เพราะกลัวสูญเสีย เราก็ยิ่งเป็นทุกข์
ลองคิดดูว่าการ “เป็นเจ้าของ” เป็นอย่างไร
เงื่อนไขแรกคงเป็น “การที่ใจจำเรื่องนั้นได้มาก”
เงื่อนไขที่สองคือ “รู้สึกมีแรงต้านทานต่อการสูญเสียของสิ่งนั้น”
เมื่อจ้องมองไปที่ใจคงเข้าใจว่าการเป็นเจ้าของประกอบขึ้นมาจากสองเงื่อนไขนี้ ก่อนที่จะมีความรู้สึกต่อต้านหรือหวาดกลัวการสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง เพียงแค่เราไม่เก็บสิ่งนั้นไว้ตั้งแต่ต้นก็จะไม่มีการต่อต้านหรือหวาดกลัว เมื่อไม่รู้ว่าตัวมีก็ไม่คิดกังวลถึงการที่ต้องสูญเสียไป
แต่คนโดยทั่วไปแม้จะไม่ได้สำนึกถึงความเป็นเจ้าของ แต่มักจะจดจำว่า “นี่เป็นของของฉัน ฉันไม่อยากสูญเสียมัน” ข้อมูลนี้เป็นคลื่นรบกวนความคิดที่เป็นเหมือนการประมวลผลข้อมูลแบบอ่อนๆ ที่รบกวนจิตใจอยู่
ความโลภทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเก็บสะสมสิ่งของที่ไม่จำเป็น
แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน เราอาจเก็บหนังสือที่ไม่หยิบมาอ่านอีกเป็นครั้งที่สองไว้บนชั้นหนังสือ หรือสิ่งของอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นก็ไม่กำจัดไป นอกจากนั้นยังเพิ่มของที่ไม่จำเป็นขึ้นมาอีก
แรงกระตุ้นที่ว่าไม่อยากสูญเสียนี้มักสร้างภาระให้ใจ เช่น นำเสื้อผ้าที่ใส่แค่ปีละครั้งหรือของเล่นที่เคยเล่นเมื่อยังเด็กไปไว้หลังตู้เสื้อผ้า เสื้อผ้าจะใส่เมื่อไหร่ไม่รู้ ของเล่นก็อาจเอาออกมาดูรำลึกความหลังเมื่อไหร่ไม่รู้….
คำว่า เมื่อไหร่ไม่รู้ ที่ว่านั้นคืออาจทำก็ได้หรืออาจไม่ทำก็ได้ หัวใจยังจำได้รางๆ ถึงของที่เก็บไว้จนถึงตอนนี้ เพียงเพื่อจะนำออกมาใช้ชั่วคราวเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
แม้การรับรู้ผิวเผินจนดูเหมือนลืมไป แต่เวลาที่เห็นสิ่งนั้นก็จะจำได้ทันทีว่า “เอ๊ะ นี่มันของฉันนี่”
การจำได้แปลว่ามันได้ถูกจารึกแน่นอยู่ในฐานข้อมูลที่เก็บไว้และยังคงแอบคิดเรื่องนั้นต่อไปเรื่อยๆ จากนั้นเมื่อคิดถึงสิ่งนั้นขึ้นมาก็จะสับสนว่า ควรทิ้งดีไหมนะ แต่ก็ไม่ทิ้ง คิดว่าเอาทิ้งไปก็น่าเสียดาย หรืออาจจะได้ใช้เมื่อไหร่ไม่รู้ ผลก็คือเกิดความเครียดว่าไม่อยากสูญเสีย ห้ามสูญเสีย และกอดสิ่งนั้นไว้ตลอดไป
ความจริงคือ เรามีแรงกระตุ้นที่อยากกำจัดของเหล่านั้นให้หายไป แต่โดยพื้นฐานก็ไม่อยากสูญเสียสิ่งที่มี กลัวการสูญเสียสิ่งเหล่านั้น
การคิดแบบนี้เป็นผลให้กลายเป็นการเพิ่มภาระให้ตนเอง มีความหวาดกลัวและมีแรงต่อต้านต่อการสูญเสียของสิ่งนี้ ทำให้ใจของตนเองสับสนมากขึ้นด้วย
ข้อมูลจาก
หนังสือฝึกให้ไม่คิด สำนักพิมพ์อมรินทร์
บทความที่น่าสนใจ
10 ความยึดมั่น ที่ทุบทำลายความสุขของคนเรา
ลองถามตัวเองอีกครั้งว่าคุณสูญเสียจริงหรือ พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)