9 สถานที่ สวดมนต์ข้ามปี 2561
นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วันแล้ว เราก็จะก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองสู่ปีใหม่ 2561 สำหรับพุทธศาสนิกชนคนไหนที่กำลังมองหากิจกรรมทำส่งท้ายปีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร จะไปที่ไหน ขอแนะนำอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากชาวพุทธทั้งวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ไม่น้อยในทุกๆปีนั่นก็คือการ สวดมนต์ข้ามปี 2561
ซีเคร็ตได้รวบรวม 9 สถานที่ สวดมต์ข้ามปีมาฝากสายบุญทุกๆท่านค่ะ
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
เดิมทีวัดนี้มีชื่อว่า“วัดสะแก”เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ฝั่งพระนครซึ่งปรากฏหลักฐานการสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์โปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและสิ่งก่อสร้างในวัดทั้งหมดแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” เพื่อระลึกถึงครั้งที่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
วัดไตรมิตรวิทยาราม
เดิมมีชื่อว่าวัด วัดสามจีนใต้ เหตุที่เรียกว่าวัดสามจีน ก็เนื่องด้วยเหตุว่ามีชาวจีน ๓ คนได้ช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนนามวัดสามจีนใต้มาเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม ทั้งนี้ เพื่อจะเฉลิมเกียรติคุณของท่านผู้แรกสร้างให้ยั่งยืนวัฒนายิ่งขึ้น และเป็นการเชิตชูอุตสาหะวิริยะของท่านผู้สร้างและคณะกรรรมการปรับปรุงวัด พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระวันรัต ( เฮง เขมจารีมหาเถร) วัดมหาธาตุ ฯ ได้เมตตาคิดค้นนามที่เป็นมงคลมาเฉลิมเพิ่มความสง่าให้แก่วัดสามจีนใต้ โดยเปลี่ยนเป็น “วัดไตรมิตรวิทยาราม”
วัดบวรนิเวศวิหาร
วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาเป็นพุทธสถานสำหรับพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีหรือวัดป่า มุ่งเน้นการปฏิบัติวิปัสสนาธุระ เคียงคู่กับวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นฝ่ายคามวาสีหรือวัดในเมือง มุ่งศึกษาและเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า
วัดปทุมวนาราม
พระวิหารวัดปทุมวนารามเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่อันเชิญมาจากกรุงเวียงจันทร์ คือ พระเสิมและพระแสน นับว่าสอดคล้องกับจิตรกรรมฝาผนังเรื่องศรีธนญชัย หรือ เชียงเมี่ยง ซึ่งเป็นนิทานตลกขบขันแบบทวีปัญญาที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยและชาวลาว จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารเป็นตัวอย่างภาพเขียนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่แสดงการรับอิทธิพลฝรั่งอย่างชัดเจนอีกแห่งหนึ่ง
วัดยานนาวา
เมื่อปี พ.ศ. 2387 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ พร้อมสร้างเจดีย์ มีฐานเป็นเรือสำเภาจีน โดยแฝงนัยสำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของการค้าระหว่างประเทศในสมัยนั้น และเป็นสัญลักษณ์ทางธรรม เรือเปรียบเสมือนธรรมะที่โอบอุ้มสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากแม่น้ำแห่งความทุกข์ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ปัจจุบันวัดยานนาวาสนองพระราชดำริด้วยการสร้างสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อเปิดให้ผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมได้ทุกเพศทุกวัย
วัดอรุณราชวราราม
วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก (เรียกตามชื่อตำบลที่ตั้ง) เล่ากันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีใหม่มายังกรุงธนบุรี พระองค์จึงเสด็จทางชลมารค ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยมาจนถึงหน้าวัดมะกอกเมื่อรุ่งแจ้งพอดี ครานั้นจึงมีพระราชดำริว่า นับเป็นมงคลมหาฤกษ์นัก ครั้นแล้วจึงเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งไปถวายสักการะพระเจดีย์ (พระปรางค์องค์เก่า)ครั้นต่อมาโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดแจ้ง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาตามลำดับ จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้รับพระราชทานนามใหม่ตามนัยความหมายเดิมว่า “วัดอรุณราชวราราม”
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
เป็นอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณ ชื่อเดิมว่า “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” สมัยรัชกาลที่ 5 กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 โปรดตั้งกองทัพรับขบถเจ้าอนุวงศ์ที่วัดนี้ หลังเสร็จจากการรบแล้วได้มีศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดแหลม โดยร่วมกับพระเจ้าน้องยาเธอ รวม 4 พระองค์ คือ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล และพระองค์เจ้าหญิงวงศ์ ในการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ 5 องค์ เรียงอยู่ด้านหน้าวัด สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร” หมายถึง วัดของเจ้านาย 5 องค์
วัดราชาธิวาสวิหาร
วัดราชาธิวาสวิหารเป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัด สมอราย สมเด็จพระบวรราชเจ้า
มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชได้เคยเสด็จประทับวัดนี้ ครั้นเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร ซึ่งแปลว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา ได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปีพุทธศักราช 2367
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนตีทองและถนนบำรุงเมืองหน้าวัดหันออกทางถนนอุณากรรณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงดำรัสให้สร้างขึ้น (ประมาณ พ.ศ. 2350-2351) เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วง ครั้นเวลาผ่านไปพระวิหารหลวงของวัดก็หักพังลงทำให้พระพุทธรูปองค์นี้ต้องตากแดดกรำฝน จนกระทั่งมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไปพบเข้าก็ทรงมีพระดำรัสให้อัญเชิญเข้ามายังพระวิหารของวัดสุทัศน์ ฯ ในพระนคร แต่เมื่ออัญเชิญเข้ามาแล้วพระวิหารในวัดนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง
เตรียมตัวไปสวดมนต์ข้ามปี
การสวดมนต์ข้ามปีเป็นกิจกรรมที่ต้องทำต่อเนื่องเป็นเวลานับชั่วโมง ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจดังนี้
การแต่งกายควรสวมชุดสุภาพ ไม่รัดรูป เหมาะแก่การเข้าวัด สะดวกในการลุกนั่งและก้มกราบ มักนิยมสวมชุดขาว
เตรียมของใช้ส่วนตัวที่คิดว่าจำเป็น เช่น ยาทากันยุง ยารักษาโรคประจำตัว น้ำดื่ม ไฟฉาย
ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายแค่พออิ่มก่อนไปสวดมนต์ และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย
ก่อนมาสวดมนต์ควรทำจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาศีล 5 นั่งสมาธิกำหนดสติ
นอนให้เต็มอิ่ม เพราะการสวดมนต์ข้ามปีนั้นเลิกดึก จะได้ไม่ง่วงก่อนสวดจบ
ก่อนนั่งสวดควรวอร์มร่างกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อให้สวดมนต์ได้นานขึ้น
หากมีช่วงพัก ให้ลุกเดินเพื่อบริหารกล้ามเนื้อแก้เมื่อย และในระหว่างสวดมนต์ให้ขยับเปลี่ยนท่านั่งบ้าง ส่วนผู้สูงอายุสามารถนั่งเก้าอี้สวดมนต์ได้ เพื่อให้สวดมนต์ได้ยาวนานขึ้น
ข้อมูลจาก : นิตยสาร Secret, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพจาพ : นิตยสาร Secret, dhammathai, rattanakosinislandguide
บทความที่น่าสนใจ