ทัศนคติมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ โดยเฉพาะคนในครอบครัวต่างเพศต่างวัย เช่น ถ้า พ่อแม่หัวโบราณ แต่ลูกหัวสมัยใหม่ ควรทำอย่างไรดี
พระอาจารย์คะ หนูอยากจะถามแทนใจลูกๆ ว่า ทำไม พ่อแม่หัวโบราณ ชอบยึดหลักเดิมๆ ไม่ค่อยฟังเหตุผลของลูก แล้วชอบพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่เข้าใจวัยรุ่นเลย
พระอาจารย์มานพ อุปสโม ได้ตอบคำถามนี้ไว้ว่า
ในเมื่อพ่อแม่ไม่เข้าใจวัยรุ่น วัยรุ่นก็ต้องเข้าใจพ่อแม่ว่า นี่คือธรรมชาติของคนแก่ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เขาเข้าใจเรา ต้องเริ่มจากการเคารพในความแตกต่างและเข้าใจธรรมชาติของแต่ละวัยให้ได้ก่อน เมื่อเข้าใจแล้ว ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงท่านให้เป็นอย่างที่เราต้องการ เช่น อยากให้พ่อแม่เลิกบ่น ไม่ฟังเหตุผล จะเริ่มลดน้อยลง พ่อแม่และเราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ
จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ที่คนแก่เป็นแบบนี้…เพราะลึกๆ ต้องการคนเอาอกเอาใจ และเห็นว่าตัวเองยังมีคุณค่า เลยต้องแสดงความคิดเห็นหรือยึดมั่นในหลักการของตัวเอง เพื่อให้ลูกๆ ยอมรับว่ายังมีกึ๋น เราก็ควรเอาอกเอาใจท่านหน่อย
สำหรับลูกๆ ที่ไม่ชอบใจนิสัยบางอย่างของพ่อแม่ ก็จงดูท่านเป็นตัวอย่าง เอาท่านมาเป็นครูสอนใจ ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องแก่เหมือนกัน แต่เราเลือกได้ว่าเราอยากเป็นคนแก่แบบไหน แบบที่วัยรุ่นเซ็งหรือเป็นคนแก่นิวลุคที่ทันสมัย เด็กๆ รักและอยากพูดคุยด้วย พระอาจารย์เคยเจอคุณย่าคุณยายบางคนที่เด็กๆ ชอบมาก แสดงว่าคนแก่ที่ไม่ทำตัวน่าเบื่อหน่ายยังมีอยู่ สำหรับคนแก่บางคน เราก็ต้องเข้าใจว่าท่านเปลี่ยนไม่ได้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนท่าน ดูแลท่านให้เต็มที่จนกว่าท่านจะจากไป พอวันหนึ่งเรารับตำแหน่ง สว. แทนท่าน ก็อย่าไปทำในสิ่งที่เราเคยไม่ชอบใจก็แล้วกัน
แล้วถ้ากับพ่อกับแม่ที่พูดแล้วเข้าใจยาก ในฐานะลูก เราควรทำอย่างไรคะ
พระอาจารย์มานพ อุปสโม ได้ตอบคำถามนี้ไว้ว่า
ก็ไม่ต้องพูด บางครั้งการไม่พูดอาจจะดีกว่าการพูดด้วยซ้ำไป บางครั้งเราพูดกันมากเกินไปจึงไม่ค่อยเข้าใจกัน บางครอบครัวพูดกันน้อยมาก แต่กลับเข้าใจกันเยอะ บางครอบครัวพูดกันเยอะ แต่ไม่เข้าใจกันเลย เพราะไม่เข้าไปที่ใจ …ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตัวเราก็ไม่ดูใจตัวเราเอง เลยต้องพูดกันเยอะ ไม่จบไม่สิ้น
ดังนั้น ถ้าอยากให้บรรยากาศในครอบครัวสงบ พูดกันน้อย ๆ เข้า (ไปที่) ใจกันมาก ๆ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เคารพในสิทธิหน้าที่ของเขา สงครามในครอบครัวก็จะไม่เกิด
หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่
นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Daily หรือ dhammadaily2015@gmail.com