นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการที่ต้องใช้ รถเข็นไฟฟ้า เมื่อศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในโครงการ “การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการพัฒนาอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.2” ผลิตอุปกรณ์พ่วงต่อเพื่อปรับเปลี่ยนรถเข็นทั่วไปให้เป็นรถเข็นไฟฟ้า ส่งมอบให้แก่น้อง ๆ นักเรียนผู้พิการวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เพิ่มโอกาสให้ผู้พิการที่มีร่างกายท่อนบนที่ดี ให้มีความอิสระและดํารงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดีขึ้น
ดร.ดนุ พรหมมินทร์ หัวหน้าทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้พัฒนาต้นแบบอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปให้เป็นรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.2 ในราคาประมาณ 7,000 บาท เพื่อรองรับการใช้งานรถเข็นของผู้สูงอายุและผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รถเข็นรุ่นนี้ผ่านการประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า ด้วยการทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้า การป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์การแพทย์ โดยศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC สวทช.) สำหรับการต่อยอดผลิตรถเข็นไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เอ็มเทค สวทช. ได้ริเริ่มโครงการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ โดยประกอบและติดตั้งอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า ได้มีการลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิค 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ นำร่องผลิตอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า รวมจำนวน 30 ชุด มอบให้อาสาสมัครผู้พิการและผู้สูงอายุในพื้นที่ใกล้เคียง
นายวิชัย หาญพลาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า หลังจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ได้เรียนรู้วิธีการผลิต และฝึกสอนการประกอบรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.2 จากเอ็มเทค สวทช. ทำให้วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบสามารถผลิตรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.2 ให้แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งสามารถให้บริการซ่อมบำรุงหากเกิดความผิดปกติของอุปกรณ์ ในการต่อยอดอุปกรณ์นวัตกรรมนี้ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบจะหารือร่วมกับเอ็มเทค สวทช. เพื่อผลิตชิ้นส่วนของอุปกรณ์พ่วงต่อเป็นรถเข็นไฟฟ้าเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อเป็นการฝึกทักษะการผลิตให้กับนักศึกษา รวมถึงนำผลการถ่ายทอดขยายผลไปยังโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการและผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นการช่วยเหลือสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกส่วนหนึ่ง
นายอุดมโชค ชูรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา กล่าวว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ เป็นสถานศึกษาที่ฝึกอาชีพให้กับคนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวแขน ขา และลำตัว จากทั่วประเทศ ซึ่งเปิดสอนระดับ ปวช. และ ปวส. โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่คนพิการที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนผู้พิการจำนวนกว่า 170 คน และมีนักเรียนหลายคนจำเป็นต้องใช้ รถเข็นไฟฟ้า เนื่องจากแขนขาอ่อนแรง ในช่วงการถ่ายทอดวิธีการผลิตและฝึกสอนการประกอบรถเข็นไฟฟ้า M2E 1.2 จากเอ็มเทค สวทช. ที่ผ่านมา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ได้ส่งอาจารย์เข้าร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้ดำเนินการจัดหารถเข็นทั่วไปสำหรับการติดตั้งชุดอุปกรณ์พ่วงต่อปรับเป็นรถเข็นไฟฟ้า จำนวน 10 คัน ซึ่งหลังจากนี้จะนำไปใช้งานจริง โดยมอบให้กับน้อง ๆ นักเรียนผู้พิการ และส่วนหนึ่งจะส่งมอบให้ผู้สูงอายุที่มีความต้องการใช้งานเพื่อสร้างอิสระและลดการพึ่งพาคนในครอบครัวได้
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
บทความน่าสนใจ
ครูใจดีแบกลูกศิษย์พิการไว้บนหลัง พาไปทัศนศึกษากับเพื่อนร่วมชั้นเรียน
“คุณตาไม้กวาด” พิการแต่มุ่งมั่นทำไม้กวาดขาย เพื่อช่วยทุนการศึกษาเด็กยากไร้