ผักหนาม

ผักหนาม พืชน้ำดึกดำบรรพ์ กินได้เป็นยา ไม่ค่อยเห็นกันแล้ว

ผักหนาม พืชน้ำดึกดำบรรพ์ ที่ไม่ค่อยพบเห็นกันแล้ว ชอบขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะมีน้ำขัง เช่น ริมน้ำ ริมคู คลอง หนอง บึง ร่องน้ำในสวน หรือบริเวณดินโคลนที่มีน้ำขัง

ชื่อสมุนไพรผักหนาม
ชื่ออื่นๆกะลี (มลายู, นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์Lasia spinosa (L.) Thwaites.
ชื่อพ้องDracontium spinosum L., Lasia aculeata Lour., L. crassifolia Engl., L. desciscens Schott, L. hermannii Schott, L. heterophylla (Roxb.) Schott, L. jenkinsii Schott, L. roxburghii Griff., L. zollingeri Schott, Pothos heterophyllus Roxb., P. lasia Roxb.
ชื่อวงศ์Araceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์    

ไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นเป็นเหง้าแข็งอยู่ใต้ดินทอดเลื้อย ทอดขนานกับพื้นดิน ตั้งตรงและโค้งลงเล็กน้อย ชูยอดขึ้น ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะมีน้ำขัง มีหนามแหลมตามลำต้น ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวลูกศร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก รอยเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบกว้างมากกว่า 25 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร มีหนามตามเส้นใบด้านล่าง ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าลึก 9 พู ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม ปลายแหลม ก้านใบรูปทรงกระบอก ยาว แข็ง ยาว 40-120 เซนติเมตร มีหนามแหลมตามก้านใบและเส้นกลางใบ

ดอกออกเป็นช่อเชิงลด ทรงกระบอก เป็นแท่งยาวเท่าๆกับใบ ประมาณ 4 เซนติเมตร แทงออกมาจากกาบใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 75 เซนติเมตรและมีหนาม มีดอกย่อยอัดกันแน่นเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใบประดับเป็นกาบสีน้ำตาลแกมเขียวถึงสีม่วง กาบหุ้มม้วนบิดเป็นเกลียวตามความยาวของกาบ ยาวได้ถึง 55 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อดอกแบบแท่งสแพดิก (spadix) ช่อดอกสีน้ำตาล ดอกตัวผู้อยู่ตอนบนและมีจำนวนมาก ดอกตัวเมียอยู่ตอนล่างและมีจำนวนน้อยกว่า

ผลเรียงชิดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก ผลสด หนาและเหนียว ผลอ่อนสีเขียวมีเนื้อนุ่ม ผลแก่สีเหลืองแกมแดง  ออกดอกราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน และเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พบตามริมคู คลอง หนอง บึง ตามร่องน้ำในสวน

ประโยชน์  

ด้านอาหาร ยอดและใบอ่อนของผักหนามนำมารับประทานด้วยการทำให้สุกหรือดองเสียก่อน เพราะในผักหนามมีสารไฮโดรไซยาไนด์ เหมือนกับผักเสี้ยน ซึ่งเป็นพิษต่อประสาทส่วนกลาง จึงค่อยนำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใส่แกงส้ม แกงไตปลา หรือนำมาผัดก็ได้

สรรพคุณ  ตำรายาไทย

  • ลำต้น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ต้มน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัดเหือด และไข้ออกผื่น สุกใส ดำแดง และใช้ถอนพิษ
  • ใบ แก้ปวดท้อง แก้ไอ
  • ราก ต้มน้ำให้เด็กแรกเกิดอาบ แก้เจ็บคอ
  • รากและใบ ใช้ขับเสมหะ
  • เหง้า เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ ต้มน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัด เหือด สุกใส ดำแดง และโรคผิวหนัง
  • ทั้งต้น แก้ปัสสาวะพิการ
  • ยอดอ่อนและใบอ่อนรับประทานเป็นผัก โดยนำมาลวก หรือต้มกับกะทิ หรือทำผักดอง กินกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงเป็นแกง แกงส้ม แกงไตปลา หรือผัด

ผักหนามมีกรดไฮดรอไซยานิคซึ่งเป็นสารพิษ จึงต้องนำไปทำให้สุกหรือดองก่อนรับประทานเพื่อกำจัดพิษ

ข้อมูลจาก – http://www.phargarden.com

คุณค่าทางโภชนาการ

ของผักหนาม 100 กรัม จะประกอบไปด้วย

  • พลังงาน 18 แคลอรี
  • โปรตีน 2.1 กรัม
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 2.0 กรัม
  • ใยอาหาร 0.8 กรัม
  • เถ้า 0.8 กรัม
  • วิตามินเอ 6,383 หน่วยสากล
  • วิตามินบี1 0.92 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี2 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี3 0.91 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 23 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 14 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.9 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม

ผักและผลไม้อื่นๆที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.