อาหารเสริมฮอร์โมนเพศหญิง จะกินดีไหมนะ ช่วยได้ไหม
เดี๋ยวนี้การกิน อาหารเสริมฮอร์โมนเพศหญิง กลายเป็นสิ่งที่สาว ๆ ผู้กำลังเข้าสู่วัยทองคิดว่าจำเป็นต้องรับเข้าสู่ร่างกาย …แต่กินแล้วจะได้ประโยชน์หรือโทษ วันนี้คุณหมอชัญวลี ศรีสุโข หรือคุณหมอหวิว สูตินรีแพทย์คนดัง และคอลัมนิสต์ที่มีแฟนติดตามงานเขียนจำนวนมาก จะมาไขข้อสงสัยนี้ให้เราค่ะ
Q ดิฉันมีผิวหน้ามัน ค่อนข้างหยาบ และมีขนดกกว่าผู้หญิงทั่ว ๆ ไป เพื่อน ๆ เลยแนะนำให้กินอาหารที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงจำพวก ถั่วเหลือง และน้ำมะพร้าว จึงอยากถามคุณหมอว่า ดิฉันควรกินอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้มีความเป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น
A อาการที่เล่ามา หากเป็นไม่มาก ถือเป็นอาการปกติ เกิดจากกรรมพันธุ์
แต่หากเป็นมาก เช่น มีอาการ หน้ามัน เป็นสิว ผิวค่อนข้างหยาบ รูขุมขนบนใบหน้ากว้าง ผมบางหรือหัวล้าน มีขนดก มีหนวดหรือเครา มากกว่าผู้หญิงทั่ว ๆไป อาการเช่นนี้ จัดว่าผิดปกติ เนื่องมาจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง
ความเชื่อของคนทั่วไปคือ เมื่อมีฮอร์โมนเพศชายสูงก็แก้ด้วยการเสริมฮอร์โมนเพศหญิง จากอาหาร ยา หรือสมุนไพร หรือการกินพืชผัก เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง น้ำมะพร้าว ที่มีฮอร์โมนเพศหญิงไฟโตเอสโตรเจน หากกินในปริมาณเทียบเท่าอาหารทั่วไป มักเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงได้ไม่มากนัก แต่มีข้อดีคือไม่เป็นอันตราย ถ้าหากต้องการฮอร์โมนเพศหญิงสูง จำเป็นต้องกินยาหรือสมุนไพรชนิดสกัดเข้มข้น หรือชนิดบดใส่แคปซูล เป็นต้น
แม้การเสริมฮอร์โมนเพศหญิงในคนที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงฟังดูเหมือนสมเหตุสมผล แต่ความเป็นจริงคือ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดและอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้กินได้ค่ะ
เนื่องจากผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ มักมีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนสูงด้วย แต่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงโปรเจสเตอโรน จึงมีอาการประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนขาด หรือมีปริมาณน้อย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจาก การมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบหรือ พีซีโอเอส (Polycystic ovarian syndrome : PCOS) อาจเป็นเพราะมีการผลิตฮอร์โมนเพศชายที่ผิดปกติ เช่น มีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต มีต่อมหมวกไตหนา(Adrenal hyperplasia ) มีเนื้องอกที่รังไข่ในส่วนที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น
อาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
สำหรับอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เป็นอาการที่พบได้มากในวัยเจริญพันธ์ (อายุระหว่าง 20-40 ปี) พบมากตั้งแต่ร้อยละ 5-10 แม้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เชื่อว่าถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
อาการ
- อ้วน เป็นไปได้ว่าความอ้วนทำให้มีฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) และฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติ อาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบนี้พบในคนอ้วนถึงร้อยละ 35-76
- ประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาน้อย หรือนาน ๆมาครั้ง
- ผิวหน้ามัน มีสิว มีขนดกบริเวณใบหน้า เช่น หนวด เครา ซึ่งพบว่าอยู่ในกลุ่มผู้มีอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบถึงร้อยละ 50-70
- มีลูกยาก เนื่องจากฮอร์โมนเพศไม่สมดุล ทำให้ไข่ไม่ตก
- มีความผิดปกติของเมตาบอลิก (Metabolic disease) จากความอ้วน ฮอร์โมนเพศไม่สมดุล ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนสูง รวมถึงยังมีภาวะตกเลือดจากเยื่อบุโพรงมดลูกหนา และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
การวินิจฉัยอาการ
แพทย์วินิจฉัยอาการนี้ จากการตรวจหาข้อบ่งชี้ 3 ประการคือ
- มีฮอร์โมนเพศชายสูง เช่นหน้ามัน เป็นสิว ขนดก ผมบางหรือศีรษะล้าน
- ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาน้อย หรือนาน ๆมาครั้ง
- ตรวจอัลตร้าซาวนด์ พบถุงน้ำในรังไข่ขนาด 2-9 มิลลิเมตร มากกว่า 12ใบ
การรักษา
- ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หากอ้วนต้องลดน้ำหนัก ลดอาหารไขมันสูง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด
- ลดฮอร์โมนเพศชาย ด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย
- ลดฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนา ด้วยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือให้ฮอร์โมนเพศหญิงโปรเจสเตอโรนทดแทน
- หากต้องการมีลูก ในคนอ้วนต้องลดน้ำหนักให้ใกล้เคียงปกติ แล้วใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก หรือใช้วิทยาการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เช่น ทำเด็กหลอดแก้ว
ถ้ากิน อาหารเสริมฮอร์โมนเพศหญิง ผิดวิธี จะ…
หากว่ามีภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง ซึ่งมาจากอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ แล้วไปกินอาหารเสริมฮอร์โมนเพศหญิง หรือใช้สมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน เท่ากับว่าเป็นการใช้สริมฮอร์โฒนเพศหญิงผิดวิธี จะทำให้เกิดผลเสียเหล่านี้ตามมา
- ไม่สามารถรักษาอาการหน้ามัน เป็นสิว ขนดก ผิวหยาบ เพราะฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ไม่สามารถลดฮอร์โมนเพศชายได้
- เสี่ยงต่อการตกเลือด และเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะเป็นการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีระดับสูงอยู่แล้วให้สูงขึ้น ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนามากขึ้น
- เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง
- เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
- หากเป็นโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนในระดับที่สูง อาจจะกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบได้
หวังว่าคุณคงได้คำตอบที่สามารถนำไปปรับใช้และทำความเข้าใจกันแล้วนะคะ…
ข้อมูลเรื่อง “กินอาหารเสริมฮอร์โมนเพศหญิง ประโยชน์หรือโทษ” จากคอลัมน์ เปิดห้องหมอสูติฯ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 419
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
มะเร็งเต้านม 4 ความจริง ไขโดย “มูลนิธิถันยรักษ์ฯ”
เต้นลีลาศ ช่วยห่างไกล มะเร็งเต้านม
ชวนกิน 5 อาหารบำรุงฮอร์โมนเพศหญิง ป้องกันโรค
ติดตามชีวจิตได้ที่