คูโดส จับมือ เซนซิ่งเน็ต นำเทคโนโลยีสุดล้ำจากงาน CES 2019 ส่งตรงถึงประเทศไทย พร้อมเดินหน้ายกระดับการใช้ชีวิตแบบ “สมาร์ท ลิฟวิ่ง” ผสมผสาน “ความยั่งยืน”
คูโดส ผู้นำธุรกิจอุปกรณ์ในห้องน้ำ ห้องครัว และดิจิตอลล็อคคุณภาพสูง ร่วมกับ Sensingnet บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ Sensor จากประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันจัดงานโชว์เทคโนโลยีสุดล้ำ “Super Sensing” ในงาน Bangkok Design Week 2019 ซึ่งมีทั้งรูปแบบการบรรยาย (Talk) และ Showcaseท่ามกลางผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีในอนาคตเป็นจำนวนมาก ซึ่งในงานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นก้าวที่สำคัญในการต่อยอดนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อรองรับเทรนด์การอยู่อาศัยที่มีความทันสมัย สะดวกสบาย และยั่งยืนในอนาคต เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สอดรับกับยุคดิจิตอลมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่คุ้นเคยกับคำว่า Internet of Things, AI หรือ Sensor แล้ว เนื่องจากในแต่ละวันเราล้วนต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้แทบจะตลอดเวลา โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา เครื่องตรวจจับต่างๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ก็เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีเหล่านี้ที่เห็นได้ชัดเจน และแน่นอนว่าในอนาคต IoT, AI, Sensor จะต้องเข้ามาเปลี่ยนชีวิตประจำวันของเราไปอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ท้าทายก็คือ การต่อยอดหรือการคิดค้นอะไรใหม่ๆ ที่จะตอบรับเทรนด์การใช้ชีวิตในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ซึ่งต้องอาศัยพลังและความคิดสร้างสรรค์จากหลายฝ่ายมาช่วยกันคิด จนได้ Solutions ที่ตอบโจทย์ออกมาใช้ได้จริง
คูโดสเริ่มนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Super Sensing” ที่พัฒนาโดยบริษัทเซนซิ่งเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ Sensor และ AI จากประเทศญี่ปุ่น มาจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2019 โดยถือเป็นการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากได้ถูกจัดแสดงในประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดในมหกรรมงานแสดงผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ (CES 2019) ที่ลาสเวกัสไปเรียบร้อยแล้ว
“ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นยุคที่มีการนำ ‘Sensing’ มาใช้กันอย่างแพร่หลาย” มร. ซาโตชิ นาคากาว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทเซนซิ่งเน็ตกล่าว “เทคโนโลยี Super Sensing เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก โดยมีการนำเซ็นเซอร์ที่ถูกพัฒนาให้ล้ำสมัยมาใช้อย่างสร้างสรรค์ เป็นตัวกลางระหว่างผู้ใช้งานและสิ่งรอบๆ ตัว ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ เซ็นเซอร์เหล่านี้จะมีหน้าที่แปลงสิ่งที่เรามองไม่เห็นให้ออกมาเป็นข้อมูลที่เรามองเห็น และส่งต่อข้อมูลไปเก็บในระบบที่เชื่อมต่อกับ Internetทำให้เราสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนาโซลูชั่นต่างๆ ได้ โดยการออกแบบอะไรก็ตาม เราควรจะวิเคราะห์จากข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ถือเป็นการออกแบบที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่เคยเข้าถึง ปลดล็อคข้อจำกัดเดิมๆ ในการออกแบบ การใช้ Sensor ที่ดีก็ถือว่าเป็นการเพิ่มประสาทสัมผัสให้กับมนุษย์ได้ เช่น เราไม่สามารถมองเห็น PM 2.5 ได้ แต่เซ็นเซอร์ก็ช่วยทำให้เรามองเห็น ทำให้เราสามารถวางแผนการใช้ชีวิตที่ดีมีคุณภาพได้ เป็นต้น”
สำหรับงานในครั้งนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบโดยใช้เทคโนโลยี Super Sensing มาจัดแสดงมากมาย อาทิ เก้าอี้ ‘Argus’ ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่สามารถวัดค่าความสุขและความรู้สึกของผู้นั่งได้แบบเรียลไทม์ โดยสามารถวัดระดับอัตราการหายใจ และระดับความเครียดได้ สามารถนำไปต่อยอดการจัดบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมในการนั่งหรือทำงาน เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดี นอกจากนี้ยังมีเซ็นเซอร์ที่สามารถแปลงพลังงานความร้อนมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้งานโดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ และเทคโนโลยีที่เป็นไฮไลท์ของงานเลยก็คือ “Regenerative Sensing Project” ที่ใช้เทคโนโลยี Advanced Sensor ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแบคทีเรียในดินเพื่อนำมาใช้งานได้จริง หลังจากที่เรานั้นทราบกันดีอยู่แล้วว่าแบคทีเรียในดินให้พลังงานไฟฟ้าได้ หากแต่ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ได้นั้นมีน้อยมากจนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ที่ผ่านมาพลังงานจากจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียจึงไม่ได้รับความสนใจมากนัก
“ด้วยแนวคิด Super Sensing ทำให้เราสามารถออกแบบนวัตกรรมใหม่ได้ด้วยเทคโนโลยี Sensors ที่สร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ไม่เคยมีมาก่อนได้” คุณสันติ ศรีวิชาญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.ไอ.ที. จำกัด (แบรนด์คูโดส) กล่าว
“เทคโนโลยีเซนเซอร์ที่ทันสมัยเหล่านี้ จะสามารถช่วยปลดล็อคกรอบทางความคิดแบบเดิมๆ โดยในโชว์เคสครั้งนี้ เราได้จัดแสดงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแบคทีเรียในดิน จนสามารถเชื่อมต่อกับSensor เพื่อวัดค่าต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งตรงนี้จะมาเป็น Game Changer ที่น่าสนใจ สำหรับ Smart Farming และ Indoor & Landscape Design ในประเทศไทย”
โครงการ Regenerative Sensing Project – Harvesting the Earth’s Energy ถูกวิจัยและพัฒนาโดย Sensingnet ร่วมกับ Asahi Kasei Microdevices ในประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการวิจัยและทดลองเพื่อค้นหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบพลังงานหมุนเวียนที่มีแหล่งกำเนิดจากธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกับการพัฒนาทางด้าน Sensing Technologyที่ล้วนต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น เมื่อต้องมีการใช้งานอยู่บ่อยๆ ก็อาจจะทำให้พลังงานที่ใช้อยู่เริ่มหมดไป ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต การเริ่มมองหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ที่จะสามารถนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้เพื่อหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ล้ำสมัยเหล่านี้ให้ทำงานเชื่อมต่อกันได้ตลอดเวลาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะมองข้ามไปไม่ได้
บริษัท Sensingnet ได้เริ่มต้นทำการทดลองเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระแสไฟฟ้าที่ได้จากแบคทีเรียในดิน ด้วยการใช้ “Power Booster Chip Technology” (เทคโนโลยีการกระตุ้นเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตพลังงานที่สูงขึ้น) โดยก่อนกระตุ้น พลังงานอาจเริ่มต้นที่ 0.2 โวลต์เท่านั้น แต่ภายหลังจากได้รับการกระตุ้นแล้ว จะสามารถให้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 5.5 โวลต์หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างสรรค์และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เรามีแหล่งพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น สามารถนำมาใช้ได้อย่างต่อเนื่องร่วมกับ Sensing Technology และระบบสื่อสารต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงพัฒนาคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ในยุคดิจิตอลให้ดียิ่งขึ้น ปลอดภัย ทันสมัย และสะดวกสบาย
โครงการนี้ได้ถูกดำเนินการทดสอบหลายครั้ง ทั้งในประเทศญี่ปุ่น ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการติดตั้งตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ในพื้นที่เพาะปลูก และในพื้นที่อื่นๆ ที่มีแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่อุดมสมบูรณ์ และมีความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งผลสำเร็จของโครงการนี้ ทำให้ Power Booster Chip Technology กลายเป็นที่ต้องการสูงมากในการนำไปใช้ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างๆ และด้วยเทคโนโลยีอันน่าทึ่งนี้ ในอนาคตเราอาจจะสามารถใช้พลังงานชีวภาพที่ได้จากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ รอบตัวเรา ในการเปิดไฟได้ทั่วป่าจนสว่างไสว และไม่ใช่แค่ในชนบทที่ห่างไกลเท่านั้น ชีวิตในเมืองอย่างเราก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ในอนาคตอาจจะสามารถใช้ระบบสื่อสารแม้ในยามที่ไฟดับหรือในช่วงเวลาฉุกเฉินได้อีกด้วย
เห็นได้ว่าเทคโนโลยี Super Sensing จะเป็นกุญแจสำคัญ สำหรับนวัตกรรมใหม่ของแบรนด์ Kudos ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยดีไซน์และเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่ต้องถูกนำไปพัฒนาต่อในอนาคต เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ที่ใช้งานได้อย่างแท้จริง
โครงการ Regenerative Sensing ถูกจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2019 ตั้งแต่วันนี้ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งประเทศไทย (TCDC) บริเวณท่าเรือCAT Telecom