คนเราเจอหน้ากันครั้งแรก ไม่รู้จักกันมาก่อน ยากที่จะบอกว่าคนนี้น่าคบหา น่าคุยยาวๆ ด้วยหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำเมื่อต้องร่วมวงสนทนากับเพื่อนใหม่ คือ การสร้างมิตรภาพผ่านคำพูด
6 เคล็ดลับเปลี่ยนตัวเองเป็นคนคุยเก่ง
ไม่ว่าใครก็อยากเป็นคนคุยเก่ง เป็นคนคุยสนุกในวงสนทนาที่ไม่มีใครรู้จักกัน และอยากผูกมิตรสร้างเพื่อนใหม่ให้กลายเป็นเพื่อนกันตลอดไป ลองดู 6 เคล็ดลับต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณกลายเป็นคนที่ใครๆ ก็อยากคุยด้วย คุยต่อกันยาวๆ ไปเลย
ภาษากายสำคัญไม่แพ้คำพูด
ภาษากายที่ดูเปิดเผยและเป็นมิตรสำคัญพอๆ กับคำพูด เพราะคำพูดถือเป็นข้อความส่วนน้อยนิดที่ใช้ส่งถึงคนอื่น แต่ภาษากายจะทำให้ข้อความที่คุณส่งนั้นเป็นที่จดจำมากขึ้น บางครั้งคุยเรื่องสนุกแต่ภาษากายที่ดูเฉยชาอาจทำให้อีกฝ่ายอยากลุกจากวงสนทนาได้ คำแนะนำก็คือ รอยยิ้มที่จริงใจ สายตาที่จับจ้องไปยังคู่สนทนา ไม่กอดอก ไม่เม้มปาก ไม่หลบตาเหม่อมองไปทางอื่น ต้องแสดงออกอย่างจริงใจด้วย จะยิ้มช่วงไหน จะหัวเราะตอนไหน อย่าเสแสร้งจีบปากจีบคอเป็นอันขาด อีกฝ่ายเขาดูออกนะ
เปลี่ยนจุดด้อยเป็นจุดเด่น
ใครๆ ก็อยากเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ แต่โลกนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนต้องมีจุดด้อยและเรื่องที่ทำไม่ได้อยู่บ้าง และทุกคนรู้ข้อนี้ดี ดังนั้น เมื่อต้องเข้าสังคมใหม่ เจอเพื่อนใหม่ นอกจากเปิดปากทักทายแล้ว ต้องเปิดใจ พยายามอย่ากังวลกับการซ่อนข้อบกพร่องของตัวเอง เพราะความสมบูรณ์แบบจะทำให้อีกฝ่ายอึดอัด ไม่ว่าจะเล่าเรื่องอะไร ลองเล่าในแง่มุมที่เป็นจุดด้อยดูบ้าง จะทำให้คุณดูเป็นคนสบายๆ น่าคุยกว่าคนที่พูดแต่ข้อดีของตัวเอง เช่น หากคุณพูดล้อตัวเองเรื่องความอ้วน และกำลังอยู่ในช่วงลดน้ำหนักที่ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง อีกฝ่ายจะคิดว่าคุณเป็นคนสบายๆ ไม่ต้องกังวลว่าถ้าคุณกับคุณแล้วเผลอพูดเรื่องความอ้วนขึ้นมาแล้วคุณจะโกรธ สรุปก็คือ เป็นตัวของตัวเองที่ไม่ต้องสมบูรณ์ไปทุกเรื่องก็มีเสน่ห์ไม่น้อยนะ
เปลี่ยนประโยคบอกเล่าให้เป็นประโยคคำถาม
ไม่ว่าใครๆ ก็อยากเล่าเรื่องของตัวเอง แต่ถ้าทุกคนมัวแต่พูดเรื่องตัวเอง คุยกันไม่กี่นาทีก็คงจบแล้ว ดังนั้น ถ้าอยากคุยต่อกันยาวๆ อยากให้วงสนทนาสนุกขึ้นเรื่อยๆ ต้องเปลี่ยนประโยคบอกเล่าเป็นประโยคคำถาม อาจถามถึงประสบการณ์ต่างๆ ของอีกฝ่าย เพราะประสบการณ์ทั้งแง่บวกและลบที่คล้ายคลึงกันจะทำให้บทสนทนายาวขึ้นไปอีก โดยเน้นเป็นคำถามปลายเปิด ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ตอบได้เพียงแต่ ‘ใช่หรือไม่’ เท่านั้น และสิ่งสำคัญคือไม่ถามคำถามที่ตอบยาก ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง และไม่ถามคำถามที่แบ่งแยกฝักฝ่ายใด เช่น ศาสนา การเมือง แต่เราไม่ได้ให้คุณเป็นพิธีกรทำหน้าที่สัมภาษณ์นะ ต้องดูจังหวะเวลาด้วย
น้ำเสียงและการเปลี่ยนระดับเสียงบอกอะไรมากกว่าถ้อยคำ เลิกใช้เสียงระดับเดียวเนิบนาบตลอดการสนทนา และระวังเรื่องอารมณ์ขันและการเสียดสีด้วย เรื่องที่คุณตลกผู้อื่นอาจจะไม่ตลกด้วย และแนะนำให้เลียนแบบการพูดของฝ่ายตรงข้ามด้วย เลียนแบบในที่นี้หมายถึง หากอีกฝ่ายเป็นคนพูดเร็ว กระตือรือร้น เราก็แค่เปลี่ยนตัวเองให้พูดเร็วขึ้นตามคู่สนทนา แต่การพูดสำเนียงท้องถิ่นของอีกฝ่ายทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ใช่ หรือการพูดผิดตามอีกฝ่าย นั่นเรียกว่า ‘ล้อเลียน’
ขอคำแนะนำเมื่ออยากดูเป็นคนน่าสนใจ
ไม่ว่าใครก็อยากเป็นคนพิเศษ อยากเป็นคนสำคัญของใครสักคน ดังนั้น หากอยากให้อีกฝ่ายจดจำและเปลี่ยนบรรยากาศการพูดคุยให้สนุกและตื่นเต้นขึ้น คุณต้องขอคำแนะนำจากอีกฝ่าย
นอกจากเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันแล้ว การขอความช่วยเหลือเฉพาะทางจากอีกฝ่ายจะทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง เพราะไม่ว่าใครก็อยากมีคุณค่า ได้ทำอะไรบางอย่างที่สำคัญ และเขาจะมองว่าคุณเป็นคนแบบเดียวกับเขา ชอบอะไรเหมือนกัน สนใจอะไรเหมือนกันด้วย และคุณก็กลายเป็นคนพิเศษของเขาทันที แต่สิ่งสำคัญของเคล็ดลับข้อนี้คือ ห้ามขอเงิน สิ่งของ หรืออะไรก็ตามที่เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ และความรู้สึก (แบบมาขอความรักแบบนี้ ไม่ได้นะ!) เพราะมิตรภาพที่เกิดขึ้นในการสนทนานี้ควรเป็นมิตรภาพที่ไม่ควรมีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง
คล้อยตาม อย่าจับผิด
เป้าหมายที่สำคัญของการเป็นคนสนุกในวงสนทนา คือ ความต่อเนื่องในการพูดคุยไปเรื่อยๆ ไม่ใช่รายละเอียด ความชัดเจน หรือการจับผิดเรื่องราว ดังนั้น แม้จะขัดใจ ก็ต้องคล้อยตามไปก่อน อย่าทำให้การพูดคุยหยุดชะงัก หากอยากถามจริงๆ รอจังหวะที่เล่าเรื่องจบก่อนแล้วค่อยแทรกถาม แต่อย่าถามแบบจับผิดล่ะ
การรับฟังคือคำพูดที่ดีที่สุด
การรับฟังช่วยสร้างความน่าคบหาได้ ลองปล่อยให้คนอื่นได้พูดไปเรื่อยๆ และเรียนรู้ทุกอย่างที่ได้จากคำพูดของเขา แต่ต้องตั้งใจฟังและให้เขาสนใจกับพูดของเขาอย่างจริงจัง โดยไม่พูดแทรกและไม่พูดเออออไปเรื่อยเปื่อย แค่นี้ก็ชนะใจได้แล้ว
ข้อมูลประกอบจากหนังสือใช้เวลาแค่ 1 นาที มีคนชอบตลอดชีวิต