นอนไม่หลับ

ทำความรู้จัก “โรคนอนไม่หลับ” รีบหาทางรักษาก่อนสุขภาพเสีย

การนอนหลับอย่างเพียงพอนับเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ให้พร้อมเริ่มต้นวันใหม่อย่างสดใส แต่หลายคนอาจพบปัญหานอนไม่หลับในทุก ๆ คืน แม้จะง่วงแต่นอนไม่หลับ มีอาการนอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะกระทบต่อสุขภาพโดยรวมในระยะยาวและทำให้เสี่ยงมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักโรคนอนไม่หลับว่าเกิดจากอะไร มีลักษณะอาการอย่างไร คนกลุ่มไหนมีความเสี่ยงนอนไม่หลับบ้าง? พร้อมวิธีรักษาและป้องกันที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนอนหลับให้ดียิ่งขึ้น

โรคนอนไม่หลับคืออะไร มีอาการแบบไหนบ้าง?

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ อาการผิดปกติของการนอนที่แตกต่างจากคนทั่ว ๆ ไป โดยมีอาการนอนไม่หลับตลอดทั้งคืน หรือนอนหลับไม่สนิทจนตื่นบ่อย ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ส่งผลให้อ่อนเพลีย รวมถึงรู้สึกง่วงระหว่างวันอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว โรคดังกล่าวยังส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ทำให้มีอาการหงุดหงิดง่าย จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ดี และไม่สามารถจดจ่อกับอะไรเป็นเวลานาน

อาการนอนไม่หลับอาจกินเวลาแค่เพียงช่วงสั้น ๆ โดยสามารถหายได้เอง ไปจนถึงการนอนไม่หลับมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ต่อเนื่องหลายเดือน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งอาการนอนไม่หลับออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

  • หลับยาก (Initial Insomnia) : ใช้เวลานานกว่าจะนอนหลับ มักใช้เวลาเป็นชั่วโมงถึงจะหลับลง 
  • หลับไม่ทน (Maintenance Insomnia) : นอนแล้วตื่นกลางดึก และไม่สามารถนอนต่อได้ยาว อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคหอบหืด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ตื่นเร็วเกินไป (Terminal Insomnia) : เป็นอาการนอนไม่หลับที่มีภาวะตื่นก่อนเวลาและไม่สามารถนอนต่อได้อีก ทำให้ง่วงระหว่างวัน อ่อนเพลียง่าย

นอกจากนี้ ในหนึ่งคนอาจพบอาการนอนไม่หลับแบบผสมกันได้ คือ มีอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ต้องใช้เวลาในการข่มตานอน แต่ก็มีอาการตื่นบ่อยในช่วงกลางคืน นอนหลับไม่สนิทร่วมด้วยได้เช่นกัน

ใครเสี่ยงมีภาวะนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายตลอดคืน 

สาเหตุ นอนไม่หลับ

นอนไม่หลับ เป็นอาการที่สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่คนที่เสี่ยงจะมีภาวะนอนไม่หลับได้มากกว่าคนทั่วไป คือกลุ่มคนดังต่อไปนี้

  • ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากเกิดความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย ส่งผลให้นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มักนอนไม่หลับจากการมีโรคประจำตัวเรื้อรัง การมีกิจกรรมทางกายลดลง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนตื่นเร็วกว่าเวลา นอนหลับต่อไม่ได้ และนอนกลางวันบ่อย
  • คนที่มีอาการป่วยทางจิต เช่น ซึมเศร้า, ไบโพลาร์, ความวิตกกังวล รวมถึงคนที่มีความเครียดสะสมมักจะนอนไม่หลับ เนื่องจากสมองไม่หยุดคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ระหว่างนอนได้
  • มีอาการเจ็บป่วยทางกายหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคหัวใจ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยนอนหลับยากขึ้น
  • ผลข้างเคียงจากการทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้หอบหืด ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น
  • คนที่ได้รับคาเฟอีนและนิโคติน ทั้งสองชนิดเป็นสารที่กระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัวในตอนกลางคืนจนรบกวนการทำงานของร่างกายทำให้นอนไม่หลับได้
  • คนที่ทำงานเป็นกะ (shift workers)
  • คนที่มีนิสัยการนอนไม่เหมาะสม, นอนผิดเวลาเป็นประจำ, ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากช่วงก่อนเข้านอน
  • คนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมี time-zone แตกต่างกันเป็นประจำ

ภาวะนอนไม่หลับ ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร 

การนอนหลับให้เพียงพอนับเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการเพื่อซ่อมแซมตัวเองและฟื้นฟูการทำงานส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากมีภาวะนอนไม่หลับอยู่เป็นประจำอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต และเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยมากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง เป็นต้น ทั้งยังทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน และหากเกิดในเด็กยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตอีกด้วย

นอกจากนี้ อาการนอนไม่หลับยังมีผลต่อภาวะทางอารมณ์ ทำให้หงุดหงิดหรือโมโหง่าย มีอารมณ์แปรปรวน บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า ทำอะไรเอื่อยเฉื่อย ไม่กระฉับกระเฉง ซึ่งส่งผลต่อการทำงาน การเรียน ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวัน 

นอกจากนี้ในผู้ที่ต้องขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักร การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตได้

วิธีรักษาโรคนอนไม่หลับ ให้กลับมาเต็มอิ่มตลอดคืน

วิธีแก้นอนไม่หลับ

วิธีแก้นอนไม่หลับ สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือการใช้ยาในการรักษาเพื่อให้นอนหลับสนิทตลอดคืน จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูระบบและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับแนวทางที่เหมาะสมกับตนเอง โดยวิธีแก้อาการนอนไม่หลับสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • พยายามนอนให้เป็นเวลาอยู่เสมอ และควรจัดบรรยากาศให้เหมาะสมกับการนอน ปิดไฟให้ห้องมืดสนิท
  • ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไปก่อนนอน เพราะจะทำให้ตื่นกลางดึก และนอนไม่หลับได้
  • ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงกลางวัน และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักก่อนนอน 2 ชั่วโมง 
  • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างน้อย 6 ชั่วโมง 
  • งดรับประทานอาหารที่ย่อยยากก่อนนอน
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนนอน เช่น นั่งสมาธิ, ฟัง ASMR หรือฟังเพลงบรรเลง สามารถเลือกได้ตามความชอบ
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนนอน เนื่องจากแสงสีฟ้าสามารถรบกวนการหลั่งของเมลาโทนิน และรบกวนการนอนหลับได้
  • ทานยารักษาอาการนอนไม่หลับ เช่น ยาในกลุ่ม Benzodiazepine, Non- Benzodiazepine หรือ Melatonin เป็นต้น ทั้งนี้ การรับประทานยาชนิดดังกล่าวควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง

สรุป โรคนอนไม่หลับ ตัวการทำร่างกายพัง ไม่สดชื่น

อาการนอนไม่หลับเกิดได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วยทางสุขภาพร่างกายอาการทางจิตใจ พฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงการได้รับยาบางชนิด ทำให้นอนหลับไม่สนิท หลับยาก หรือตื่นเร็วเกินไป ระหว่างวันจึงมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดใส และความจำแย่ลง หากพบว่าอาการดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันควรรีบพบแพทย์ เพื่อหาทางรักษาโรคนอนไม่หลับให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและลักษณะอาการของผู้ป่วย

สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาแพทย์ แต่ไม่สะดวกเดินทางไปที่โรงพยาบาล สามารถใช้บริการ SkinX แอปพลิเคชันสำหรับปรึกษาแพทย์ออนไลน์จากสถานพยาบาลชั้นนำในประเทศ ที่จะช่วยให้คุณสามารถพบแพทย์ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและรอคิวนาน เพื่อให้การพบแพทย์เป็นเรื่องสะดวกไปอีกขั้น สามารถดาวน์โหลดบนมือถือได้เลยตอนนี้ทั้งระบบ IOS และ Android 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.