ครองรัก ครองธรรม : 3 วิชารักในพุทธศาสนา โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรักที่บริสุทธิ์ ความรัก ที่บริสุทธิ์ในที่นี้คือการให้ พระพุทธเจ้าทรงให้ในสิ่งที่ดีที่สุดแก่มนุษย์ เป็นการให้เพียงฝ่ายเดียว ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แม้กระทั่งคำขอบคุณหรือความรักตอบ

พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ ชี้แนะคำสอนว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้มนุษย์ทุกคนไม่ใช่ทรัพย์สมบัติหรือแก้วแหวนเงินทองใดๆ แต่ ท่านทรงให้ในสิ่งที่มนุษย์พึงได้รับเมื่อเกิดมาชาติหนึ่ง นั่นคือการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด ท่านปรารถนาให้เราพ้นทุกข์เข้าสู่นิพพาน ซึ่งจะทำให้มนุษย์เกิดปัญญา ตื่น เบิกบาน มีอิสระปล่อยวาง ปลอดโปร่ง โล่ง เบาสบาย ไม่เวียนวน ไม่มีทุกข์และได้สัมผัสถึงความสงบร่มเย็น

ทุกคนอาจไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความรักอันบริสุทธิ์ สามารถรักทุกสรรพสิ่งได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ฉะนั้นจึงต้องอาศัยหลักธรรมอื่นๆ มาช่วยกำกับ วิทยานิพนธ์ “การศึกษาความรักในพระพุทธศาสนา”รวบรวมหลักธรรมไว้ 3 หลักธรรม ดังนี้

1. เบญจศีลหรือศีล 5

ใช้สำหรับความรักขั้นที่ 1 คือ รักตัวกลัวตาย เพราะหากมีความรักขั้นนี้มาก อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น เช่น ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมยของผู้อื่น ล่วงละเมิดของที่ผู้อื่นหวงแหน เป็นต้น จึงควรนำใช้ศีล 5 มากำกับไม่ให้รักตัวเองมากเกินไปจนเบียดเบียนชีวิตของผู้อื่น และศีล 5 ยังเป็นหลักประพฤติปฏิบัติที่นำทางมนุษย์ไปสู่ความเจริญอีกด้วย

2. ทิศ 6

เหมาะสำหรับความรักขั้นที่ 2 และ 3 คือ รักใคร่ปรารถนาและรักเมตตาอารีเนื่องจากทิศ6 เป็นหลักธรรมที่ใช้กำกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ ให้เป็นไปอย่างราบรื่น ประกอบด้วยทิศเบื้องหน้าคือบิดา มารดา ควรทิศเบื้องขวาคือครูอาจารย์ ทิศเบื้องหลังคือ บุตรและภรรยา ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย ทิศเบื้องล่างคือ คนรับใช้และคนงาน ทิศเบื้องบน คือพระสงฆ์ สมณพราหมณ์

หลักธรรมทิศ 6 ช่วยให้ทราบว่าควรปฏิบัติต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไร หรือแสดงความรักรูปแบบใดจึงจะเหมาะสม เช่น บิดามารดา ควรเลี้ยงดูบุตรให้อยู่ในทำนองครองธรรม และบุตรก็ควรตอบแทนบุญคุณบิดามารดาเมื่อเติบโตขึ้น หรือสามีควรยกย่องภรรยาให้สมฐานะ ไม่นอกใจและไม่ดูหมิ่น ขณะที่ภรรยาก็ควรกระทำเช่นเดียวกัน เป็นต้น

3. พรหมวิหาร 4

ใช้สำหรับความรักขั้นสูงสุด คือรักที่มีแต่ให้ เป็นความรักที่ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการแบ่งแยก พรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย เมตตา คือความรักปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีความสุข และควรพัฒนา “เมตตา” ให้กลายเป็น เมตตาอัปปมัญญา คือเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ แผ่ไปทั่วสรรพสัตว์ กรุณา ช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข และ อุเบกขา การวางใจให้เป็นกลาง พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมเบื้องต้นที่ทำให้ปุถุชนทั่วไปพัฒนาความรักจากขั้นพื้นฐานไปสู่ความรักอันบริสุทธิ์ได้

อ้างอิง

วิทยานิพนธ์ “การศึกษาความรักในพระพุทธศาสนา” ของ นางสาวณัฐมา ขันติธรรมกุลมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2553


 

บทความน่าสนใจ
Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.