ตามไปดูเคล็ดลับเสริมหัวใจแข็งแรง แม้ว่าจะสูงวัย!
ทุกวันนี้จะพบว่าอีกปัญหาสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ จากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดที่มากขึ้นตามอายุ ซึ่งถ้าหากไม่มีการดูแลเฝ้าระวังที่ดี อาจอันตรายถึงชีวิตได้
จากงานวิจัยหนึ่งโดยสถาบัน National University Heart Centre Singapore (NUHCS) ร่วมกับศูนย์ National Heart Centre Singapore (NHCS) พบด้วยว่า ชาวเอเชียมีอาการภาวะหัวใจล้มเหลวเร็วกว่าชาวตะวันตกถึงหนึ่งศตวรรษ ผู้ป่วยในฟิลิปปินส์มีอายุเฉลี่ยของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเร็วที่สุดอยู่ที่อายุ 54 ปี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย (อินโดนีเซีย-อายุ 56 ปี ไต้หวัน-อายุ 63 ปี เกาหลีใต้-อายุ 63 ปี ญี่ปุ่น-อายุ 65 ปี และฮ่องกง-อายุ 68 ปี) ในขณะที่อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยชาวยุโรปที่มีอาการภาวะหัวใจล้มเหลวจะอยู่ที่อายุ 71 ปี
ดังนั้น เรามาดูปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ สัญญาณเตือนของโรค รวมถึงเทคนิคดูแลหัวใจให้แข็งแรง เพื่อไว้ดูแลคนที่เรารักกันดีกว่าค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ
- อายุ : การเสื่อมสภาพของหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 55 ปี และในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี
- เพศ : ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าผู้หญิง แต่ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ก็มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจใกล้เคียงกับผู้ชาย
- พันธุกรรม : หากมีบุคคลในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน เราก็จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้มากขึ้น
- ไขมันในเลือดสูง : ทำให้เกิดการปิดกั้นหลอดเลือดหัวใจ นำไปสู่โรคหัวใจได้
- โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง : ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และส่งผลให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
- ภาวะน้ำหนักตัวเกินและขาดการออกกำลังกาย : เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ 1.5 เท่า
- สูบบุหรี่ : สารพิษในบุหรี่จะเข้าไปทำลายเซลล์ของหลอดเลือด เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นตัวทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่าเวลาปกติ จึงเกิดการขาดออกซิเจน เป็นผลทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น, สารนิโคตินเป็นตัวขัดขวางการไหลเวียนของเลือด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจถึง 2.4 เท่า
สัญญาณเตือนของโรคหัวใจในผู้สูงวัย
1.มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง
2.หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ต้องหนุนหมอนสูง
3.เจ็บหรือแน่นหน้าอก เหมือนมีอะไรมากดทับ โดยมักมีอาการเวลาออกแรงที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น
4.ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม
5.อาการที่ไม่เหมือนกับโรคหัวใจแต่เกิดจากโรคหัวใจ มักพบในผู้สูงวัยมากๆ หรือกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เช่น อ่อนเพลีย เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร โดยไม่รู้สาเหตุ เป็นต้น
ปัจจุบันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเริ่มดูแลใส่ใจสุขภาพหัวใจของเรากันตั้งแต่ตอนนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยสามารถทำตาม 5 เคล็ดลับดีๆ ที่นำมาฝากกันต่อไปนี้ เพื่อชีวิตที่มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้นได้อย่างยืนยาว
เข้าใจปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อสุขภาพ
กุญแจสำคัญที่นำไปสู่สุขภาพหัวใจที่สมบูรณ์แข็งแรงคือ คุณต้องรู้ค่าตัวเลขที่บ่งบอกภาวะสุขภาพต่างๆ ของตัวเองให้ดี หมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ และจัดตารางตรวจสุขภาพร่างกายแบบครอบคลุมทุกด้านอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือแวะไปคลินิกเพื่อตรวจเช็กสุขภาพบ้างเป็นครั้งคราว