“ปลาตัวใหญ่ที่สุดให้ตากับยาย” (อานิสงส์ของความกตัญญู)
คำพูดนี้ยังก้องอยู่ในหูของดิฉัน เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวาน ทั้ง ๆ ที่ผ่านมากว่าสามสิบปีแล้ว ซึ่งคำพูดนี้เป็นคำพูดของพ่อดิฉัน ขณะที่ยืนดูปลาซึ่งถูกจับได้จากหนองน้ำที่วางเรียงรายอยู่ในภาชนะต่าง ๆ มีทั้งเข่ง กะละมัง ถังน้ำ และกระสอบปุ๋ย ปลาที่จับมาได้มีมากมายหลากหลายชนิด ทั้งปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ดิฉันไม่รู้จัก
ดิฉันเติบโตในชนบท มีวิถีชีวิตเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทุก ๆ ปีของเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำในหนองคลองบึงเริ่มแห้ง ชาวบ้านจะเริ่มออกมาหาปลากัน โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นหนองน้ำขนาดเล็กก็ใช้แรงคนวิดน้ำออก แต่ถ้าหนองน้ำขนาดใหญ่จะใช้เครื่องสูบน้ำออก ที่บ้านของดิฉันมีหนองน้ำในนาขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง เป็นหนองน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีปลาชุกชุมมาก
ช่วงเมษายนของทุกปี บรรดาญาติมักจะมารวมตัวกันเพื่อหาปลาทำปลาตากแห้งไว้กิน พอถึงหน้าฝนเด็ก ๆ อย่างพวกเราจะมีความสุขมาก เพราะเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะอนุญาตให้ตามไปจับปลา ด้วยการเดินทางไปหนองน้ำใช้เวลาเดินประมาณครึ่งชั่วโมงเพราะอยู่ไกลจากบ้าน พวกผู้ใหญ่จะล่วงหน้าไปก่อนประมาณครึ่งวัน โดยออกจากบ้านตั้งแต่ฟ้าเริ่มสางพร้อมข้าวห่อและเครื่องมืออุปกรณ์ในการสูบน้ำ การเดินทางต้องเดินไปตามเส้นทางเล็ก ๆ ตามคันนา และต้องแบกสัมภาระที่ต้องใช้ ได้แก่ จอบ มีดพร้า ขวาน และภาชนะสำหรับใส่ปลาที่จับได้ ซึ่งการขนสัมภาระเป็นไปอย่างทุลักทุเล โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำที่ต้องใช้คนหามถึงสามคน
การทำงานเป็นทีมต้องใช้ความสามัคคี เด็ก ๆ อย่างพวกเราจึงตามไปทีหลัง เพราะจะได้ไม่ต้องคอยนานกว่าน้ำในหนองจะแห้ง และอีกอย่างจะได้ไม่สร้างภาระให้ผู้ใหญ่ที่ต้องคอยมาดูแลพวกเรา เมื่อน้ำในหนองแห้งแล้ว ผู้ใหญ่จะลงไปจับปลาก่อนโดยยังไม่อนุญาตให้พวกเด็ก ๆ ลงไป ด้วยเหตุผลสองประการ คือ ประการแรกเป็นห่วงความปลอดภัย เนื่องจากบางครั้งอาจจับได้งูหรือปลาที่อาจทำอันตรายได้ เช่น ปลาหมอ ปลาดุก ประการที่สอง พวกเด็ก ๆ จับปลาไม่เป็น จึงอาจทำให้ปลาแตกตื่นต้องเสียเวลาในการไล่จับ และเมื่อถึงเวลาที่ผู้ใหญ่อนุญาตให้เด็ก ๆ ลงไปจับปลาได้ แต่ละคนจะตื่นเต้นมาก ต่างคนต่างมีอุปกรณ์เป็นกระสอบปุ๋ยเก่าคนละใบ โดยใช้เชือกผูกกระสอบแล้วคล้องเอวไว้ จากนั้นผู้ใหญ่จะแกล้งปล่อยปลาช่อนให้พวกเราแย่งกันไล่จับเป็นที่สนุกสนาน
เมื่อจับปลาเสร็จเรียบร้อย คุณพ่อดิฉันในฐานะเป็นเจ้าของหนองน้ำจะเรียกพวกเด็ก ๆ ทุกคนมารวมกันเพื่อขอดูปลาที่จับได้ ถ้าคนไหนจับได้น้อย ท่านก็จะเพิ่มให้เกือบเท่า ๆ กันทุกคน ท่านบอกว่าจะได้ไม่รู้สึกว่าใครเก่งกว่าใคร
ในการแบ่งปลา คุณพ่อทำเป็นกอง ๆ โดยให้ตัวแทนแต่ละบ้านเป็นคนเลือก ตัวแทนในที่นี้หมายถึงลูกที่เป็นเด็กของแต่ละครอบครัว โดยให้สิทธิ์เด็กอายุน้อยที่สุดได้เลือกก่อน และมีกองกลางอีกหนึ่งกองที่เป็นของตากับยาย ซึ่งคุณพ่อของดิฉันเป็นคนคัดปลาตัวใหญ่ที่สุดและดีที่สุดไว้ให้
ดิฉันนึกเสียดายตามประสาเด็กเลยถามพ่อว่า “ทำไมปลาตัวใหญ่ถึงต้องให้ตากับยายด้วยจ๊ะ ทำไมเราไม่เก็บเอาไว้กินเองเพราะเราเป็นเจ้าของหนองน้ำ” พ่อตอบว่า
“ปลาตัวใหญ่มีก้างน้อยและรสชาติอร่อย ตากับยายแก่แล้ว พวกเราอายุไม่มากยังมีโอกาสได้กินอีกมาก ไว้ลูกโตแล้วลูกจะเข้าใจเอง”
พ่ออธิบายต่อว่าหนองน้ำนี้เดิมเป็นของตากับยายที่ยกให้เรา และปลาทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นของตากับยายด้วย กับความคิดนี้ฉันได้แต่เถียงในใจ พร้อมทั้งสงสัยว่าทำไมพ่อบอกว่าจะรู้คำตอบต้องรอให้โตก่อน
ตั้งแต่เด็กจนโต ภาพที่ดิฉันเห็นจนคุ้นตาคือ ทุกวันพระหรือทำบุญประจำปี แม่จะจัดสำรับใส่ถาดมีถ้วยแกงสามสี่ใบใส่ข้าวแกง และขนมหวานเอาไปให้ตากับยายก่อนไปวัดเสมอ ส่วนปู่ไปหาได้ไม่บ่อยนักเพราะอยู่ห่างกัน เมื่อโตขึ้นแม่ก็ยกหน้าที่การส่งสำรับนี้ให้ดิฉันดูแล แม่เพียงแต่จัดเตรียมให้เท่านั้น
ดิฉันถามแม่ว่า “ก่อนไปทำบุญที่วัดทำไมต้องเอาสำรับไปให้ตากับยายด้วย” แม่บอกว่า “ก่อนให้พระนอกบ้านต้องให้พระในบ้านก่อน ให้ท่านกินขณะมีชีวิตอยู่จะได้บุญมากกว่า ดีกว่าทำบุญไปให้เมื่อท่านเสียชีวิตแล้ว” ดิฉันถามแม่ว่า “ตากับยายไม่ได้บวชสักหน่อย ทำไมต้องเรียกว่าพระด้วย” แม่ตอบว่า “พ่อแม่เปรียบเสมือนเป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นพระที่ประเสริฐที่สุดที่ให้ชีวิตลูก คนเราถ้ากตัญญูต่อพ่อแม่จะตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ มีแต่ความสุขความเจริญ ไว้ลูกโตแล้วจะเข้าใจเอง” ดิฉันคิดในใจว่าแม่พูดเหมือนกับพ่อไม่มีผิด และได้แต่เก็บความสงสัยไว้ว่าทำไมต้องรอให้โตถึงจะรู้คำตอบ
พ่อกับแม่ปฏิบัติดีต่อตายายและปู่อย่างดีเสมอมา ส่วนย่าเสียชีวิตตั้งแต่ดิฉันยังจำความไม่ได้ ในยามที่ตายายและปู่ชราภาพ ทั้งพ่อและแม่ได้ดูแลท่านเป็นอย่างดี เวลาตาไม่สบาย พ่อก็ให้ตาขี่หลังออกจากบ้านเพื่อขึ้นรถที่ริมถนนไปอนามัย เพราะบ้านตาอยู่ในสวนห่างจากถนนประมาณครึ่งกิโลเมตร รถเข้าไปไม่ถึง
ส่วนแม่ก็จะจัดสำรับให้ตากับยายไม่เคยขาด รวมทั้งซักเสื้อผ้าและจัดที่นอนให้ด้วย ถึงแม้จะอาศัยอยู่คนละบ้านก็ตาม ทั้ง ๆ ที่ตากับยายมีลูกหลายคน แต่แม่ไม่เคยบ่น ไม่เคยเกี่ยงพี่น้องคนอื่นเลย แม่ทำอย่างมีความสุขและแม่บอกดิฉันว่า “ใครทำใครได้ แม่อยากจะทำให้ตากับยาย” ดิฉันตอบแม่ว่า “ค่ะแม่ หนูโตแล้ว หนูเข้าใจ”
ด้วยอานิสงส์ความกตัญญูที่พ่อและแม่สร้างสมมา ลูก ๆ ทุกคนจึงเป็นคนดี มีครอบครัวที่ดี และได้รับราชการหมดทุกคนตามที่ท่านทั้งสองปรารถนา และยังเป็นที่เคารพรักของเพื่อนบ้านอีกด้วย แต่คนดีย่อมมีชีวิตอยู่ไม่นาน เนื่องจากมีกรรมน้อย พ่อเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุในวัยหกสิบกว่าปี ก่อนเสียชีวิต พ่อเคยพูดกับเพื่อนบ้านไว้อย่างภูมิใจว่า “ถ้าเปรียบลูกผมเป็นรวงข้าว ก็ไม่ลีบเลยสักเม็ด ดีหมดทุกเม็ด” คำพูดนี้ดิฉันทราบภายหลังเมื่อท่านเสียชีวิตแล้ว เพราะเพื่อนบ้านมาเล่าให้ฟัง
หลังจากพ่อเสียชีวิต สิ่งเดียวที่แม่ปรารถนาคือ อยากให้น้องที่เป็นลูกชายคนเดียวของบ้านซึ่งรับราชการอยู่ไกลถึงภาคอีสานย้ายมาอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งน้องเคยทำเรื่องย้ายหลายครั้งตั้งแต่พ่อยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ย้ายไม่ได้สักที เนื่องจากตำแหน่งและหน้าที่การงานของน้องหาที่ลงค่อนข้างยาก แม่เล่าให้ดิฉันฟังว่าท่านได้อธิษฐานว่า “ถ้าอานิสงส์ของความกตัญญูมีจริง สิ่งที่ลูกได้ปฏิบัติดีต่อบุพการีมาตลอด ขอให้ลูกชายได้ย้ายดังที่ปรารถนาด้วยเถิด”
และแล้วคำอธิษฐานของแม่ก็เป็นจริง ไม่นานนักน้องชายก็ได้ย้ายกลับมาอยู่ใกล้บ้านสมใจ ดิฉันได้รับมรดกความกตัญญูอันล้ำค่านี้มาสอนลูกโดยการแนะและการนำ การแนะคือสอนให้ทำและให้ปฏิบัติตามเมื่อเขายังเป็นเด็ก การนำคือทำและปฏิบัติสิ่งที่ดี ๆ ให้ดูเป็นตัวอย่าง
ดิฉันตั้งความหวังไว้ว่า สักวันลูกของดิฉันคงได้รับมรดกนี้จากดิฉันเช่นกัน
(อานิสงส์ของความกตัญญู)
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง ประจวบ หนูอุไร
บทความน่าสนใจ
วิธีตอบแทนพ่อแม่ ระดับสูง…หนทางสู่การเป็น “ที่สุด” แห่งความกตัญญู