13 สิ่งผิดพลาด ที่คนส่วนใหญ่ชอบทำตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน
รู้ไหมคะว่า หลายสิ่งที่เราทำกันจนเป็นกิจวัตรตั้งแต่ตื่นเช้า กินข้าว ไปทำงาน กลับบ้าน กระทั่งเข้านอน เป็น สิ่งผิดพลาด อย่างแรง เพราะอาจทำให้ทำให้คุณภาพชีวิตและความสุขของคุณลดลงได้ มีอะไรบ้าง มาเช็คกันเลยค่ะ
6.30 น. กดปุ่มเลื่อนนาฬิกาปลุก
ยอมรับมาซะดี ๆ ว่าคุณมักจะบอกกับตัวเองทุกเช้าว่า “ขอนอนต่ออีกนิดน่า” ก่อนจะกดปุ่ม Snooze ในโทรศัพท์มือถือ เรื่องนี้ Timothy Morgenthaler ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนแนะนำว่า การเลื่อนนาฬิกาปลุกไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไหร่ เพราะถ้าเกิดคุณกลับไปหลับลึกอีก หลังจากที่เลื่อนปลุกไปแล้ว คุณจะเข้าสู่วงจรการนอนหลับที่ไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อคุณตื่นขึ้นมา ก็จะรู้สึกมึนงงแทนที่จะสดชื่น
7.00 น. ตื่นปุ๊บ เช็คอีเมลปั๊บ
เวลาตื่นนอน เป็นเวลาที่คุณควรจะทำสมองให้โล่ง โปร่ง ทำอารมณ์ให้เบิกบาน อย่าพยายามให้มีเรื่องปวดหัวกวนใจทันทีที่ตื่น ทางที่ดีควรเว้นระยะไว้สักหนึ่งชั่วโมงก่อน ไม่เช่นนั้น คุณจะรู้สึกว่าวันทั้งวันมีแต่ปัญหาและเรื่องวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้น เพราะคุณเริ่มต้นวันด้วยการครุ่นคิด กังวลเรื่องเหล่านี้ไปเสียแล้ว
7.45 น. ไปทำงานไม่ได้ ถ้าไม่ดื่มกาแฟ
โดยธรรมชาติร่างกายของคนเราจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาในปริมาณที่สูง เพื่อควบคุมพลังงานในช่วง 8.00 -9.00 น. ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจบีบตัวแรงขึ้น เลือดไปเลี้ยงสมอง และพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาระหว่างวัน ดังนั้นเวลาที่ดีที่สุดในการดื่มกาแฟคือหลังจาก 9.30 น. หากคุณดื่มคาเฟอีนก่อนหน้านั้น ร่างกายจะเริ่มปรับลดการผลิตคอร์ติซอลในช่วงเช้าลง
8.00 น. บอกลามื้อเช้า
“อาหารเช้าสำคัญที่สุด” หลายคนรู้ความจริงข้อนี้ แต่ก็ไม่ยอมทำตาม รู้ไหมคะว่า ถ้าไม่กินข้าวเช้า คุณก็มีสิทธิอ้วนได้ง่าย เพราะระดับน้ำตาลในเลือดจะลดต่ำลง จนไปเพิ่มแนวโน้มการกินอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูงในมื้อเที่ยงมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ในตอนเช้าเลือดของเรามีความเข้มข้นสูง ถ้ากินข้าวช้าเกินไป เส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง หรือหัวใจก็อาจจะมีสิทธิอุดตันได้
9.45 น. เข้าทำงานตะวันสายโด่ง
แม้คุณจะคิดว่า “เข้าสายแล้วไง ก็ฉันกลับดึก ทำ 8 ชั่วโมงเท่ากันน่า” แต่หัวหน้าคุณคงไม่คิดอย่างนั้นแน่ ๆ มีการศึกษาพบว่า เจ้านายมักมองว่าพนักงานที่มาสายนั้น เอาใจใส่ในการทำงานน้อยกว่า และมีประสิทธิภาพต่ำกว่าพนักงานที่มาเช้า
9.50 น. เลือกทำงานง่ายที่สุดก่อน
จริงอยู่ว่า การเริ่มต้นวันด้วยการทำงานง่ายนั้นจะช่วยให้งานยิบ ๆ ย่อย ๆ เสร็จไว และอาจช่วยให้มีกำลังใจจะทำงานยากต่อ แต่มีงานวิจัยชี้ว่า ความตั้งใจในการทำงานและการควบคุมตัวเองของคนเราจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ หากคุณไม่รีบทำงานยากให้เสร็จ ไม่แน่ว่าตกบ่าย คุณอาจหมดพลังไปเสียก่อน แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้เริ่มทำงานชิ้นนี้สักที
11.00 น. เคลียร์อีเมลจนเกลี้ยง
บางคนอาจรู้สึกว่า การเคลียร์กล่องอีเมลจนเกลี้ยง เป็นการจัดระเบียบชีวิตอย่างหนึ่ง แต่คุณต้องอย่าลืมว่า การนั่งไล่อ่านอีเมลให้ครบทุกฉบับ ทั้งเรื่องสำคัญมาก สำคัญน้อย ไปจนถึงไม่สำคัญเลยนั้น ต้องใช้พลังและเวลามหาศาล พยายามเลือกอ่านเฉพาะอีเมลเร่งด่วนหรือสำคัญจริง ๆ แล้วเก็บพลังและเวลาของคุณไปใช้ในงานอื่น ๆ ดีกว่า
12.30 น. กินมื้อเที่ยงที่โต๊ะทำงาน
พฤติกรรมอย่างนี้มีแต่เสียกับเสีย ข้อแรก คือคุณจะอ้วนเผละ ข้อที่สอง งานวิจัยชี้ว่า การกินอาหารกับเพื่อนร่วมงานจะช่วยเสริมสร้างมิตรกับเพื่อนร่วมงานได้ และยังช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นด้วย ส่วนข้อที่สาม การหยุดพักเบรคจะช่วยฟื้นฟูพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
13.30 น. ฟังเพลงไป ทำงานไป สบายอารมณ์
ดูเผิน ๆ พฤติกรรมแบบนี้เหมือนจะดี เพราะช่วยให้ผ่อนคลายจากงานได้ แต่มีการศึกษาพบว่า การฟังเพลงขณะทำงานที่ต้องใช้สมอง (คิด อ่าน และเขียน) จะยิ่งทำให้เราทำงานลำบากมากขึ้น เพราะเสียงเพลงนั้นจะไปรบกวนสมาธิ เว้นแต่ว่า คุณทำงานที่ต้องอยู่นิ่ง ๆ หรือมีความจำเจ เช่น งานในสายการผลิต การขับรถเป็นเวลานาน ๆ ถ้าเช่นนี้ การฟังเพลงจะช่วยให้คุณแอคทีฟมากยิ่งขึ้นได้
17.30 น. เมินการออกกำลังกาย
หลายคนรู้สึกว่า ทำงานเหนื่อยหนักทั้งวันแล้ว จะให้ออกกำลังกายอีกก็ลำบากเกินไป …เปลี่ยนความคิดใหม่เถอะค่ะ การออกกำลังกายมีแต่ข้อดีทั้งนั้น อย่างเช่นช่วยลดอาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ แถมน้ำหนักยังลดลง มีหุ่นสวย ๆ สุขภาพดีไว้เป็นที่ระลึก
20.30 น. กินอาหารเย็นตอนดึก
โดยหลักแล้ว เราควรงดกินข้าว รวมทั้งของจุกจิกใด ๆ ประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ไม่อย่างนั้น คุณอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน กรดไหลย้อน และนอนไม่หลับได้
21.00 น. เมื่อหัวถึงหมอน…ก็ต้องนอนเล่นมือถือ
หลายคนเลือกที่จะนั่งไล่อ่าน Feed ในเฟซบุ๊ก หรือตามไลค์รูปดาราในไอจี แทนที่จะหากิจกรรมผ่อนคลายทำก่อนเข้านอน อย่างการอ่านนิยาย สวดมนต์ หรือนั่งสมาธิให้ใจสงบ พฤติกรรมอย่างนี้ นอกจากทำให้เผลอไผลนอนดึกกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังมีงานวิจัยชี้ว่า การแอบเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของคนอื่น ๆ โดยที่เราไม่มีปฏิสัมพันธ์ใด ๆ กับใคร คือ ไม่ยอมโพสต์หรือส่งข้อความหาใครทั้งนั้น อาจทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดได้ (ซึ่งอาจเป็นเพราะเรากำลังอิจฉาวันหยุดอันแสนสุขเพื่อน ๆ อยู่ก็เป็นได้)…คุณนึกออกใช่ไหมว่า ถ้าเริ่มหงุดหงิดแล้ว คุณคงนอนไม่เป็นสุขแน่ ๆ
23.00 น. เช็คอีเมลครั้งสุดท้ายก่อนเข้านอน
ก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรให้มีเรื่องงานหรือเรื่องเครียด ๆ เข้ามาวนเวียนอยู่ในสมอง ไม่เช่นนั้น คุณอาจต้องทรมานกับอาการนอนไม่หลับเป็นแน่ ไม่เพียงเท่านั้น การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลใด ๆ ก็ตามในช่วงก่อนเข้านอน ล้วนส่งผลเสียต่อคุณภาพการนอนหลับของคุณ เนื่องจากแสงสีฟ้าที่ออกมาจากอุปกรณ์เหล่านี้จะไปรบกวนการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน ส่งผลทำให้นอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท
รู้อย่างนี้แล้ว ลองมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันใหม่ดูนะคะ รับรองว่า ถ้าทำแล้ว ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปแน่นอน
แปลและเรียบเรียบใหม่จากบทความ “13 things you’re doing wrong from the moment you wake up” เขียนโดย Shana Lebowitz และ Skye Gould