ใบเหลียงผัดไข่ เมนูเลื่องชื่อ ผักพื้นบ้านของภาคใต้ ที่คนภาคไหน ๆ ก็ชอบกิน ก็มันอร่อยนี่นา รสชาติหวาน มัน แถมมีประโยชน์มาก ครั้งนี้เพิ่มเติมคือใส่กุ้งแห้งด้วย มาดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลยค่ะ
ใบเหลียงผัดไข่
ส่วนผสม
ใบเหลียง | 2 | กำ |
น้ำมันพืช สำหรับผัด | 2 | ช้อนโต๊ะ |
กุ้งแห้ง | 1/8 | ถ้วย |
กระเทียมสับ | 1 | ช้อนชา |
ไข่ไก่ | 3 | ฟอง |
น้ำปลา | 1 | ช้อนชา |
น้ำมันหอย | 2 | ช้อนโต๊ะ |
น้ำตาลทราย | 1 | ช้อนชา |
วิธีทำ
- ล้างใบเหลียงให้สะอาด เลือกแต่ใบอ่อน พักไว้ (ถ้าใบใหญ่ก็หั่นหน่อยนะจ๊ะ เดี๋ยวติดคอ)
- ตั้งกระทะใส่น้ำมัน รอให้ร้อน ทอดกุ้งแห้งให้กรอบ ตักขึ้น พักไว้
- จากนั้นใส่กระเทียมเจียวจนหอม ตอกไข่ใส่ลงไป ยีเล็กน้อย
- ใส่ใบเหลียงลงผัด ปรุงรสด้วย น้ำมันหอย น้ำปลา และน้ำตาลทราย ชิมรสตามชอบ
- ใส่กุ้งแห้งลงไป ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง
- ตักใส่จานเสิร์ฟได้ทันที
ใบเหลียง ผักพื้นบ้านทางภาคใต้
ใบเหลียง หรือผักเหลียงที่เรารู้จักกันนั้น ราชินีแห่งผักพื้นบ้านของภาคใต้เลยก็ว่าได้ เนื่องจากว่ามีคุณค่าทางอาหารมากมายเหลือเกิน มีชื่อเสียงโด่งดังมาก จากเมนูใบเหลียงผัดไข่ ด้วยความอร่อย รสชาติหวาน มัน จนคนภาคไหน ๆ ก็ชอบกิน
A Cuisine เลยอยากชวนเพื่อน ๆ มารู้จัก “ผักกินใบ” ชนิดนี้ กันมากยิ่งขึ้นค่ะ
ใบเหลียง มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรมลายู แต่เป็นผักที่หาได้ตามบริเวณเชิงเขาและที่ราบของภาคใต้บ้านเรา เดิมใบเหลียงเป็นผักป่าขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ต่อมามีการนิยมบริโภคกันมากขึ้น ชาวบ้านจึงทดลองนำมาปลูกร่วมกับยาง และค้นพบว่าใบเหลียงนั้นมีใบที่งามและมีรสชาติอร่อย จึงขยายพันธุ์และปลูกกันเป็นพืชเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน
ใบเหลียงมีชื่อเรียกได้หลายชนิด เช่นในแถบจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต จะเรียกกันว่า ผักเหมียง, ผักเมี่ยง จังหวัดนครศรีธรรมราชจะเรียกว่า ผักเปรียง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อใบเหลียงหรือผักเหลียงนั่นเอง ใบเหลียงนั้นมีรสชาติหวานมัน ออกขมและติดฝาดเพียงเล็กน้อย ซึ่งมักใช้รับประทานคู่กับอาหารที่มีรสชาติเผ็ดจัดเพื่อตัดรสจัดจ้าน ลดความเผ็ดลงได้ค่อนข้างดี
และในผักเหลียงนั้น ยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินเอ วิตามินซี ไนอะซีนอยู่ด้วย ทำให้ใบเหลียงมีสรรพคุณบำรุงสายตา ลดความเสื่อมของลูกตา ลดความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก เพราะมีสารเบต้าแคโรทีนอยู่มากไม่ต่างจากแครอท ถัดมาคือสรรพคุณที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็ง กระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อทานยอดอ่อนของใบเหลียง จะช่วยแก้กระหายน้ำได้ดีขึ้นด้วย
โอ้โห … ประโยชน์เยอะแยะมากมายขนาดนี้ อร่อยดีต่อสุขภาพ อย่าลืมไปหารับประทานกันนะคะ
ข้อมูลทางโภชนาการ
ใบเหลียงปริมาณ 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
พลังงาน | 100 | กรัม |
น้ำ | 75.1 | กรัม |
โปรตีน | 6.6 | กรัม |
ไขมัน | 1.2 | กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 15.8 | กรัม |
ไฟเบอร์ | 8.8 | กรัม |
เถ้า | 1.3 | กรัม |
แคลเซียม | 151 | มิลลิกรัม |
ฟอสฟอรัส | 224 | มิลลิกรัม |
ธาตุเหล็ก | 2.5 | มิลลิกรัม |
วิตามินเอ | 1089 | ไมโครกรัม |
ไทอามิน | 0.18 | มิลลิกรัม |
ไรโบฟลาวิน | 0.75 | มิลลิกรัม |
ไนอะซิน | 1.7 | มิลลิกรัม |
วิตามินซี | 192 | มิลลิกรัม |
ขอบคุณข้อมูลจาก
- กองโภชนาการ กรมอนามัย
- Openrice
#ACuisine #เอควิซีน #CherryKitCook #Recipes
อยากกิน อยากฟิน อยากทำ อย่าลืมติดตาม A Cuisine (เอควิซีน)
📌Website: https://cheewajit.com/healthy-food
📌Messenger : http://m.me/AcuisineTH
📌Instagram : www.instagram.com/acuisine.th/
📌Pinterest : www.pinterest.com/AcuisineTH/