วิธีกำจัดกิเลส ออกจากใจ บทความธรรมะสอนให้รู้เท่าทันกิเลส โดย พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
กิเลสเกิดขึ้นที่ใจ วิธีกำจัดกิเลส ให้ออกไปจากใจได้นั้น คือการฝึกให้สติและสมาธิเข้มแข็ง หากกิเลสหมดไปจากใจ เส้นทางแห่งอริยะและมรรคผลก็ไม่ง่ายเกินความเพียรพยายาม
สมัยก่อนคนที่รู้สึกตัว (สติสัมปชัญญะ) มีอยู่มาก มาเดี๋ยวนี้ผู้ที่รู้สึกตัวมีบ้าง แต่ยังน้อยกว่าเมื่อก่อน ผู้ที่เจริญปัญญาเป็น ต้องสามารถแยกรูป-นามได้ หลวงตามหาบัวท่านเคยกล่าวว่า
“ผู้ใดบอกว่าตัวเองเจริญปัญญาแต่ไม่สามารถแยกขันธ์ 5 ได้ ผู้นั้นอย่ามาพูดกับเราว่าเจริญปัญญาเป็น ”
เราต้องเห็นว่าจิตกับกายเป็นคนละส่วนกัน ร่างกายเป็นสิ่งถูกรู้ ส่วนจิตเป็นผู้รู้ เรารู้ว่าร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน นี้คือร่างกายถูกจิตรู้ อันนี้เป็นการเจริญกายานุปัสสนาด้วย บางคนเห็นความรู้สึก (เวทนา) เป็นของถูกรู้ อันนี้เป็นการเจริญเวทนานุปัสสนา บางคนเห็นกุศลและอกุศลเป็นของถูกรู้ อันนี้เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนา บางคนเห็นจิตเคลื่อนไปตามอายตนะหรือเห็นอริยสัจ อันนี้เป็นการเจริญที่ยากและละเอียดเรียกว่า ธรรมานุปัสสนา
หากเราเจริญในกายานุปัสสนา ซึ่งเป็นก้าวแรกของสติปัฏฐานบ่อยครั้ง ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดได้ สิ่งที่จะกำจัดกิเลสให้ออกจากใจไปได้ต้องอาศัยสัมมา 2 ประการคือ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า สติ และ สมาธิ
สติคือการรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างภายในใจ ส่วนสมาธิคือการตั้งมั่นของจิต หากคนเรามีสองสิ่งนี้จะทำให้เราสามารถรู้กาย-ใจตามความเป็นจริง ได้จิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง เป็นจิตที่มีสัมมาสมาธิ เมื่อจิตอยู่กับเนื้อกับตัว จิตจะเห็นตามความเป็นจริง เรียกว่าเกิดสัมมาทิฏฐิ สุดท้ายก็เกิดปัญญา เมื่อจิตเป็นสัมมาทิฏฐิก็จะรู้แจ้งในโลกุตรธรรม แล้วจะรู้จักปล่อยวางในสิ่งที่ไม่เป็นจริง เมื่อปฏิบัติแล้วรู้ทันบ่อย ๆ จิตก็จะถอยตัวออกมาจากโลก เป็นจิตของพระอนาคามี
สิ่งที่จะทำให้เราล้างกิเลสแล้วเจริญปัญญาได้คือการพัฒนาเครื่องมือตัวที่หนึ่งคือ สติ สตินี้ไม่ใช่สติธรรมดาที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไป ว่าต้องประคองสติเพื่อให้ขับรถแล้วไม่เกิดอุบัติเหตุ เดินแล้วไม่เหยียบอุจจาระสุนัข แต่เป็นสติปัฏฐาน คือสติที่รู้การเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของกายและจิตใจ เบื้องต้นเราต้องฝึก วิธีที่ง่ายคือ เราต้องหาที่อยู่ให้จิต คือเราจะปฏิบัติกรรมฐานอะไรก็ได้ เช่น การบริกรรมพุท-โธ แล้วคอยรู้เท่าทันจิตของเรา เมื่อเราเจริญกายานุปัสสนาคือจิตต้องเป็นผู้รู้กาย เมื่อเจริญเวทนานุปัสสนา จิตตามรู้ความรู้สึก (เวทนา) เมื่อเจริญจิตตานุปัสสนา จิตตามรู้สิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล เมื่อเจริญธรรมานุปัสสนา จิตตามรู้ว่าอะไรคือโลกียะอะไรคือโลกกุตระ เราต้องฝึกจิตให้เป็นผู้รู้ เช่น ถ้าเราปฏิบัติพอง-ยุบ ถ้าฝึกจิตไม่ดี จิตก็จะไหลไปอยู่ที่ท้อง หรือเวลาเดินจงกรมจิตก็จะไปอยู่ที่เท้า แต่ตามจริงแล้ว เราต้องรู้ทันจิต เช่น หากนั่งสมาธิแล้วหายใจเข้า-ออก จิตไปอยู่ที่จมูก เราก็ต้องตามไปอยู่กับจิตให้รู้ว่าจิตอยู่ที่จมูก หรือขณะทำสมาธิแล้วจิตคิดไปโน่นไปนี่ ก็ต้องตามไปดูรู้ว่าจิตคิดอะไรอยู่ ถ้าปล่อยให้ทำสมาธิเพื่อจิตสงบ อันนี้ไม่ถูกต้อง ต้องเป็นการทำสมาธิเพื่อรู้ จึงต้องตามรู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำสมาธิ เช่น ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ
เราทำกรรมฐานเพื่อจิต ไม่ใช่เพื่อความสงบ ไม่ว่ากุศล อกุศล หรือมรรคผลล้วนเกิดขึ้นได้เพราะจิต ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะท้องที่เราไปสังเกตว่ายุบหรือพอง ดังที่หลวงปู่มั่นกล่าวว่า
“ได้จิตคือได้ธรรม เสียจิตคือเสียธรรม”
เมื่อเราทำกรรมฐานอย่างหนึ่งตามที่เราถนัด ฝึกรู้ทันจิตบ่อย ๆ เมื่อจิตเคลื่อนไปในอายตนะได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เราก็จะทันรู้จิตนั้นได้ไม่ยาก สติเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเองไม่ได้ถ้าไม่มีเหตุ ซึ่งสติจะเกิดต่อเมื่อจดจำสภาวะที่สติเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรเจริญสติบ่อย ๆ เพื่อจดจำสภาวะที่เกิดสติให้ได้
ขอยกเหตุการณ์หนึ่ง หลวงพ่อกำลังเดินอยู่ริมถนนเห็นเพื่อนอยู่ฝั่งตรงข้าม เห็นเพื่อนก็ดีใจ ตอนนั้นสติขาด เพราะดีใจที่ได้เจอเพื่อน แต่พอเดินไปหาเพื่อน สติกลับมาอยู่กับเท้าที่เคลื่อนไหว อย่างนี้เรียกว่าจิตเป็นผู้รู้กาย รู้แบบนี้เพราะฝึกเจริญสติบ่อยครั้ง เมื่อเป็นแบบนี้เราจะสามารถตามอารมณ์ทัน เช่น เกิดอารมณ์โกรธขึ้นก็รู้ทันว่าโกรธ เมื่อฝึกเจริญสติมากเข้าจิตจะกลายเป็นกุศลจิต เท่านั้นไม่พอเมื่อจิตมีสติก็จะเกิดปัญญา กลายเป็นกุศลจิตที่มีกำลังแข็งแกร่งเพราะมีปัญญา
วิธีฝึกเจริญสติคือหัดรู้ทันสภาวะธรรมต่างๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราก็จะรู้ทัน เช่น ตอนนี้นั่งแกว่งเท้าจิตก็รู้ว่าเท้าแกว่ง เป็นการสังเกตที่ร่างกาย หากทำได้เช่นนี้จิตหลงไปก็จะมีสติรู้ว่าจิตหลง จิตเคลื่อนไหวก็จะรู้ว่าจิตเคลื่อนไหว อย่างนี้เรียกว่าจิตมีสติ จิตที่เคลื่อนไหวไปในกิเลสทั้งสาม โลภ โกรธ และหลง เป็นอกุศลจิต แต่เมื่อจิตรู้ตามทันอารมณ์ จิตเกิดปัญญากลายเป็นกุศลจิต เมื่อจิตมีสติแล้วสิ่งที่ตามมาคือ สมาธิ จิตที่เคลื่อนไปในอารมณ์ทั้ง 3 เพราะมีนิวรณ์ (เครื่องกั้น) เมื่อจิตมีสติ นิวรณ์ดับ จิตก็ไม่เป็นอกุศลจิต
สมาธิเป็นสิ่งตรงข้ามกับความฟุ้งซ่าน เมื่อจิตคิดฟุ้งซ่านก็จะแกว่งเข้าหากาม และกิเลสตัวอื่น ๆ สมาธิที่ดีคือสมาธิที่เกิดขึ้นเอง จิตที่เป็นกุศลจะกลายเป็นจิตที่นุ่มนวลแต่ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด แล้วยังทำให้หนทางแห่งพระนิพพานอยู่ไม่ไกลเราอีกด้วย
สมัยที่หลวงพ่อยังเด็กก็เรียนรู้การทำสมาธิจากพระอาจารย์หลายรูป ท่านสอนให้บริกรรมอะไรหลวงพ่อก็บริกรรมตาม จนกระทั่งหลุดคำบริกรรม ไม่ยึดติดในคำบริกรรมอีกต่อไป แต่จะเห็นแสงสว่าง (โอภาส) พอเราตามมองแสงสว่างนั้นก็เกิดภาพนิมิตเห็นเป็นภูตผี เปรต อสูรกาย เทวดา และนางฟ้า แต่เมื่อไม่มองเพ่งแสงสว่างนั้นก็ไม่สนใจกับนิมิตอีกเลย
หลวงปู่ดุลย์เคยสอนว่าให้เราดูจิตดูใจจะเห็นและรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากจิต ถ้าละเอียดขึ้นก็จะเป็นการดูอาการของจิตที่เกิดขึ้นจากการที่เคลื่อนไปในอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่น ข่าวบ้านข่าวเมือง ความเครียดนี้คงทำให้เกิดความสงบขึ้นได้ยาก การทำกรรมฐานอาจเป็นเรื่องยาก แต่กรรมฐานที่เหมาะคือการดูจิต (จิตตานุปัสนา) การดูกาย (กายานุปัสสนา) เหมาะสำหรับคนที่มีฌานและอินทรีย์ที่แข็งแกร่งแล้ว พวกเราอินทรีย์ยังอ่อน การพิจารณากายจึงเป็นเรื่องยาก สังเกตจิต รู้ว่าจิตฟุ้งซ่านก็รู้ทันว่าจิตคิดฟุ้งซ่าน จิตหลงก็รู้ทันว่าจิตหลง รู้ว่าจิตเคลื่อนไปตามผัสสะหรืออาตยนะต่าง ๆ ก็รู้ทันว่าจิตเคลื่อนไปในตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ใจ ดังในวงจรปฏิจจสมุปบาท ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา (ความรู้สึก) ถ้าจิตเกิดสติรู้ทันตั้งแต่เคลื่อนไปตามผัสสะ เวทนาก็ไม่เกิด เมื่อเวทนาไม่ได้ก็ไม่มีการเกิดอีกต่อไปของตัณหา (ความอยาก)
พระอานนท์เคยทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ปฏิจจสมุปบาทที่พระองค์ทรงว่าลึกซึ้งนั้น สำหรับหม่อมฉันแล้วกลับเป็นเรื่องที่ตื้น” ตามจริงแล้วพระอานนท์ขณะนั้นเป็นเพียงพระโสดาบัน ยังไม่ได้บรรลุอรหัตตผล พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอนว่า “ถ้าไม่รู้เห็นในปฏิจจสมุปบาทยังทำให้เวียนว่ายตายเกิดต่อไป” สมมติว่าจิตเคลื่อนไปที่ตา เพราะเรามองเห็น สติตามไปทัน ปฏิจจสมุปบาทขาดทันที ทำไมจิตจึงเคลื่อนไปที่ดวงตา เพราะรูปที่จิตเห็นผ่านดวงตานั้นคือตัณหา (ความอยาก) ได้เห็นรูปสวยๆ งามๆ เกิดความพึงพอใจ ตัณหาก็เกิดขึ้นที่จิตแล้วเพราะดวงตาเห็น
เมื่อเราฝึกฝนเจริญสติจนกระทั่งรู้ทันที่ใจและกายได้ ไม่ว่าจิตจะเคลื่อนไปที่ไหน เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สติจะทันรู้ทุกช่องทางที่จิตเคลื่อนไป เมื่อเป็นเช่นนี้กิเลสก็กระเจิด เพราะมีสติรู้ทันทำให้กิเลสเกิดได้ยาก
ถึงสถานการณ์ทางโลกจะไม่สงบ แต่เราสามารถสงบได้ด้วยจิตที่ไม่หวั่นไหว ดังคำที่ว่า “จิตที่ฝึกมาดีแล้วย่อมนำสุขมาให้”
ที่มา : พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช บรรยายธรรม อบรมภาวนาเป็นธรรมทาน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562
บทความน่าสนใจ
ยุติ วงจรปฏิจจสมุปบาท เพื่อตัดภพให้สิ้นชาติ โดยพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
ตัดภพ สิ้นชาติ เพราะเข้าใจ ปฏิจจสมุปบาท
วิธีรับมือลูกน้องเจ้าปัญหาด้วยธรรมะของพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ