พระราชประวัติ พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของชนชาวสยาม
พระปิยมหาราช หรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ประสูติแต่พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ซึ่งคำว่า “จุฬาลงกรณ์” แปลว่า เครื่องประดับพระเกศา (ผม) หมายถึง “พระเกี้ยว” ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา
พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
การศึกษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงศึกษาภาษาเขมรจากหลวงราชาภิรมย์ (พระยาปริยัติธรรมธาดา) และวิชายิงปืนไฟจากพระยาอภัยเพลิงศร (ศรี) วิชากีฬา เช่น มวยปล้ำ กระบี่ กระบอง จากหลวงมลโยธานุโยค (รุ่ง) วิชาอัศวกรรม จากหม่อมเจ้าสิงหนาทในกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ วิชาคหกรรม จากสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระบำราบปรปักษ์ และวิชารัฏฐาภิบาล (การปกครอง) จากพระราชบิดา
วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2404 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ และเมื่อ พ.ศ. 2409 พระองค์ผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ภายหลังจากการผนวช พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า
ขึ้นครองราชสมบัติ
พระองค์ทรงขึ้นครองราชสมบัติหลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ตอนนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ด้วยยังทรงพระเยาว์นัก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกระทั่งพระองค์มีพระชนมายุได้ 20 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้นพระองค์ผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416 เป็นเวลา 15 วัน หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีเลิกทาสและไพร่ในประเทศ การป้องกันการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้นับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้พัฒนาประเทศ ได้แก่ ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ระบบเขตการปกครองรูปแบบใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ และการสร้างรถไฟสายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง อยุธยา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2433
นอกจากนี้ได้มีงานพระราชนิพนธ์ที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น เงาะป่า ไกลบ้าน นิทราชาคริต พระราชพิธีสิบสองเดือน ฯลฯ การก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร การรถไฟ ส่วนการคมนาคม ให้ขุดคลองหลายแห่ง เช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลองสำโรง คลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองเปรมประชากร และ คลองทวีวัฒนา ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองส่งน้ำประปาจากเชียงรากสู่สามเสน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯ)
พระราชกรณียกิจด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ โดยให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์ เกิดระบบทหารอาชีพ พระองค์ยังทรงเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากออกกฎหมายให้ลูกทาสอายุครบ 20 ปีเป็นอิสระ จนกระทั่งออกพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ทำให้ทาสทุกคนเป็นอิสระ
สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ (ไต) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองคฺ์ที่มีต่อประเทศชาติ
ที่มา :
ประวัติบุคคลสำคัญ พระนิพนธ์โดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ภาพ : นิตยสาร แพรว ฉบับที่ 748
บทความน่าสนใจ
ธรรมะของรัชกาลที่ 5 : กิจ 10 ประการที่ทำแล้วไม่เสียใจในภายหลัง
ครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปุจฉาธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เรื่องการเกิด-ดับ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 – พระราชาผู้เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพด้าน ดนตรี