ไข้เลือดออก

“ไข้เลือดออก” โรคอันตราย ทุกคนควรต้องรู้!

โดนยุงกันเมื่อไหร่ ให้ระวัง ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก แม้ไม่ใช่โรคเรื้อรัง แต่ก็น่ากลัวไม่น้อยเลยนะคะ ทุกครั้งที่เริ่มประมาทกับโรคนี้ ก็มักมีข่าวให้ต้องกังวลออกมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกของนักแสดงชื่อ ปอ – ทฤษฎี สหวงษ์ หรือข่าวการเสียเกือบ 300 รายจากไข้เลือดออกในประเทศบังคลาเทศ เมื่อปี 2566 รวมถึงข่าว ข่าวการป่วยหนักจากโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ A ของคุณ วิรดา วงศ์เทวัญ น้องสาวคุณกุ้ง – สุธิราช วงศ์เทวัญในปี 2567

จะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝนทุกครั้ง ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มักจะออกมาเตือนประชาชนให้ ระมัดระวังป่วยโรคไข้เลือดออก ให้หมั่นสำรวจบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยเฉพาะตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำขัง และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่าประชาชนจะทำหรือปฏิบัติตามกันมากน้อยแค่ไหน

อย่าลืมว่า “โรคไข้เลือดออก” ก็ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงขั้นนำมาสู่การสูญเสียชีวิตได้ไม่แพ้โรคติดต่อชนิดอื่นๆ เราจึงควรรู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรค การป้องกัน และการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อนี้เกิดขึ้น

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เกิดจากอะไร ?

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงตัวเมียที่หากินเวลากลางวันจะกัดและดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ เชื้อนี้จะเข้าไปเพิ่มจำนวนอยู่ในกระเพาะยุง จากนั้นจะเข้าสู่ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงไปกัดคนอื่น เชื้อก็จะแพร่เข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนแล้วจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-8 วัน คนที่ติดเชื้อจึงเริ่มแสดงอาการของโรคไข้เลือดออกมักพบมีการระบาดในประเทศเขตร้อนชื้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากการเพิ่มจำนวนยุงลายที่เป็นพาหะในช่วงฤดูนี้

อาการของโรคไข้เลือดออก

อาการของโรคไข้เลือดออก มีความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่น้อยไปจนถึงเสียชีวิตได้ โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ มีไข้สูงฉับพลัน 2-7 วัน ส่วนใหญ่จะมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีไข้สูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดจุกท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง ตัวแดง บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง แขน ขา เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารทำให้ถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือดได้

รายที่มีอาการรุนแรงมากจะมีการรั่วของพลาสมาออกนอกหลอดเลือด จนมีภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ซึมลง ช่วงนี้ไข้มักจะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรพาไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

การรักษาไข้เลือดออก

ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะต่อเชื้อไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการและการรักษาประคับประคอง การให้สารน้ำเพื่อป้องกันภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โดยเฉพาะในระยะวิกฤตที่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกหลอดเลือด การรักษาจะได้ผลดีถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยรวดเร็วและดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้น

สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้นทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำขัง และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณรอบๆ ตัวบ้านและในชุมชน โดยแนะให้ประชาชนเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค  ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาต่อไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

วัคซีนไข้เลือดออก

แม้ว่าไข้เลือดจะเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนได้ แต่ก็ยังโชคดีที่เรามีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยในอดีตเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดสำหรับผู้ที่เคยเป็นมาก่อน แต่ในปัจจุบันมีวัคซีนตัวใหม่ ที่สามารถฉีดได้โดยไม่จำเป็นต้องเคยได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4-60 ปี

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

สำหรับการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่ ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2-3 เดือน ซึ่งจะช่วยป้องกันไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ได้ 80.2% และป้องกันการป่วยรุนแรงจนนอนโรงพยาบาลได้ถึง 90.4% อาการข้างเคียงของวัคซีน เป็นเหมือนวัคซีนทั่วๆ ไปคือ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ

สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป โดยมีค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลนั้นๆ

การป้องกันไข้เลือดออก

สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออก ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันการโดยยุงลายกันเท่านั้น แต่ยังต้องป้องกันที่ต้นเหตุ ด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะแอ่งที่มีน้ำขัง ภาชนะที่ถูกทิ้ง รวมถึงแจ้งหน่วยงานราชการหากมีคนในชุมชนติดโรคดังกล่าว เพื่อที่จะได้ทำการพ่นควันกำจัดลูกน้ำยุงลายตามท่อน้ำทิ้ง

พ่นควัน กำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

รวม สมุนไพรฤทธิ์ร้อน รับมือช่วงอากาศเปลี่ยน

ป่วย ไข้เลือดออก ต้องลดไข้แบบนี้เลย

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.