พระภิกษุหากินอย่างไร คำตอบที่น่าสนใจจาก พระสารีบุตร
ครั้ง พระสารีบุตร อัครสาวกของพระพุทธเจ้า กำลังบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ แล้วแวะฉันภัตตาหารจากบาตรยังเชิงผาแห่งหนึ่ง นางปริพาชิกา (นักบวชหญิงนอกศาสนา) ชื่อว่า “สุจิมุขี” จำพระสารีบุตรได้ว่าท่านได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้มีปัญญามาก
นางจึงเข้าไปหาพระเถระแล้วถามว่า “ท่านก้มหน้าฉันหรือพระคุณเจ้า” พระสารีบุตรตอบว่า “้เราไม่ได้ก้มฉัน น้องหญิง”
“เช่นนั้นท่านเงยหน้าฉันหรือ”
“เรามิได้เงยหน้าฉัน”
“หรือท่านมองทิศใหญ่ฉันเช่นนั้นหรือ”
“เรามิได้มองทิศใหญ่ฉัน”
“ท่านมองทิศน้อยฉันหรือพระคุณเจ้า”
“เรามิได้มองทิศน้อยฉันหรอกน้องหญิง”
นางปริพาชิกามึนงงในคำตอบของพระสารีบุตรแล้วกล่าวขึ้นว่า “พระคุณเจ้า ไม่ก้มหน้าฉัน ไม่เงยหน้าฉัน ไม่มองทิศใหญ่และทิศเล็กฉัน แล้วพระคุณเจ้าฉันอย่างไรเจ้าคะ ดิฉันเห็นมานักต่อนักแล้วว่านักบวชทั้งหลายชอบฉัน (หากิน) กับเดรัจฉานวิชา บางพวกพยากรณ์พื้นที่ ดิฉันเรียกว่า ก้มหน้าฉัน บางพวกดูดวงดาว (พยากรณ์ดวงชะตาด้วยดวงดาว) ดิฉันเรียกว่า เงยหน้าฉัน บางพวกชอบเป็นตัวแทนและสื่อสาร (กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ) ดิฉันเรียกว่า ดูทิศใหญ่ฉัน บางพวกชอบพยากรณ์จากอวัยวะ (ตรงกับศาสตร์นรลักษณ์) ดิฉันเรียกว่า ดูทิศน้อยฉัน “
พระสารีบุตรจึงตอบเรื่องการฉัน (หากิน) ของพุทธบุตรว่า “พุทธบุตรของพระสมณโคดม มิได้เลี้ยงชีพด้วยเดรัจฉานวิชา จึงไม่ก้มหน้า ไม่เงยหน้า ไม่ดูทิศใหญ่และทิศน้อยฉัน ตามที่น้องหญิงถาม แต่พุทธบุตรจะภิกขา (เที่ยวขออาหาร) จากผู้ที่มีความปรารถนาจะให้ พุทธบุตรจึงจะฉัน “
นางปริพาชิกาได้ยินดังนั้นถึงกลับปีติและกล่าวว่า “พุทธบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่มีโทษ รับอาหารจากผู้ที่ปรารถนาจะให้ ไม่ฉันด้วยการก้มหน้า เงยหน้า ดูทิศใหญ่ และทิศน้อย พระภิกษุผู้เจริญทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากซึ่งโทษ นทั้งหลายโปรดใส่บาตรพุทธบุตรเหล่านี้เถิด”
เหตุการณ์การสนทนาระหว่างพระสารีบุตรกับนางสุจิมุขี ทำให้เห็นว่านักบวชในสังคมอินเดียโบราณช่วงสมัยพุทธกาล เป็นเจ้าพิธี เป็นผู้มีความรู้ในด้านพยากรณ์ แล้วใช้ความรู้นี้เพื่อกอบโกยเงินทอง จนทำให้นางสุจิมุขีเหมารวมว่านักบวชย่อมหากินกับเดรัจฉานวิชา แต่นางได้ทราบแล้วว่ายังมีนักบวชที่ไม่ได้หากินกับเดรัจฉานวิชา คือ ภิกษุ นั่นเอง
ที่มา :
ภาพ :
บทความน่าสนใจ
Dhamma Daily : ดูดวงกับพระ ผิดหรือไม่
ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : พระสงฆ์ดูดวง ถือเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ ผิดวินัยหรือเปล่า
พระวินัย สิ่งที่พระและฆราวาสควรรู้ไว้ไม่เสียหลาย
เปิดพระวินัย 4 ข้อ ที่ทำให้พระเป็นปาราชิก
ทำไมพระต้องบิณฑบาต คลายข้อสงสัยกิจของสงฆ์ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล