เมื่อรู้สึกแพ้แล้ว ใจเป็นทุกข์ ควรทำอย่างไร ธรรมะให้ข้อคิดดี ๆ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
บางคนไม่ยอมพ่ายแพ้ คิดแต่จะเอาชนะเพียงอย่างเดียว แต่พอต้องแพ้ขึ้นมา ใจเป็นทุกข์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครที่เป็นแบบนี้แล้วกำลังทุกข์อยู่กับความพ่ายแพ้ อยากให้ลองเปลี่ยนความคิดและมองความพ่ายแพ้เสียใหม่ มันอาจเป็นความโชคดีก็ได้ พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญได้กล่าวไว้ดังนี้
ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว บางทีก็ล้มบ้าง แพ้บ้าง อะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องไปชนะตลอด มันมีรสชาติแห่งชีวิต ถ้าชนะตลอด เกรดเอตลอด เกรดสี่ตลอด เกียรตินิยมตลอด ไม่ค่อยมีรสชาติ ไม่ค่อยตื่นเต้นแล้ว บางทีถ้ามองว่าเป็นสีสัน สีสันแห่งการใช้ชีวิต มีแพ้บ้าง ชนะบ้าง แม้แต่นักมวยบางคน เขาชนะมาตลอดบางทีเขารู้สึกว่ามันจืดชืดมากเลย แต่บางทีพอเจอแพ้บ้าง เขารู้สึกว่ามีแรงบันดาลใจอะไรบางสิ่งบางอย่าง แล้วก็จะได้ประสบการณ์ในความพ่ายแพ้ แล้วก็ได้เห็นจิตเห็นใจอะไรบางอย่าง แต่สุดท้าย ถ้าในแง่อยากฝากสำนวนไว้ก็คือว่า
“ ชนะได้เพราะไม่เอาชนะ บุคคลเมื่อไม่อาจพ่ายแพ้ ใหญ่ไม่พ่ายแพ้หมดจด ถ้าไม่อาจพ่ายแพ้ นั่นนับเป็นความพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่ ”
เราจะมีความดิ้นรนทางใจอย่างเหลือประมาณที่จะกันทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้พ่ายแพ้ เพื่อรักษาความเป็นเลิศ ความเป็นหนึ่ง เพื่อที่จะต้องชนะ การป้องกันทุกวิถีทาง บางทีมันไม่คำนึงถึงวิธีการที่ใช้ โอกาสที่จะเกิดบาปอกุศล เกิดการฆ่ากัน การประหัตประหารเบียดเบียนมีสูงมาก เพราะเรากลัวการพ่ายแพ้จะยอมรับไม่ได้ มันเสียหน้าเสียศักดิ์ศรีสมมติว่าอย่างนี้ ฉะนั้นจะบอกว่าถ้าไม่อาจพ่ายแพ้ มันนับเป็นความพ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่ พ่ายแพ้ต่ออกุศล ต่อบาป ต่อที่จะเกิดทางใจ ถูกกิเลสครอบงำ ถูกโมหะบ้าง โทสะบ้าง โลภะบ้าง ต่าง ๆ นานา ครอบงำ จึงนับเป็นความพ่ายแพ้ และจิตใจจะไม่มีวันสงบเลย
ฉะนั้นชัยชนะที่แท้จริงจึงเป็นชัยชนะที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการต้องการเอาชนะ ชัยชนะที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นจากการต้องการเอาชัยชนะ เช่น ยกตัวอย่าง สองคนประลองฝีมือกัน คนหนึ่งอยากเป็นจ้าวยุทธจักร มีความมักใหญ่ใฝ่สูง อยากเป็นจ้าวยุทธจักรมาก อยากจะครองยุทธภพทั้งหมดทั้งปวง กับอีกคนหนึ่งไม่ได้มีจิตดวงนี้ ไม่ได้มีจิตที่เป็นอกุศล แต่ด้วยความที่ต้องประลอง เพราะไม่ประลองไม่ได้เพราะว่า ถ้าคนนี้ขึ้นเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง ในยุทธภพ ยุทธภพต้องปั่นป่วน แผ่นดินจะต้องเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าเป็นแน่แท้เลย
สรุปว่า 2 ท่านนี้ จบมาจากสำนักเดียวกัน วิชาที่ร่ำเรียนมาเหมือนกันเลย ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่จบหลักสูตรมา แต่นี่จิตเป็นพลังงาน คนที่อยากเป็นจ้าวยุทธจักร อยากจะเป็นใหญ่ กระบวนท่าที่ใช้มันจะผิดเพี้ยนหมดเลย เพราะอารมณ์ จิตใจที่อารมณ์ปนเปื้อนผสม สติปัญญาความรู้ความสามารถกระบวนท่ามันจะผิดเพี้ยนหมดเลย ส่วนผู้ที่ไม่มีจิตที่เป็นอกุศล ไม่มีความอยากเป็นใหญ่ ไม่มีกิเลสครอบงำ มันจะว่าง พอว่างเสร็จกระบวนท่าที่ใช้ออกมาตามที่ฝึกมาร่ำเรียนมาทั้งหมด ไปตามกระบวนต่าง ๆ นานา
สุดท้ายแล้ว ผลแห่งการประลอง คนที่ไม่อยากเอาชนะ ไม่อยากเป็นใหญ่เป็นโต และก็ใช้ไปตามสติปัญญา หรือกระบวนท่า หรือสิ่งที่ฝึกปรือมาไปตามปกติ แต่อีกคนหนึ่งมันสูญเสียความเป็นปกติ มันก็เลยใช้ไม่ได้ อารมณ์นี่แหละ อารมณ์มันจึงพาให้เราแพ้ ท่านจึงบอกว่าชนะอะไรหมื่นแสนทั่วยุทธภพก็ไม่สู้ชนะใจตัวเอง ใจที่มีบาปอกุศล ถ้าชนะได้
สุดท้ายเราไม่เคยชนะใจที่อยากจะเอาชนะ เราแพ้ตลอด ใจที่มันอยากเอาชนะมากก็คือกิเลส คืออกุศล เช่น โลภะ อย่างนี้ หรือโทสะ หรือโมหะก็แล้วแต่ ฉะนั้นวิธีการที่จะเอาชนะใจที่อยากชนะ เพราะว่าใจที่อยากชนะเป็นกิเลสเป็นอกุศล คุณก็ต้องเจริญกุศล ก็ต้องสร้างกุศลขึ้นมา กุศลชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ เช่น สติ พอคุณสร้างกุศลขึ้นมา กุศลก็อยู่ในใจ พอกุศลเข้าไปอยู่ในใจแล้ว กุศลก็จะเข้าไปชำระอกุศลเอง เช่น โลภะ ความโลภมากจนเกินไป หรือความอยากเด่น อยากดัง อยากดีเกินประมาณ เมื่อมีกุศลเกิดขึ้น กุศลก็จะไปชำระอกุศล พออกุศลหมดไปจากใจ ใจก็ว่างจากอกุศล ใจที่อยากจะเอาชนะก็ไม่มี แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไร
เขาท้าประลองยุทธก็ต้องไปประลอง ทำก็ทำไปตามปกติ แต่ใจว่าง ว่างจากอกุศล ว่างจากจิตใจที่อยากจะเอาชนะ อยากเป็นหนึ่ง อยากจะเป็นเลิศ แม้แต่เข้าสอบ แม้แต่ส่งผลงาน บางคนไม่ได้ต้องการรางวัลนะแต่ก็ส่ง เช่น นักเรียนก็ต้องสอบ บางทีไม่ได้ต้องการเลยเกรดเอ หรือเกียรตินิยม ไม่ได้ต้องการ หรือการประกวด หรือต่าง ๆ นานาอย่างนี้ แต่อีกคนหนึ่ง
ลองมุมกลับที่มันมีกิเลสมีความอยากจนเกินไป อย่าว่าแต่ตอนส่งประกวดเลย ตั้งแต่มันเขียนออกมา ใจที่มันอยากจะได้รางวัล อยากดีอยากเด่นอยากดัง มันก็เสียความเป็นปกติ ต่อให้มีความสามารถเป็นเลิศชั้นเยี่ยม แต่ว่าใจที่มันเป็นอกุศล มันก็วาดแบบไม่เป็นปกติ มันจะออกมาไม่ดี มันไม่เป็นธรรมชาติ คือมันไม่ว่าง มันวุ่น แล้วผลงานจะดีได้ไง มันไม่ต้องถามตอนประกวด ถามตอนสร้างเหตุนี่แหละ เหตุแบบไหน ผลก็แบบนั้น แพ้ก็แพ้ตั้งแต่เหตุแล้ว แพ้ตั้งแต่ตอนวาดแล้ว จากจิตที่มีอกุศลประกอบ
ถอดความ : สุขทุกวัน 7 วัน 7 กูรู ตอน พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 (1/2)
ภาพ : www.pexels.com
บทความน่าสนใจ
ปัญหาธรรม : ถ้าไม่กรวดน้ำ ญาติจะได้บุญหรือไม่ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
เพศมีผลต่อการปฏิบัติธรรมหรือไม่ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
หัวใจของการปฏิบัติธรรมอยู่ที่การเจริญกุศล โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ