ด่าเขาคือจุดไฟเผาตัวเอง
พ่อแม่ดิฉันดูข่าวการประท้วงทางโทรทัศน์แล้วท่านทั้งสองมีอารมณ์ร่วมกับพิธีกรบนเวทีมาก บางครั้งทำให้เกิดการ ด่า แช่ง (เหมือนอนุโมทนาร่วมกับพิธีกร) หากเป็นเช่นนี้พ่อแม่จะมีเจ้ากรรมนายเวรเพิ่มไหมคะ และการด่า สาป แช่งผู้อื่น (แต่เจตนาอยากช่วยชาติ) จะเป็นบาปกรรมติดตัวไปหรือไม่
หากเป็นกรรมเวรและเกิดเจ้ากรรมนายเวรจริงจะอธิบายพ่อแม่อย่างไรให้เข้าใจ หรือมีหนังสือธรรมะเล่มไหนที่พูดถึงโทษของการด่าแช่ง จะได้ให้พ่อและแม่อ่าน ท่านจะได้เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะเกิดขึ้นค่ะ
Answer Key
คำถามนี้มีแง่มุมที่ควรทำความเข้าใจอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน
- เจ้ากรรมนายเวรคือใคร
- การแช่งจะทำให้เป็นบาปหรือไม่
- จะมีวิธีอย่างไรให้บุพการีเลิกพฤติกรรมเช่นนั้น
คำถามแรก เจ้ากรรมนายเวรคือใคร
เรื่องนี้ขอตอบด้วยเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์ก็แล้วกันในครั้งพุทธกาลนี่เอง มีภิกษุกลุ่มหนึ่งออกพรรษาแล้วต้องการจะเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงออกเดินทางจากวัดรอนแรมมาหลายวันหลายคืน มีอยู่วันหนึ่งภิกษุกลุ่มนั้นแวะพักที่ถ้ำแห่งหนึ่งในยามพลบค่ำ ครั้นเข้าไปพักในถ้ำแล้ว จู่ๆ กลางดึกคืนนั้นเอง หินใหญ่ก้อนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ ปากถ้ำก็เคลื่อนตัวเข้ามาปิดปากถ้ำโดยอัตโนมัติภิกษุกลุ่มนั้นตกใจเป็นอย่างยิ่ง พยายามรวมกำลังกันเขยื้อนหินอย่างไร หินใหญ่ก้อนนั้นก็นิ่ง ไม่ไหวติง
ชาวบ้านที่ตามมาส่งเห็นเหตุการณ์ ก็พากันเรียกร้องให้ประชาชนมาช่วยกันย้ายหินก้อนนั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถผลักหินนั้นให้เคลื่อนออกไปได้ คนในและคนนอกพยายามผลักหินใหญ่ให้พ้นปากถ้ำอยู่หลายวัน ในที่สุดก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอ่อนแรง ยอมแพ้ไปตามๆ กัน ภิกษุหลายรูปที่อยู่ข้างในต่างอดข้าว อดน้ำ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต นั่ง นอน รอความตายไปวันๆ แต่ในระหว่างที่ทุกคนสิ้นหวังแล้วนั่นเอง พอครบวันที่เจ็ด จู่ๆ หินใหญ่ก้อนนั้นก็เคลื่อนออกไปเองอย่างปาฏิหาริย์
ภิกษุทุกรูปเห็นเช่นนั้นต่างดีใจสุดชีวิต คลานออกจากถ้ำในสภาพสุดอิดโรย ชาวบ้านที่อยู่ภายนอกจึงช่วยกันจัดข้าวจัดน้ำมาถวาย ทำให้รอดตายอย่างเฉียดฉิว เหตุการณ์คราวนั้นเป็นที่โจษขานกันระเบ็งเซ็งแซ่ว่าเป็นไปได้อย่างไร
ความจริงไม่เพียงแต่ชาวบ้านเท่านั้นที่ตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น “อุบัติเหตุ” หรือว่ามี “มือที่มองไม่เห็น” คอยบัญชาการอยู่เบื้องหลัง พระภิกษุทุกรูปต่างก็มีคำถามติดค้างอยู่ในใจเช่นเดียวกัน
เมื่อฉันข้าวปลาอาหารมีกำลังแล้ว ภิกษุกลุ่มนั้นจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงพุทธสำนักเพื่อจะได้คลายข้อสงสัย หนึ่งในภิกษุกลุ่มนั้นกราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ พระพุทธองค์สดับแล้วทรงแย้มสรวลน้อยๆ ด้วยพระเมตตา เพราะทรงทราบเป็นอย่างดีว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีที่มาที่ไปที่สามารถอธิบายได้
สำหรับพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นบรมครูของชาวโลกแล้ว โลกนี้ไม่มีคำว่าปาฏิหาริย์ ทุกปรากฏการณ์ในโลกและชีวิตล้วนมีที่มาเสมอสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปาฏิหาริย์นั่นเป็นเพราะว่า เรายังมองไม่เห็นเหตุปัจจัยที่แฝงตัวอยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์เหล่านั้นเท่านั้นเอง หากเรามีทิพยจักษุเหมือนพระพุทธองค์ ทุกๆ ครั้งที่เกิดอะไรขึ้นมาในชีวิตเราจะไม่ตื่นตกใจ ทว่าเราจะมีแต่เพียงความ “เข้าใจ” ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอย่างนั้นเอง
ใดๆ ในโลกล้วนมีที่มาที่ไปของมันอย่างสมเหตุสมผลเสมอ
ทรงคลายข้อสงสัยของภิกษุเหล่านั้นว่า ในอดีตชาติพวกเธอเคยเป็นเด็กเลี้ยงวัวมาก่อน วันหนึ่งจูงวัวไปกินหญ้าที่ท้ายหมู่บ้านเกิดพบตัวเงินตัวทองกำลังวิ่งเข้าไปในรูที่จอมปลวกใหญ่ข้างทาง พวกเธอนึกสนุกจึงแกล้งตัวเงินตัวทองด้วยการช่วยกันเอาก้อนหิน ก้อนดินปิดปากรู คุยกันเล่นๆ ว่า ขากลับในตอนเย็นค่อยมาเปิดปากรูแต่แล้วพอพลบค่ำพวกเด็กๆ ทั้งเจ็ดคนกลับลืมเสียสนิทว่าเคยแกล้งตัวเงินตัวทองให้ติดอยู่ในจอมปลวก เจ้าตัวเงินตัวทองเคราะห์ร้ายตัวนั้นไม่ได้ถูกลืมเพียงวันเดียว ทว่าถูกลืมยาวนานถึงเจ็ดวันเลยทีเดียว
พอครบเจ็ดวัน เด็กๆ กลุ่มนั้นจูงวัวผ่านจอมปลวกอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เกิดนึกขึ้นมาได้ว่าเคยแกล้งขังตัวเงินตัวทองไว้ในนั้น จึงช่วยกันหยิบก้อนดินก้อนหินที่ปิดปากรูออก พอได้รับอิสรภาพเท่านั้นเอง ตัวเงินตัวทองสุดเคราะห์ร้ายก็คลานกระย่องกระแย่งออกมาจากรูในสภาพอิดโรยเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก หากช้ากว่านี้ไปเพียงวันเดียวมันก็คงตายอยู่ในจอมปลวกอย่างน่าสมเพช ด้วยเศษกรรมตรงนี้เอง เมื่อเวียนว่ายตายเกิดมาพอสมควรแล้ว อดีตเด็กเหล่านั้นได้มาเกิดเป็นภิกษุกลุ่มนี้ และถูกกฎแห่งกรรมที่มีตัวเงินตัวทองเป็น “เจ้ากรรมนายเวร” ร่วมสร้างเหตุปัจจัยให้ถูกขังลืมอยู่ในถ้ำยาวนานถึงเจ็ดวัน
ภิกษุกลุ่มนั้นฟังพุทธาธิบายแล้วต่างรู้สึกผิดและเสียใจโดยถ้วนหน้า พวกเธอรำพึงกันว่า ขึ้นว่าบาปกรรม แม้เพียงนิดหน่อยก็ยังมีผลพลอยได้ให้ชีวิตต้องมาตกระกำลำบากถึงเพียงนี้
จากเรื่องที่เล่ามาเป็นอันตอบได้ว่า เจ้ากรรมนายเวรก็คือ ใครก็ตามที่เราเคยทำให้เขาเดือดร้อนและเขาคงผูกอาฆาตพยาบาทเอาไว้ว่า จะหมายมั่นปั้นมือล้างแค้นให้ได้ ถ้าสบโอกาสเมื่อไรก็จะทำทันที พลังของ “จิตพยาบาท” นั่นเองที่ทำให้กลายเป็นกฎแห่งกรรม คอยตามเล่นงานกันไปหลายภพหลายชาติ
คำถามที่สอง การแช่งจะทำให้เป็นบาปเป็นกรรมหรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่กับเจตนาในการสาปแช่งนั้นว่าแรงหรือเข้มข้นหรือไม่
ถ้าแช่งแต่ปาก ทว่าไม่มีเจตนา ผลในทางรูปธรรมก็แทบไม่มี หรือมีก็น้อยมาก แต่ถ้าแช่งทั้งปาทั้งมีเจตนาให้เป็นอันตรายกับผู้ถูกแช่งจริงๆ ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ที่ถูกแช่งมี “ภูมิคุ้มกัน” ที่เป็นคุณธรรมความดีเพียงใด ถ้าเขามีคุณธรรมความดีพอตัวหรือมากกว่า คำสาปแช่งของคนอื่นจะมีผลต่อเขาน้อยมาก แต่ถ้าเขาเป็นคนเลวและถูกคนดีแช่ง ถ้าเป็นอย่างนี้คำสาปแช่งก็จะมีผลมากตามสมควรเพราะในคำสาปแช่งย่อมมีพลังจิตอยู่ในนั้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าการแช่งนั้นโดยมากมักเกิดจากอกุศลจิต คือจิตที่เป็นลบ จิตที่เจือด้วยโทสะ คือ ความโกรธ เกลียด ชิงชัง ดังนั้นก่อนที่คำสาปแช่งจะเล่นงานใคร มันได้เล่นงานคนที่สาปแช่งนั้นแหละเป็นเบื้องต้นแล้ว คนที่แช่งเขาจึงเหมือนคนที่หยิบคบเพลิงเดินทวนลม เปลวไฟ จากคบเพลิงนั้น แม้จะทำให้เกิดแสงสว่าง แต่ก็นำมาซึ่งความร้อนแก่ผู้ถือคบเพลิงอย่างน่าสงสาร
ด่าเขาจึงไม่ต่างอะไรกับการจุดไฟเผาตัวเอง ขณะที่เผาคนอื่นก็มีค่าเท่ากับเผาตัวเองไปพร้อมๆ กัน ทางที่ดีจึงควรเลิกพฤติกรรมเช่นนี้เสียจะดีกว่า
คำถามที่สาม หากอยากให้ท่านเลิกพฤติกรรมดังกล่าว
ก็ลองนำเรื่องราวจากคำตอบนี้ไปให้ท่านทั้งสองอ่าน เมื่อท่านอ่านแล้วก็คงจะตระหนักรู้ด้วยตัวเองว่าจะทำอย่างไรต่อไปแต่ก็หวังใจว่า คงไม่พลอยด่าผู้เขียนไปด้วยอีกคน
ธรรมะจากพระอาจารย์พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี : พระอาจารย์ผู้ไขปัญหา
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่แฟนเพจ Secret Magazine (Thailand)
บทความน่าสนใจ
ถึงเวลา… ก็ต้อง “ปล่อย” เรื่องจริงของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้ปล่อยวางความทุกข์