วิธีสลัดความ ขี้เกียจ ทำงาน เปลี่ยนเราเป็นคนใหม่ ที่ขยันขันแข็งกว่าเดิม
“ใครๆ ในโลกาล้วนมีความเกียจคร้านในตัว” เป็นคำพูดหนึ่งที่บ่งบอกได้ว่า ไม่ว่าใครๆ ก็อยากทำตัวตามสบาย อยากจะอยู่เฉยๆ แบบ ขี้เกียจ หรือทำอะไรเรื่อยเปื่อยตามที่เราต้องการกันทั้งนั้น แต่ถ้าขี้เกียจตัวเป็นขน จนทำให้งานเกิดปัญหาขึ้นมา นอกจากจะก่อปัญหาต่อตนเองจากหน้าที่การงานบกพร่องแล้ว ยังส่งผลเสียต่อองค์กรส่วนรวมของเราอีกด้วย
แม้จะเป็นคนที่ขยันที่สุดก็ยังมีวันอยากพักผ่อนกันบ้าง พักนิดหน่อยพอเป็นพิธีก็ช่วยคลายเหนื่อยคลายเครียดได้ แต่ถ้ามันเริ่มจะหยุดยาวๆ ไม่มีระเบียบวินัยจนไม่ใช่การพักผ่อน แต่เป็นขี้เกียจตัวเป็นขนแล้วล่ะก็ งานการอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งความขี้เกียจมีทั้งการทำงานจะหมดแรง อยากนอน อยากพักผ่อนอยู่เฉยๆ กับ อาการขาดแรงขับในการทำงาน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ขาดแรงบันดาลใจ
อย่างนั้นเรามีวิธีสลัดความขี้เกียจที่เกาะกุมตัวเราออกไปอย่างไรบ้าง ลองเอาวิธีของเราไปใช้ดูสิ อาจจะเป็นวิธีที่ได้ผลสำหรับคุณก็ได้
เลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง
ผัดวันประกันพรุ่ง เป็นหนึ่งในตัวอย่างของนิสัยขี้เกียจ เพราะ เป็นการแสดงออกถึงอาการ “ยังไม่อยากทำสิ่งนี้ในตอนนี้” ซึ่งหากผัดเวลาไปเรื่อยๆ จะทำให้มีงานการคั่งค้างได้ การเลิกผัดวันประกันพรุ่งจะช่วยลดปริมาณงานที่คั่งค้าง และ ยังช่วยให้งานใหม่ ๆ ที่กำลังตามมา จะเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้นด้วย
ออกกำลังกาย ยืดเส้น ยืดสาย
การออกกำลังกายเป็นการใช้งานร่างกายโดยไม่ต้องใช้สมองคิดอะไรละเอียดมากมาย และช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนต่างๆ ช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สมองทำงานดี แจ่มใส ลดอาการขี้เกียจจากการที่ร่างกายของเราไม่ตื่นตัวได้
หากเรารู้สึกเหนื่อยเนือยระหว่างวัน เราอาจลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายบ้าง หรือ สะบัดมือ ดัดนิ้ว ยืดแขนไปมา ก็ช่วยให้ร่างกายของเรารู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้นได้ค่ะ
นึกถึงผลเสียของความขี้เกียจ
ลองนึกว่า หากเราขี้เกียจแล้วโดนไล่ออกจากงานเพราะความขี้เกียจ หรือ อาจทำให้เกิดความเสียหายกับงานส่วนรวม จนทำให้งานล่าช้าทั้งระบบ หรือโดนเรียกไปตำหนิ ต่อว่า เพราะความขี้เกียจของเรา แถมยังลดโอกาสที่จะได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือเพิ่มโบนัสอีกด้วย
เมื่อเรารู้แล้วว่า “ความขี้เกียจ” นั้นมีข้อเสียมากมายขนาดไหน และมองเห็นว่า ผลจากความขี้เกียจนั้นช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เราจะได้มีกำลังฮึดสู้เพื่อขจัดความขี้เกียจออกไป ก่อนที่มันจะกลายเป็น “นิสัย” และ “ข้อเสีย” ที่แก้ไขยาก และติดตัวเราไปตลอด
จัดการงานให้เป็นระบบ
บางครั้ง ความรู้สึกขี้เกียจทำงานนั้น อาจเกิดมาจากการที่เราเห็นงานกองโตจนรู้สึกท้อใจ ยิ่งถ้ารู้ว่าต้องทำงานปริมาณมาก ด้วยเดดไลน์ที่เร่งด่วนเกินกว่าที่จะสามารถทำได้จริง ก็ยิ่งรู้สึกถอดใจ ไม่อยากทำ และกลายเป็นความขี้เกียจไปในที่สุด
เราสามารถแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ ด้วยการนั่งนิ่งๆ ตั้งสติ และค่อยๆ จัดระเบียบงานตรงหน้าให้เป็นระบบ ด้วยการแบ่งงานตามความเร่งด่วนของเนื้องาน เช่น ด่วน ด่วนมาก รอไปก่อนได้ เป็นต้น
เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองรู้สึก “พร้อม” ถึงค่อยเริ่มทำงาน เพราะ การรอคอยวันเวลาหรือโอกาสที่เหมาะสมที่สุดเพันเป็นหนึ่งในการผัดวันประกันพรุ่งนั่นเอง, เริ่มทำในสิ่งที่ง่ายก่อนและย่อยงานเป็นส่วนเล็กๆ เพื่อให้เห็นงานมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จะเป็นกำลังใจให้เราตั้งใจทำงานมากขึ้นอีกด้วย
ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและลงมือทำอย่างต่อเนื่อง
เราควรตั้งเป้าหมายกับตัวเองให้ชัดเจนไปเลย ว่าจะทำอะไร อย่างไร เสร็จสิ้นภายในเมื่อไหร่ ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายอย่างเลื่อนลอย เช่น ถ้าเราอยากลดน้ำหนัก เราควรตั้งเป้าหมายว่า จะลดน้ำหนักกี่กิโลกรัม ให้สำเร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น ลดน้ำหนักให้ได้ 10 กิโลกรัม ให้สำเร็จภายในเวลา 2 เดือน เป็นต้น
โดยเราสามารถตั้งเป้าหมายให้ละเอียดเป็นขั้นตอนลงไปอีกได้ เช่น ใน 1 สัปดาห์แรกจะลดน้ำหนักให้ได้ 1-2 กิโลกรัม โดยการคาบคุมอาหาร และออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ สลับกับเวทเทรนนิ่ง 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อไม่ให้เป็นการกดดันตัวเองจนเกินไป และที่สำคัญคือ อย่าลืมให้รางวัลตัวเองเมื่อทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ
กำหนดเส้นตายแบบเผื่อเวลา
หากเรารู้ตัวว่า เราเป้นคนที่ชอบทำงานไฟแลบในคืนสุดท้ายของกำหนดส่ง และไม่สามารถแก้นิสัยนี้ได้สักที ลองกำหนดเส้นตายให้ตัวเองแบบเผื่อเวลา เช่น กำหนดเส้นตายล่วงหน้า 1-2 วัน เพื่อให้เราเร่งทำให้เสร็จก่อนกำหนดเวลาที่แท้จริง และเหลือเวลาสักหน่อย สำหรับตรวจสอบผลงานว่าเรียบร้อย ตรงตามที่ต้องการหรือไม่
แต่ที่สำคัญคือ เราต้องยึดถือเส้นตายนั้นจริงๆ ไม่ใช่ว่า พอเรารู้ว่าเรากำหนดเส้นตายแบบเผื่อเวลาเอาไว้แล้ว เราก็ทำตัวเรื่อยเปื่อย อู้จนถึงเส้นตายที่แท้จริงอยู่ดี ถ้าเป็นแบบนี้ ก็เท่ากับเราไม่ได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเลย และไม่ได้พยายามที่จะสลัดความขี้เกียจออกจากตัวเราได้เลย
กำหนดเส้นตายที่เหมาะสมกับนิสัยการทำงานของเรา แล้วยึดเส้นตายนั้นเอาไว้ให้มั่น
ลองทำตามวิธีเหล่านี้เป็นประจำ อย่างต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตร ถ้าสามารถทำจนเป็นกิจวัตรได้ รับรองว่าคุณจะกลายเป้นคนใหม่ที่ทำงานดี มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ