ขอโทษมากไป ระวังเป็นโรค

หลาย ๆ คนมักติดพูดคำว่า “ขอโทษ” ง่ายและบ่อยเกินไป เช่น “ขอโทษที่รบกวนนะคะ แต่ขอถามอะไรหน่อยได้ไหม?”  ขอโทษในสิ่งที่ไม่ใช่ความผิดของเรา ไม่อยู่ในความควบคุมของเรา ขอโทษในสิ่งที่ไม่สมควรที่จะขอโทษ เช่น ขอโทษที่เรามีความรู้สึกอ่อนไหวมากเกินไป ขอโทษเมื่อมีคนมาชนเรา หรือแม้กระทั่งการขอโทษที่เราพูดขอโทษออกไป หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยว่าการขอโทษบ่อยเกินไปก็สามารถส่งผลเสียต่อเรา แต่รู้ไหมคะ ว่าอาการแบบนี้ ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Sorry Syndrome

ก่อนที่เราจะพูดถึงผลเสีย ลองมาดูกันก่อนว่าทำไมเราถึงพูดขอโทษบ่อยๆ

สาเหตุอาจเป็นเพราะเราอยากให้คนอื่นชอบ อยากได้ความเห็นอกเห็นใจ อยากที่จะดูสมบูรณ์แบบ หรืออาจเกิดจากที่เราอยากหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และการถูกตำหนิ ทำให้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็มักจะพูดขอโทษไว้ก่อนเสมอ อาการนี้เรียกกันว่า ‘Sorry Syndrome’   

Sorry Syndrome คืออะไร?

Sorry Syndrome เป็นอาการที่ต้องขอโทษตลอดเวลา แม้แต่ในเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ หรือในเรื่องที่เราไม่คิดว่าผิดจริงๆ สัญญาณของการเป็น Sorry Syndrome สามารถดูได้จาก

  • ขอโทษในเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้
  • ขอโทษแทนการกระทำของคนอื่น
  • ขอโทษในสถานการณ์ประจำวันปกติ
  • ขอโทษกับวัตถุไม่มีชีวิต
  • ขอโทษในเรื่องที่เราไม่คิดว่าผิด
  • ขอโทษเมื่อพยายามแสดงออกหรือมีจุดยืนในตัวเอง

การขอโทษมากเกินไปทำให้คำขอโทษจริงๆ ดูไร้ค่า และจะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่คู่ควรที่จะมีความเชื่อ ความต้องการ หรือคำพูดที่จะสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้ นอกจากนั้น การขอโทษอยู่ตลอดเวลาอาจทำให้เราเกิดความรู้สึกเศร้าและเสียพลังใจ เพราะมันเป็นการที่ส่งข้อความออกไปว่า “ขอโทษที่เป็นตัวฉัน”

Sorry Syndrome

เหมือนอย่างที่ Tara Swart นักประสาทวิทยาและผู้เขียนหนังสือ The Source: Open Your Mind, Change Your Life ได้กล่าวว่า “การขอโทษเมื่อเราทำผิดมีคุณค่าอย่างแท้จริง แต่การขอโทษโดยไม่จำเป็นอาจเป็นจุดอ่อนทั้งในที่ทำงานและในความสัมพันธ์ส่วนตัว” เพราะคนอื่นจะไม่เชื่อถือในคำพูดของคุณอีกต่อไป

4 ขั้นตอนในการหยุดขอโทษเกินเหตุ

  1. เข้าใจตัวแปรที่มากระตุ้น ลองวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เรามักพูดคำว่าขอโทษออกมา เช่น ขอโทษบ่อยขึ้นตอนอยู่กับครอบครัว หรือกับเพื่อนร่วมงานที่ทำงาน ดูว่าอะไรคือตัวแปรที่ทำให้ขอโทษบ่อยๆ
  2. หยุดคิดก่อนตอบสนอง  ถ้ารู้สึกว่าคุณอาจจะเริ่มพูดว่า “ขอโทษ” ในเรื่องที่ไม่ได้เป็นคนผิด ลองพยายามชะลอตัวเองลงก่อน เพื่อหยุด และหายใจเข้าตัดสินใจพูดอะไรออกไป
  3. แทนด้วยคำว่าขอบคุณ บางสถานการณ์ที่จริงๆ เราไม่ได้ผิดเลย แต่อาจจะยังคงมีความรู้สึกผิดอยู่และอยากแสดงออก ลองเปลี่ยนคำที่ทำให้ตัวเองรู้สึกเสียหาย เป็นการด้วยคำว่าขอบคุณแทนได้ เช่น พูดว่า “ขอบคุณมากที่รอ” แทนที่จะพูดว่า “ขอโทษที่ทำให้ต้องรอ”
  4. เรียนรู้ที่จะมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
    – เตือนตัวเองว่าไม่เป็นไรที่เราจะมีความคิดเห็น 
       – ใช้ประโยคที่เริ่มต้นด้วย “ฉัน” เพื่อแสดงความรู้สึกและความต้องการของเรา แทนที่จะเริ่มด้วยการขอโทษ
       – ยืนหยัดในตัวเองและปฏิเสธเมื่อจำเป็น 
       – ฝึกการยืนยันตัวเอง เช่น “ฉันมีคุณค่าและสมควรได้รับความเคารพ”

Sorry Syndrome ต้นเหตุโรคซึมเศร้า

การขอโทษบ่อยๆ อาจทำให้เรามีอาการวิตกกังวลโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะมันทำให้คนพูดรู้สึกเหมือนหมดพลัง และมัวแต่กังวลกับความผิดพลาดจนไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะคำว่าขอโทษบางครั้งอาจแปลได้ว่า “ขอโทษนะที่ฉันเป็นคนแบบนี้ คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ หรือพูดแบบนี้” และเมื่อพูดบ่อยๆ ก็เหมือนเป็นการสะกดจิตตัวเองว่าเราไม่มีอะไรดี ทำอะไรก็ผิดเสมอ ซึ่งพอเรามีความคิดแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เราเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำลง หรือ Low Self-Esteem

Sorry Syndrome

ซึ่งคนที่มีภาวะเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำมักรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีใครรัก ขาดความมั่นใจ ทำให้มีปัญหาในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังไม่เชื่อคำชมที่ผู้อื่นมีต่อตนเอง และมีความรู้สึกเกลียดตัวเอง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่หนักกว่าอย่างโรคซึมเศร้า (Depression) หรือโรควิตกกังวล (Anxiety) ได้

เพราะว่า Self-Esteem คือ ความรู้สึกที่เราชอบและมีความสุขกับตัวเอง ทำให้เรามองเห็นคุณค่าและให้เกียรติตัวเอง คนที่มี High Self-Esteem จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ และจะไม่ยอมให้ตัวเองอยู่ในความสัมพันธ์ที่แย่ หรือทำสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกสูญเสียคุณค่าของตัวเอง

ในทางกลับกัน คนที่มี Low Self-Esteem ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า เพราะเมื่อเจอวิกฤติในชีวิต พวกเขามักจะตีความว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง และมองว่าตัวเองไม่มีความสามารถ หรือไม่ดีพอนั่นเอง

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะสามารถทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น ลดการขอโทษที่ไม่จำเป็น และลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้ ลองใช้ดู แล้วคุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง

ข้อมูลจาก

  • linkedin
  • higherechelon
  • psychologytoday
  • istrong

เรื่องอื่นๆ ที่่นาสนใจ

รวม “ความไม่รู้” เพื่อหา หนทางดับทุกข์ โดย คุณ พศิน อินทรวงค์

เมื่อเราลองใช้ เสียงเพลงบำบัด กายสบาย ใจสงบ

4 เมนูคลายเครียด อร่อย ทำง่าย ช่วยจิตใจให้อารมณ์ดี

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.