โลกนี้มีแต่ คนบ้า บ้าบอกันไปหมด แล้วใครคือคนที่ไม่บ้า ในมุมมองของท่านพุทธทาสภิกขุ
โลก ดาวเคราะห์สีน้ำเงินมีรูปทรงเหมือนผลส้มดวงนี้ ทำไมท่านพุทธทาสภิกขุจึงกล่าวว่า มีแต่ คนบ้า โดยปกติแล้ว เราแยกแยะคนธรรมดากับ คนบ้า ออกจากกัน แต่ท่านกลับเหมารวมว่าทุกคนบนโลกล้วนแต่เป็น คนบ้า แล้วใครกันหนาที่ไม่เป็น คนบ้า ในทรรศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ
ท่านพุทธทาสภิกขุได้เทศนาเรื่อง “ในโลกมีแต่คนบ้า” ขณะนั้นท่านดำรงสมณศักดิ์เป็น พระราชชัยกวี เทศน์เรื่องนี้ที่สวนอุศม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับสตรีอาวุโส เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2511
จึงขอยกเนื้อหาบางช่วงในเรื่องนี้มาเรียบเรียงและเพื่อแสดงให้เห็นถึงทรรศนะเรื่อง คนบ้า กับ คนไม่บ้า ในมุมมองของท่านว่าเป็นอย่างไร
ท่านพุทธทาสภิกขุยกนิทานเซนเรื่อง พระก่วงเคย มาอธิบายประกอบดังนี้
น้ำคือดวงจิต ตะกอนคือกิเลส
มีพระที่มีความรู้และชื่อเสียง ได้รับการเคารพนับถืออยู่รูปหนึ่ง ชื่อ “พระก่วงเคย” ท่านเดินทางไกล จนกระทั่งมาถึงที่แห่งหนึ่ง ท่านเกิดหิวน้ำ จึงขอน้ำจากเด็กชายคนหนึ่งที่กำลังตักน้ำจากสะพาน น้ำใส่ถัง เด็กชายจึงพูดขึ้นว่า “ไม่เป็นไร แต่กระผมขอถามพระคุณเจ้าว่า ในน้ำนั้นมีธุลี กี่มากน้อยเพียงใด” พระก่วงเคยหัวเราะขึ้นพร้อมกับตอบว่า “ไม่มีเลย ไม่มีเลย ไม่มีธุลีละอองเลย” เด็กชายก็หัวเราะขึ้นบ้างแล้ววิ่งหนีท่านไปโดยยังไม่ทันให้กินน้ำ และตะโกนว่า “ท่านอย่าทำน้ำให้สกปรก”
ในน้ำมีตะกอน หรือไม่มีตะกอน มันหมายถึงอะไร ? เด็กชายกล่าวแบบนี้ต้องมีความหมาย ส่วนพระกล่าวแบบนี้ก็น่าจะมีความหมายเช่นกัน แต่เปรียบเทียบนิทานเซนที่ท่านพุทธทาสภิกขุเทศน์นี้ เป็นการอุปมาน้ำที่เด็กชายตัก เป็นดวงจิต ตะกอนในน้ำ อาจหมายถึง กิเลส ทำไมเด็กชายจึงวิ่งหนีไม่ชอบให้พระก่วงเคยดื่ม คงเพราะกลัวว่าน่าจะสกปรก เราก็ตีความกันไปต่าง ๆ นานาสำหรับนิทานเซนเรื่องนี้
คนบ้าในทรรศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ
จิตที่มีตะกอน ที่จะปรุงเป็นความรู้สึกว่า ตัวกู-ของกู ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “egoistic conception” ทีนี้ลองมาพิจารณาดูให้ละเอียดกันว่า ตะกอนหรือกิเลสนี้ มันปรุงจิตให้เกิดตัวกู หรือในภาษาธรรมะเขาเรียกว่า “อุปาทาน” ได้อย่างไร
เมื่อจิตโง่ มันไม่รู้ มันก็อยากไปตามความโง่ อยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ ไปตามความโง่ ในตัวความอยากนั้น มีความรู้สึกเป็นตัวกู กูอยาก กูจะเอา กูจะได้ กูจะอย่างนั้นอย่างนี้ ที่รู้สึกว่า เป็นตัวกู นี้ เขาเรียกว่า “อุปาทาน” เกิดอุปาทานก็คือเกิดความรู้สึกว่า ตัวกู เกิดตัวกู อย่างนี้เมื่อไร มันก็มีคนเกิดขึ้นเมื่อนั้นและที่นั่นนั่นแหละ คือ คนบ้า
เวลาที่ใจคอปกติ ไม่มีอุปาทาน อย่างนี้ ไม่มีอุปาทานว่า ตัวกู อย่างนี้ “คน” ไม่มี คนไม่ได้เกิด เพราะฉะนั้น ไม่มีใครบ้า อย่าไปโทษร่างกาย หรือจิตที่ไม่มีอุปาทาน ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ถูก ต่อเมื่อเวลาใด ขณะใดเกิดอุปาทานเป็นตัวกู-ของกู ขึ้นมาในจิต เมื่อนั้นแหละ คนเกิดขึ้นมาทันที แล้วคนนั่นแหละคือคนบ้า ถ้ายังไม่มีอุปาทานว่าตัวกู มันมีแต่เปลือกร่างกาย หรือเปลือกของจิตล้วน ๆ ไม่มีความหมายอะไร มันเป็นร่างกายที่กลวงไม่มีอะไร ไม่มีความเป็นคน ต่อเมื่อเกิดอุปาทานว่า กู มันจึงมีความเป็นคน แล้วก็เป็นคนบ้า ที่นั้นแหละ เดี๋ยวนั้น และสิ่งที่เรียกว่า โลกก็เกิดขึ้นมาทันที คนบ้าแหละมันเห็นโลก เป็นโลก โลกมันเกิดขึ้นมาทันที ฉะนั้นในโลกจึงมีแต่คนบ้า
คนไม่บ้าก็ไม่มีโลก ไม่มีโลกก็ไม่มีคนบ้า ที่ไหนมีความรู้สึกว่า โลก ที่นั้นก็มีคนบ้า คือคนที่รู้สึกนั่นเอง
โลกที่ว่าทำให้คนเป็นบ้านั้นเป็นอย่างไร
โลก ในที่นี้ก็ได้แก่ เบญจขันธ์ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันเป็นประจำว่า “ปัญจุปาทานักขันธาทุกขา” ในกรณีนี้ ในสูตรนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่า โลก คือเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน ท่านตรัสเรียกว่า โลก และมีอยู่ในตัวเรา ใคร ๆ ก็พอจะเห็นได้ว่า เบญจขันธ์นั้นมันคือร่างกายคน จิตใจของคนอยู่แล้ว แล้วในขณะใดเบญจขันธ์มีอุปาทาน คือความรู้สึกว่าตัวกู เมื่อนั้นจึงจะเป็นโลก หรือเป็นทุกข์ขึ้นมาในขณะนั้น ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เมื่อใดเบญจขันธ์ประกอบด้วยอุปาทาน เมื่อนั้นมีโลก แล้วในโลกนั้นเต็มไปด้วยคนบ้า ไม่มีคนดี แม้แต่สักคนเดียว
คำว่า “โลก” หรือคำว่า “ขันธ์” หรือคำว่า “ทุกข์” ความทุกข์ นี่มันก็เป็นคำเดียวกัน จิตมีตัวกูขึ้นเมื่อเมื่อไร โลกก็มีขึ้นมาเมื่อนั้น ทุกข์ก็มีขึ้นมาเมื่อนั้น เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ก็มีขึ้นมาเมื่อนั้น แล้วก็มีคนบ้า คือจิตที่เป็นชนิดนั้น จิตที่มีอาการอย่างนั้น แล้วมันก็บ้าไปตามชื่อของกิเลสนั้น ๆ ตามกรรม หรือการกระทำนั้น ๆ แม้แต่กิเลสนั้น ๆ ตามกรรมเหมือนกัน คือเป็นมโนกรรม มันก็บ้าแล้ว มีตัวกูของกู อะไรอยู่แล้ว
ทีนี้ ถ้าพูดออกมาอีก หรือ กระทำทางกาย ทางอะไรมาอีก มันก็ บ้าออกมา ทางวาจา ทางใจ มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส ว่าอย่างไร มันก็บ้าอย่างนั้น ยึดถือเรื่องได้-เรื่องเสีย เรื่องดี-เรื่องชั่ว เรื่องบุญ-บาป เรื่องสุข-เรื่องทุกข์ เรื่องมี-เรื่องจน เรื่องผัว-เรื่องเมีย เรื่องแม่-เรื่องลูก อะไรก็ตาม นับไม่ไหว สิ่งที่เป็นคู่ ๆ เหล่านี้ ยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้ เมื่อไร ก็บ้าไปตามกิเลสชื่อนั้น ๆ บ้าได้บ้าเสีย บ้าดีบ้าชั่ว บ้าบุญบ้าบาป บ้าสุขบ้าทุกข์ บ้ามีบ้าจน บ้าเรื่องผัวเรื่องเมีย บ้าเรื่องแม่เรื่องลูก บ้าทุกๆ เรื่อง ที่คนมีอยู่เป็นประจำวัน แต่ถ้าไม่มีความยึดมั่นแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่ตั้งของความบ้า และจิตนั้นก็มิได้บ้า
คนไม่บ้าในทรรศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ
ถ้าจิตนั้นมิได้มีอุปาทานยึดมั่นในสิ่งที่เป็นคู่ ๆ เหล่านั้น จิตนั้นก็ไม่บ้า ไม่ใช่คนบ้า สิ่งเหล่านั้นก็มีอยู่ตามปกติ แล้วคนที่ไม่บ้า คือจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานนั้น ก็เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ได้ จัดหรือกระทำไปได้ เกี่ยวข้องกันได้กับการได้การเสีย การดีการชั่ว การบุญการบาป การสุขการทุกข์ เกี่ยวข้องได้ด้วยสติปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ อย่างนี้ไม่ใช่บ้า ไม่ใช่คนบ้า
ที่มา: ในโลกมีแต่คนบ้า ไม่บ้าเมื่ออวิชชาไม่เกิด พุทธทาสภิกขุ
บทความน่าสนใจ
ท่านพุทธทาสภิกขุสอนเรื่องครอบครัวในแง่มุมที่คิดไม่ถึงสำหรับ คนเกลียดวัด
ท่านพุทธทาสภิกขุระงับ โรคหัวใจวาย และน้ำท่วมปอดด้วยธรรมโอสถของพระพุทธเจ้า
ความสุขที่แท้จริงตามหลัก ท่านพุทธทาส