เควิน วอร์วิก มนุษย์ยนต์คนแรกของโลก
คุณผู้อ่านคงเคยฝันอยากเป็นอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่ Secret เชื่อว่าความฝันของคุณคงไม่เหมือนของชายผู้นี้
“ผมมีเป้าหมายอย่างหนึ่งในชีวิต นั่นคือผมอยากจะเป็นหุ่นยนต์ หรือเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่มีสภาพกึ่งมนุษย์กึ่งเครื่องจักร”
แม้ความฝันนี้ของ ศาสตราจารย์ ดร.เควิน วอร์วิก (Kevin Warwick) จะฟังดูเหลือเชื่อ แต่ปัจจุบันเขาก็พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า “เขาทำได้ “
เควิน วอร์วิก เกิดที่เมืองคอเวนทรี (Coventry) สหราชอาณาจักร ด้วยความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ เขาจึงตัดสินใจหยุดเรียนหนังสือเมื่ออายุเพียง 16 ปี เพื่อร่วมงานกับ บริติชเทเลคอม (British Telecom) และเรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 22 ปื อีกทั้งยังเก่งกาจจนคว้าปริญญาเอกจาก อิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) ได้ในเวลาต่อมา
ด้วยความหลงใหลในความมหัศจรรย์ของเครื่องจักรที่สามารถทำสิ่งต่าง ๆได้เหนือมนุษย์ ดร.เควินจึงค้นคว้าเกี่ยวกับการดัดแปลงร่างกายของมนุษย์เพื่อให้สามารถสั่งงานอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ได้โดยใช้เพียงแค่ความคิดเท่านั้น
ที่สำคัญ ดร.เควินไม่ได้ขอแรงอาสาสมัครที่ไหน หากแต่ใช้ตัวของเขาเองในการทดลอง
วันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1998 เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการผ่าตัดฝังชิปลงไปบริเวณต้นแขนของ ดร.เควิน ซึ่งชิปนี้จะส่งสัญญาณจากระบบประสาทของเขาไปสู่คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ อีกต่อหนึ่ง
วันต่อมา ไม่ว่า ดร.เควินจะเดินไปที่ไหน เขาก็สามารถสั่งให้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ทำงานได้โดยไม่ต้องใช้แม้แต่ปลายนิ้วสัมผัส!
“เมื่อผมเดินผ่านประตูใหญ่ คอมพิวเตอร์เหนือประตูจะส่งเสียง”เฮลโหล!”เป็นการทักทาย จากนั้นคอมพิวเตอร์จะประมวลผลเกาะติดความคลื่อนไหวของผมไปตลอด และช่วยเปิดประตูห้องแล็บเมื่อผมจะเดินเข้าห้อง ช่วยกดสวิตช์ไฟทั้งหมดที่ต้องใช้…เพียงแค่ 9 วันหลังจากฝังซิป ผมก็เหมือนกับนักมายากลไม่มีผิด”
ต่อมาในปี ค.ศ 2002 ทีมงานของ ดร.เควินได้ทำการฝังชิปไมโครอิเล็กโทรด (Microelectrode) ลงไปในประสาทส่วนกลางที่บริเวณแขนช้ายของ ดร.เดวิน ทำให้เขาสามารถควบคุมเก้าอี้วีลแชร์ไฟฟ้า และบังคับมือเทียมให้หยิบจับอะไรก็ได้เพียงแค่คิดเท่านั้น
การทดลองครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มตันให้นักวิทยาศาสตร์มากมายนำเทคโนโลยีนี้ไปพัฒนาต่อ เพื่อให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
นอกจากตัว ดร.เควินเองแล้ว เอเลนา (Elena) ภรรยาของเขาก็ยังเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้อุทิศตัวให้แก่การทดลองนี้ โดยอนุญาตให้ทีมงานฝังชิปลงในร่างกายของเธอ เพื่อทดลองว่ามนุษย์สามารถสื่อสารกันทางโทรจิตได้อย่างไร ซึ่งจวบจนถึงบัดนี้การทดลองดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ว่าการสื่อสารดังกล่าวทำได้หรือไม่ แต่เพื่อทำให้การสื่อสารนี้เป็นได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
ดร.เควินกล่าวถึงการทดลองนี้ว่า “ผมคิดว่าไม่เกินปีค.ศ. 2100 ถ้ามนุษย์ต้องการโกหกใครสักคน แทนที่จะโกหกกันด้วยคำพูด คุณจะต้องโกหกกันตั้งแต่ความคิดเลยทีเดียว”
ปัจจุบัน ดร.เควินเป็นอจารย์สอนด้าน วิทยาการหุ่นยนต์ (Cybernetics) อยู่ที่ มหาวิทยาลัยรีดดิ้ง (University of Reading) เขาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสมอง ระบบประสาท การออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ไว้มากถึง 25 เล่ม และมักจะต้องไปอวดโฉมในฐานะมนุษย์ยนต์ต่อหน้าสาธารณชนเพื่อเผยแพร่ความรู้เสมอ ๆ
ผลงานเหล่านี้ทำให้ ดร.เควินได้รับการยกย่องในวงการวิทยาศาสตร์อย่างสูง และทำให้สถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่ง เช่น ฮาร์วาร์ด (Harvard) สแตนฟอร์ด (Stanford) และ เอ็มไอที (MIT) บรรจุการค้นคว้าวิจัย “หุ่นยนต์ที่คล้ายมนุษย์” (Humanoid) ไว้ในหลักสูตรการศึกษาแล้ว
เรียกว่าขอเพียงมีความมุ่งมั่นตั้งใจเสียอย่าง ไม่ว่าจะอยากเป็นอะไร ศักยภาพอันแสนมหัศจรรย์ของมนุษย์ก็สามารถบันดาลให้เป็นไปตามนั้นได้จริง ๆ
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ Twitter, Dazed, NanoNewsNet
บทความน่าสนใจ
โอลก้า สปีแรนสกายา กับภารกิจ “คืนชีวิตให้สิ่งแวดล้อม”
พ่อค้าส้มสร้างโรงเรียนแห่งแรกให้หมู่บ้านด้วยเงินออมของตัวเอง