เจาะลึกเบื้องหลัง จิตอาสาดูแลคณะสงฆ์ในพระเมรุมาศ ในหลวง รัชกาลที่๙
ช่วงเวลาปลายปีแบบนี้ หลายคนอาจใช้เวลาว่างไปชมพระเมรุมาศก่อนที่จะหมดเวลาเยี่ยมชม แต่ท่ามกลางผู้คนมากมายแบบนี้ ใครจะรู้ว่า ยังมีอีกหนึ่งบทบาทที่ยังคงเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อถวายงานในหลวง รัชกาลที่๙ ซึ่งนั่นก็คือ จิตอาสาดูแลคณะสงฆ์ ในหลวง รัชกาลที่๙
นางสาวฉัตรชนก ดุลยรัตน์ หัวหน้า จิตอาสาดูแลพระภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี และแม่ชี
“ดิฉันตัดสินใจเป็นจิตอาสา เพราะต้องการทำความดี ช่วยเหลือทุกหน่วยงานให้มากที่สุดเท่าที่จะได้ ต้องขอเล่าย้อนกลับไปว่า ช่วงเวลาวันถวายพระเพลิงในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้รับโอกาสจากคุณนิตยา ลักษณะวิศิษฏ์ ให้เข้าไปช่วยเรื่องทำอาหารเพื่อนำไปแจกจ่ายประชาชน ณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคมแล้วค่ะ ซึ่งทำที่โรงละครเล็ก กรมศิลปากร
“เมื่อเสร็จภาระกิจ ได้รับความสุขที่ได้เป็นผู้ให้ และการเสียสละให้ผู้อื่น เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ เหมือนกับเราได้ทำสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เราทำได้ แบ่งปันเวลาที่เรายังพอมี ดีกว่าหายใจทิ้ง หลังจากนั้น ก็ได้มีโอกาสอีกครั้งในการดูแลพระภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี และแม่ชี จึงไม่ลังเลแม้แต่น้อย รับงานทันที แต่ด้วยเรายังมีภาระหน้าที่ของงานส่วนตัว และครอบครัวเพราะมีลูกชายพิการ 1 คน จึงได้ชักชวนพี่ๆน้องๆเข้าร่วมโครงการนี้ร่วมกัน และทุกคนไม่ปฏิเสธแม้แต่น้อย เราจึงได้จิตอาสาเพิ่มขึ้นสำหรับโครงการนำพระภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี และแม่ชีเข้าชมพระเมรุมาศ
“สิ่งที่ดิฉันตั้งใจจะดำเนินรอยตามอย่างในหลวง รัชกาลที่ ๙ นั้น เราทำได้ทุกวัน คือ การเป็นคนดี แบ่งปัน รู้รักสามัคคี มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง และเพียงพอในการดำรงตน ให้เป็นนิสัยและฝังอยู่ในจิตวิญญาณของเรา เพียงแค่นี้ ก็ได้ชื่อว่า เราดำเนินตามรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แล้วค่ะ”
พิมพ์ประภา พาลพ่าย จิตอาสาดูแลพระภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี และแม่ชี
“จุดเริ่มต้นของการเป็นจิตอาสาดูแลพระภิกษุสงฆ์ ภิกษุณี และแม่ชี เริ่มจากเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 บริเวณอัญเชิญพระบรมโกศ สู่ริ้วขบวนที่ 2 บนถนนสนามไชย ได้พบกัลยาณมิตร คุณฉัตรชนก ดุลยรัตน์ หรือพี่นิด เป็นครั้งแรก เรารู้จักกันจากคำถามของพี่นิดว่า “เราเคยไปปฏิบัติธรรมไหม พี่คุ้นหน้าเราจัง ” จากคำถามแรกพบอาจจะเป็นสัญญาณหนึ่งที่ทำให้ได้มาทำงานเป็นจิตอาสา พอเรารู้ว่ามีโอกาสได้ดูแลพระพุทธศาสนาก็ไม่ลังเลที่จะทำ ต้องขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดี ที่เปิดโอกาสให้เป็นจิตอาสาถวายพ่อในครั้งนี้ค่ะ
“การทำจิตอาสานี้เป็นครั้งแรก โดยเริ่มทำตั้งแต่ วันที่ 4 พ.ย. เป็นต้นมา ดิฉันอยากทำดีถวายพ่อเป็นครั้งสุดท้าย ดิฉันทำสัปดาห์ละ 2 วัน หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นการดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ พระภิกษุ พระภิกษุณี แม่ชี และผู้ติดตาม เช่น การจัดเตรียมอาหารเพื่อถวายเพล การแจกแบบสอบถามของมหาจุฬาลงกรณ์ การถวายรูปพระบรมสาทิศลักษณ์ปิดทองหลังพระเป็นที่ระลึก การนิมนต์ท่านชมพระเมรุมาศและถ่ายภาพหมู่ การเก็บขยะบริเวณจุดคัดกรองเป็นต้น หน้าที่ในแต่ละวันจะได้ตามความเหมาะสม
“ดิฉันรู้สึกดีใจ และภูมิใจ ที่มีโอกาสทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นครั้งสุดท้าย และเป็นงานจิตอาสาครั้งแรกของชีวิต ขอขอบคุณผู้ใหญ่ที่ให้โอกาส เป็นสิ่งที่อยากทำมานานแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ และที่ภูมิใจที่สุดคือได้เพื่อนๆมาร่วมเป็นจิตอาสาด้วย รู้สึกดีใจที่เราได้ส่งต่อความดี โอกาสที่ดีให้แก่ผู้อื่น และขอนำความทรงจำที่ดีนี้ให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ลูกๆหลานๆ คนรุ่นหลังต่อไป
“ความผูกพันของดิฉันที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่๙ เกิดมาจากการที่บ้านเกิดของดิฉันเองอยู่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คุณตาคุณยายพาไปสมัยเด็กๆ เราเลยผูกพัน ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากพื้นดินที่แห้งแล้ง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น จนมาสู่พื้นป่าไม้ สมุนไพร แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และงานวิจัยปริญญาเอกศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้อ่านหนังสือหลายเล่มจนทึ่งในพระอัจฉริยภาพ และพระราชวิสัยทัศน์ ของในหลวง ร.๙ เมื่อก่อนดิฉันเข้าใจปรัชญานี้แค่เรื่องของเศรษฐกิจ แต่จริงๆ สามารถนำมาเป็นหลักคิดการดำรงชีวิตได้ในทุกเรื่อง เป็นรากฐานชีวิตของมนุษย์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และได้ศึกษาพระราชดำรัสหลายๆด้าน ทำให้เรามีความคิดที่ดีขึ้น เห็นพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ปิดทองหลังพระเพื่อผู้อื่นมาตลอดทั้งชีวิตของท่านกว่า 70 ปี ดิฉันไม่สงสัยเลยว่าทำไมคนรุ่นก่อน หรือ ใครๆก็รัก และ ศรัทธา ในหลวง ร.๙ มากมายขนาดนี้ รู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดในประเทศไทยบนแผ่นดินรัชกาลที่ ๙”
“ข้าพระพุทธเจ้าขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป”
เรื่อง: อุรัชษฎา ขุนขำ
ขอบคุณภาพจาก
คุณธัมมธีปา ตนุพันธ์, Voice TV,คุณรักษณาลี อิ่มลาภ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ร้อยอาลัยจากใจผู้ถวายงานวิจิตรศิลป์ประดับพระเมรุมาศ
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระพุทธนวราชบพิตร กำลังของแผ่นดิน ทรงสร้างเพื่อผองไทย