เวลา ไม่เพียงเยียวยาหัวใจ ! วิธีรักษากายหยาบ ตามนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์

                เวลา กับวิถีชีวิตคนเมืองปัจจุบัน ดูไม่บาลานซ์กันเสียเลย ทุกวันมักมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย และบางครั้งต้องทำแข่งกับเวลา ทำให้เหลือเวลาพักผ่อนน้อยลงและนอนดึกดื่นข้ามคืน หลายคนกว่าจะได้นอนก็ปาเข้าไปตีสี่ ถึงจะตื่นอีกทีตอน 09.00 น.หรือ 10.00 น. ก็ไม่ได้แปลว่าร่างกายได้รับการพักผ่อนเพียงพอแล้ว เพราะนั่นไม่ใช่เวลาพักผ่อนที่ดีที่ร่างกายต้องการ

ร่างกายของเรานั้นมีนาฬิกาชีวภาพอยู่ และระบบของร่างกายจะทำงานตามกลไกที่เห็นข้างล่างนี้ดังนั้นหากคุณนอนตามเวลาที่เหมาะสม ร่างกายก็จะมีกระบวนการซ่อมแซมตัวเองในระหว่างที่คุณหลับทั้งในส่วนของกายภาพและระบบประสาท

มารู้จักนาฬิกาชีวภาพในร่างกายของเรากันดีกว่า

21.00 น. –  23.00 น. 

เป็นช่วงที่ควรพักผ่อนที่สุด เพราะร่างกายเริ่มหลั่งสารเมลาโทนินที่ช่วยในการปรับสมดุลร่างกาย ปกป้องเซลล์ผิวหนังจากอนุมูลอิสระ ชะลอความชราภาพ

23.00 น. - 1.00 น.          

เป็นช่วงที่ตับผลิตน้ำดีออกมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก

1.00 น. - 3.00 น.  

ร่างกายกำลังทำการกำจัดสารพิษอย่างเต็มที่ เป็นช่วงที่ร่างกายควรได้หลับสนิท การนอนไม่หลับ เครียด ได้รับสารพิษ หรือรับประทานอาหารหวานจัดจะส่งผลเสียต่อตับ และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้

3.00 น. - 5.00 น. 

เป็นช่วงที่ปอดทำงานได้ดีที่สุด จึงเป็นช่วงที่ควรตื่นนอนมารับอากาศบริสุทธิ์

5.00 น. - 7.00 น.

ช่วงนี้ร่างกายจะหลั่งสารคอร์ติซอล เพื่อช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า และควรดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี

7.00 น. - 9.00 น. 

เป็นช่วงที่ร่างกายต้องการพลังงาน จึงควรรับประทานอาหารเช้า

9.00 น. - 11.00 น.  

เป็นช่วงที่ร่างกายตื่นตัว เหมาะแก่การทำงานและทำกิจกรรมต่างๆ

11.00 น. - 13.00 น.  

เป็นช่วงที่หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดและสารอาหารไปเลี้ยงร่ายกาย

13.00 น. - 15.00 น.  

เป็นช่วงที่ลำไส้เล็กทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร หากไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน

หรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอ จะรู้สึกหิวและทรมานเป็นพิเศษ

15.00 น. - 17.00 น.  

เป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายแข็งแรง เหมาะต่อการออกกำลังกาย

17.00 น. - 19.00 น. 

เป็นช่วงที่ไตกรองของเสียออกจากเลือดและรักษาสมดุลในร่างกาย จึงควรดื่มน้ำสะอาดที่ไม่เย็น และ ไม่ควรนอนหลับในช่วงนี้ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับตอนกลางคืน

19.00 น. - 21.00 น.  

เป็นช่วงที่ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายทำงานเต็มที่ อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้น

 

การนอนสำคัญอย่างไร

การนอนทำให้กล้ามเนื้อและอวัยวะทุกส่วนได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จะได้พร้อมสำหรับการทำงานในวันต่อไป

หากนอนน้อย  อาจส่งผลให้การทำงานผิดพลาดและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ยิ่งกว่านั้น  การนอนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวานโรคอ้วน โรคมะเร็ง

                มีงานวิจัยพบว่า  คนที่นอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง หรือมากกว่า10 ชั่วโมงต่อคืนติดต่อกันเป็นเวลานาน จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่ใช้เวลานอน 6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้  การนอนไม่พอยังมีผลต่อการทำงานของสมองและอารมณ์ เช่น  อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ความจำสั้นหรือไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมใดๆ ที่เรียกว่า ภาวะสมาธิสั้นหรืออาจทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้

ทำอย่างไรให้นอนอย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดตารางเวลาการนอนให้เหมาะสม จะช่วยให้ร่างกายเกิดสมดุล จากนั้นการตื่นและการอยากนอนจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ

ไม่ควรทำงานก่อนนอน เพราะจะทำให้ เครียดหรือกังวลจนนอนไม่หลับ ก่อนนอนควรอาบน้ำอุ่น ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ       หรือฟังเพลงสบายๆ เพื่อผ่อนคลาย ก่อนนอนควรนั่งหรือนอนทำสมาธิ เพื่อจิตใจจะได้ปลอดโปร่ง ทำให้นอนหลับสบายมากขึ้น ห้องนอนควรเงียบ มืดสนิท และมี

อุณหภูมิที่พอเหมาะ เลือกหมอนและเตียงให้เหมาะสมกับสรีระของร่างกายและรักษาความสะอาดของเครื่องนอนอย่างสม่ำเสมอก่อนนอน 2 - 3 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้หลับไม่สบาย และไม่ควรดื่มน้ำมาก เพราะจะทำให้ ต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยๆ

               ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน แต่หากต้องออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ควรทำก่อนนอนประมาณ 3 ชั่วโมง

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ กาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ก่อนเข้านอน  เพราะสารนิโคตินในบุหรี่จะส่งผลให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา ทำให้นอนไม่หลับ

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดฝันร้าย หรือละเมอ ทำให้หลับไม่สนิท

Recommended

เพลงที่ฟังแล้วการันตีว่าคุณจะผ่อนคลาย หลับสบายและฝันดี ได้แก่ เพลงประเภท Chill-out, New Age, Relaxing Music, Relaxing Meditation Healing Music

ศิลปินที่แนะนำ อาทิ John Tesh, Yanni, Steven Halpern, Mike Oldfield, Air, Brian Eno


เรื่อง Plutomania  ภาพ : Amy Treasure on Unsplash

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.