พระเทพวิทยาคม

5 เกร็ดความรู้ที่ควรทราบ ก่อนถึงพิธีพระราชทานเพลิงสรีรสังขารพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)

5 เกร็ดความรู้ที่ควรทราบ ก่อนถึงพิธีพระราชทานเพลิงสรีรสังขาร พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ)

ซีเคร็ตติดตามข่าวการจัดเตรียมพิธีพระราชทานเพลิงสรีรสังขาร พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธมาโดยตลอด และเห็นว่ามีเกร็ดความรู้น่าสนใจที่ควรทราบ ก่อนถึงพิธีพระราชทานเพลิงสรีรสังขารของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ถึง 5 เรื่องด้วยกันดังนี้

 

ภาพดอกคูณบุญ จาก www.thaipost.net

 

1 โปรยเหรียญ โปรยทานด้วย “ดอกคูณบุญ”

โดยปกติพิธีศพของคนไทยจะมีพิธีโปรยเหรียญ โปรยทานอยู่แล้ว ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา เพื่อเป็นการอุทิศผลทานให้แก่ผู้ล่วงลับ แต่ในวาระพิธีพระราชทานเพลิงสรีรสังขารหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ กลุ่มคณะนางพยาบาลจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ หรือทีมงานประสานสุข ร่วมกันจัดทำเหรียญโปรยทานเป็นรูปดอกคูณตั้งชื่อว่า “ดอกคูณบุญ” เพื่อเป็นการระลึกถึงความเมตตาของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) ในการช่วยเหลือสังคม

ดอกคูณบุญประดิษฐ์ขึ้นเป็นสี่สี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิตที่หลวงพ่อคูณสอนว่ามีเกิด แก่ เจ็บ และตาย โดยใช้การไล่ระดับสีเหลืองจากอ่อน หมายถึงดอกคูณที่เริ่มบาน ไปสีเข้มและสีเข้มจัด แล้วเป็นสีเหลืองจางซึ่งหมายถึงใกล้จะร่วงโรย เพื่อสื่อถึงการร่วงโรยตามกาลเวลาของสังขารที่ไม่มีใครหนีพ้น

 

ภาพจาก www.kku.ac.th

2 หีบบรรจุสรีรสังขาร

หีบบรรจุสรีรสังขารของหลวงพ่อคุณ ปริสุทฺโธ เป็นหีบลายรดน้ำลวดลายไทยอีสาน มติชนรายงานข่าวว่า หีบบรรจุสรีระนี้ทำจากไม้โล่งเล่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้จำพวกสนหอม นำเข้ามาจากประเทศลาว

ตกแต่งหีบด้วยชีวประวัติของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธตั้งแต่วัยแรกเกิด เข้าสู่วัยหนุ่มที่ไปร่ำเรียนวิชาเพลงโคราช แล้วไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพนักร้องเพลงโคราช ต้องกลับมาช่วยครอบครัวทำนา แล้วหันเหชีวิตเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์บวชเป็นพระตลอดชีวิต และจบด้วยเหตุการณ์ทำพินัยกรรมมอบร่างเป็นครูใหญ่ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ส่วนท้ายของหีบจะฉลุลายเป็นอักษรย่อว่า “วทค” หมายถึง “พระเทพวิทยาคม” ส่วนฝาหีบเป็นรูปดวงอาทิตย์ที่รายล้อมด้วยดงตาล สื่อความหมายถึง “หลวงพ่อคูณคือแสงสว่าง” และมีรูปหลวงพ่อคูณในท่านั่งมือคีบมวนยาเส้นไว้ โดยมีเหล่าเทวดา-นางฟ้าพนมมือไหว้หลวงพ่ออยู่รายรอบ

 

ภาพจาก https://fa.kku.ac.th

3 ตั้งสรีรสังขารบนเมรุลอยนกหัสดีลิงค์

เมรุลอยนกหัสดีลิงค์  สร้างขึ้นตามประเพณีโบราณที่จัดขึ้นเฉพาะการฌาปณกิจศพเจ้านายชั้นสูง หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งประเพณีนี้สืบทอดมาจากตำนาน “นกหัสดีลิงค์” หรือ นกสักกะไดลิงค์

ในตำนานเล่าว่านกตัวนี้เป็นนกยักษ์ที่มีหัวเป็นช้าง มีพละกำลังมหาศาล อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ครั้งหนึ่งขณะที่นครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร จัดพระราชพิธีพระศพของพระราชา ต้องอัญเชิญพระศพไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง

นกหัสดีลิงค์ก็บินผ่านมาก็เข้าใจว่าพระศพคืออาหารจึงโฉบพระศพไป พระมหาเทวีประกาศหาผู้มีฝีมือไปชิงพระศพคืนมา นางสีดา (คนละคนกับในรามเกียรติ์) จึงรับอาสาไปนำพระศพกลับมา โดยใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์จนถึงแก่ความตายตกลงมาพร้อมกับพระศพ

พระมหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างหลวงสร้างหอแก้ว (บุษบก) สำหรับตั้งพระศพบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน หลังจากนั้นจึงได้ถือเอาประเพณีทำเมรุลอยเป็นรูปนกหัสดีลิงค์เฉพาะงานงานพระศพของเจ้านายชั้นสูง โดยมีความเชื่อว่า นกหัสดีลิงค์สามารถนำดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สวรรค์ได้

 

ไม้เต็งหรือต้นจิกในภาษาอีสาน รูปจาก https://medthai.com

4 เผาสรีรสังขารด้วยไม้จิก

ไม้จิกที่ใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงสรีระหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ไม่ใช่ไม้ที่มาจากต้นจิก หรือต้นมุลินท์ที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 6 หลังจากตรัสรู้แล้ว

“ไม้จิก” คำนี้เป็นภาษาอีสานใช้เรียกไม้ชนิดหนึ่งที่ภาคกลางเรียกว่า “ไม้เต็ง” เป็นพืชในตระกูลไม้กระโดน มีเนื้ออ่อน นิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงเพราะทำให้ไฟแรง หากใช้ในพิธีฌาปนกิจศพ กระดูกของศพจะไม่ดำ

 

พระธาตุหนองคาย ภาพจาก https://thailandtourismdirectory.go.th

5 จุดลอยอังคารของหลวงพ่อคูณ

พินัยกรรมของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธระบุว่า อัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปลอยที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม  ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะนำอัฐิหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธไปประกอบพิธีลอยอังคารที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย โดยเชิญอัฐิหลวงพ่อคูณลงเรือแล้ว นรข. (หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง) จะล่องเรือจากสถานีเรือหนองคายไปยังสะพานมิตรภาพไทยลาว เพื่อให้ประชาชนที่รอกราบไหว้อยู่ที่ริมแม่น้ำโขงได้กราบไหว้ แล้วกลับเรือล่องลงมายังพระธาตุกลางน้ำ หรือ พระธาตุหล้าหนอง เพื่อประกอบพิธีลอยอังคาร

พระธาตุกลางน้ำ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “พระธาตุหล้าหนอง” หรือเรียกกันจนติดปากว่า “พระธาตุหนองคาย” มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจดังนี้ ตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงที่มาของพระธาตุหล้าหนองว่า พระอรหันต์ 5 รูป ได้แก่ พระมหารัตนเถระ, พระจุลรัตนเถระ, พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ, พระจุลสุวรรณปราสาทเถระ และพระสังฆวิชัยเถระ ทั้งหมดเป็นศิษย์พระอรหันต์ 3 รูป ได้แก่ พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต พระสังฆรักขิต เป็นผู้สร้างพระธาตุองค์นี้ขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนฝ่าพระบาทเบื้องขวา 9 องค์ ในประชุมพงศาวดาร ภาค 70 บันทึกว่า น้ำโขงกัดเซาะตลิ่งพังเข้าไปจนถึงองค์พระธาตุหล้าหนอง และพระธาตุได้พังลงสู่แม่น้ำโขง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เวลาใกล้ค่ำ ร.ศ.66 จ.ศ.1209 พ.ศ. 2390

 

ที่มา :

www.thaipost.net

www.khaosod.co.th

www.youtube.com

https://fa.kku.ac.th

www.kku.ac.th

www.kku.ac.th/news

https://medthai.com

www.matichon.co.th

www.baanmaha.com

https://th.wikipedia.org

https://thailandtourismdirectory.go.th

 


บทความน่าสนใจ

หีบบรรจุสรีรสังขารลายรดน้ำทรงคุณค่า บอกเล่าชีวประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

พลังแห่งศรัทธา ศิษยานุศิษย์ร่วมสักการะและเคลื่อนสรีระหลวงพ่อคูณอย่างเหนียวแน่น

คณะแพทยศาสตร์ มข. ประกอบพิธีบรรจุสรีระก่อน เคลื่อนสรีรสังขารหลวงพ่อคูณ ไปยังศูนย์ประชุมฯ

สะท้อนคติไตรภูมิแบบอีสานผ่านเมรุลอยในงาน พระราชทานเพลิงสรีระสังขาร หลวงพ่อคูณ

พิธีพระราชทานเพลิง สังขารหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.