ไข้เลือดออก

ป่วย ไข้เลือดออก ต้องลดไข้แบบนี้เลย

ไข้เลือดออก ลดไข้ต้องทำแบบนี้

โรคไข้เลือดออก พบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ได้แก่ มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หอบหืด ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ควรได้รับยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการไข้สูงอย่างไร เราไปหาคำตอบมาให้แล้ว

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) หรือยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะนำโรค เชื้อนี้มีระยะฟักตัวในคนประมาณ 5-8 วัน และผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน ตั้งแต่มีไข้สูงลอย 2-7 วัน มีอาการเลือดออก (ส่วนใหญ่พบที่ผิวหนัง) มีตับโต กดเจ็บ ไปถึงอาการที่รุนแรงจนช็อกและเสียชีวิต 

ไข้เลือดออก

เนื่องจากโรคไข้เลือดออกมีการติดต่อจากยุงลาย ดังนั้นการป้องกันโรคสามารถทำได้โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน เช่น การเทน้ำทิ้งไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะ ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขัง และเปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกสัปดาห์ เป็นต้น

 ในปัจจุบันยังคงมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ข้อมูลจากกองโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2563 ในประชากรทุก 100,000 คน จะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก 15.22 คน และในผู้ป่วยทุก 100 คน จะพบผู้ป่วยเสียชีวิต 9 คน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ได้แก่ มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หอบหืด การที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้า และการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์ลดไข้ เช่น แอสไพริน และ ไอบูโพรเฟน เป็นต้น

ลดไข้ ไข้เลือดออก

เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดยากลุ่มเอ็นเสดซึ่งมีฤทธิ์ลดไข้จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิต และผู้ป่วยโรคนี้ควรจะได้รับยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการไข้สูงลอยอย่างไร บทความนี้จึงได้รวบรวมสาระสำคัญของการใช้ยาลดไข้ในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไว้ ดังนี้

ไข้เลือดออก ลดไข้ด้วยยา

ยาลดไข้ที่ “ไม่แนะนำ” ยากลุ่มเอ็นเสด เช่น แอสไพริน และ ไอบูโพรเฟน

แอสไพริน (aspirin หรือ acetyl salicylic acid) เป็นยากลุ่มเอ็นเสดที่ใช้ในขนาดสูงเพื่อแก้ปวด ลดอักเสบ ลดไข้ หรือใช้ในขนาดต่ำสำหรับป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีการศึกษาที่พบว่าการใช้แอสไพรินขนาดสูง (มากกว่า 1 กรัม) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ เนื่องจากยาไปออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด

ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เป็นยากลุ่มเอ็นเสดอีกชนิดหนึ่งที่มีใช้อย่างแพร่หลายในไทย และเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิต ไอบูโพรเฟนมีข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ อาการปวด และลดไข้ แต่ยานี้มีผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้ โดยเฉพาะที่บริเวณทางเดินอาหาร ถึงแม้ไอบูโพรเฟนจะเป็นยาที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้น้อย แต่ในปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลการศึกษาถึงการใช้ไอบูโพรเฟนในผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออก

จากอาการไม่พึงประสงค์ของยากลุ่มเอ็นเสด ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงไม่ได้แนะนำให้ใช้แอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนเพื่อลดไข้ในผู้ป่วยที่โรคไข้เลือดออก

ยาลดไข้ที่ “แนะนำ” พาราเซตามอล

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้พาราเซตามอล (paracetamol) เป็นยาลดไข้ในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รวมทั้งผู้ที่มีไข้สูงด้วย โดยแม้ว่าพาราเซตามอลจะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่การรับประทานในขนาดสูงอาจทำให้เกิดพิษต่อตับ ตับอักเสบ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับวายได้

กินยาไข้เลือดออก

 ปัจจุบันมีข้อมูลการศึกษาการใช้พาราเซตามอลในผู้ป่วยไทยที่เป็นโรคไข้เลือดออกพบว่าผู้ป่วยที่มีไข้สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส ซึ่งรับประทานพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง มีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้ตับทำงานผิดปกติ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น ควรระวังการใช้พาราเซตามอลในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีภาวะตับอักเสบร่วมด้วย และควรมีการตรวจติดตามการทำงานของตับอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลของแพทย์

หนึ่งในอาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอย การรับประทานยาลดไข้จึงช่วยให้ไข้ลดลงได้ ดังนั้นการเลือกใช้ยาลดไข้ให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญ โดยยาลดไข้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่มีไข้สูงมาก (มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส) คือ พาราเซตามอล แต่ไม่ได้แนะนำให้ใช้ยากลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน และ แอสไพริน เพราะอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกผิดปกติได้ และหากรับประทานยาลดไข้ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาไปแล้ว 3-5 วัน แต่ไข้ยังไม่ลดลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อติดตามอาการของโรคทันที

ข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

วิธี ฝึกกล้ามเนื้อ “ป้องกันล้ม” ในผู้สูงวัย

เรื่องต้องรู้ เมื่อจะ “ล้างจมูก”

ลืมความกังวล ด้วยกิจกรรมง่ายๆ วันละ 5 นาที

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.