคับประคองมิได้มุ่งยื้อชีวิตผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบนี้จำนวนมากกลับมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ถูกยื้อชีวิตด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด งานวิจัยของโรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์เมื่อปี พ.ศ. 2553 พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะ 4 ที่ได้รับการรักษาและประคับประคองอยู่ได้นานขึ้นร้อยละ 25

 “อยู่สบาย ตายลำบาก” กับ “อยู่ลำบาก ตายสบาย” เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะเราสามารถอยู่สบาย ตายไม่ลำบากได้ หากวางแผนเสียแต่เดี๋ยวนี้ว่า ในวาระสุดท้ายเราจะเลือกรับการดูแลรักษาแบบใด 

เรื่อง พระไพศาล วิสาโล 

ข้อมูล คอลัมน์ Joyful Life peaceful Death นิตยสาร Secret


บทความน่าสนใจ

ไม่ยึดติดกับความคิด ธรรมะจากพระไพศาล วิสาโล

“ธรรม” ที่พึ่งพิงของชีวิต บทความให้แง่คิด จาก พระไพศาล วิสาโล

พระไพศาล วิสาโล ขอมอบพรปีใหม่ให้ชาวไทยทุกท่าน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.