ช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาล ปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ หลายคนก็เริ่มมีอาการของ โรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ กันแล้ว
เมื่อกล่าวถึงภาวะ “ไข้” จาก โรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ ส่วนที่คล้ายกัน คือ อุณหภูมิในร่างกายสูง ปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว บางรายมีผื่นแพ้ร่วมด้วย แต่ในกรณีของไข้หวัดใหญ่ จะมีระดับความรุนแรงมากกว่า ซึ่งอาการเหล่านี้สร้างความทรมานและรำคาญใจให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
คอลัมน์ เยียวยาก่อนหาหมอ(สูตรใหม่) มีสูตรเยียวยาตัวเองที่บ้าน เพื่อลดอาการดังกล่าวมาฝากคุณผู้อ่านเพื่อไว้ใช้ดูแลตัวเองหรือคนที่เรารักในยามป่วยไข้กันค่ะ
ชารวมสมุนไพรลดไข้
คุณหมอเหมาชิง หนี่ หรือ คุณหมอเหมา แพทย์จีนชื่อดัง เจ้าของหนังสือ Secret of Self-Healing อธิบายไว้ในหนังสือของเขาว่า ตามหลักการแพทย์แผนจีนเชื่อว่า อาการไข้จากโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่มาจากการรับลมปราณเย็น (Wind Cold) เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นควรเพิ่มลมปราณร้อน (Wind Heat) ด้วยการกินอาหารอุ่น ๆ เพื่อเยียวยาอาการ
วันนี้มีสูตร “ชารวมสมุนไพร” ลดอาการไข้จากคุณหมอเหมามาฝากกันค่ะ
ส่วนผสม
กระเทียมสับ 1 กลีบ
ขิงสไลซ์เป็นแผ่นบาง 2 – 3 แผ่นบาง
ต้นหอมสับ 1 ต้น
อบเชยแห้ง (ชิ้นเล็ก) 1 ชิ้น
น้ำสะอาด 3 ถ้วย
วิธีทำ
นำทุกอย่างมาต้มรวมกัน ปล่อยให้เดือดนาน 5 นาที ปิดไฟ ดื่มขณะอุ่น จากนั้นนอนพัก ระหว่างนอนพัก ร่างกายจะขับเหงื่อออกมาปริมาณมาก ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า
เหงื่อเหล่านี้จะขับเชื้อโรคที่ทำให้มีอาการไข้ออกมาด้วย จึงทำให้ไข้ลดลงได้
เทคนิคกดจุดลดไข้
นอกจากสูตรชาลดไข้แล้ว คุณหมอเหมา ยังแนะนำการกดจุดแผนจีนเพื่อลดไข้อีกด้วย โดยแนะนำให้กด 2 จุดสำคัญดังนี้ค่ะ
จุดเหอกู่ (He Gu)
ใช้นิ้วโป้งซ้ายกดบริเวณรอยต่อระหว่างโคนนิ้วชี้กับโคนนิ้วโป้งของมือขวา ออกแรงกด
จนรู้สึกเจ็บในระดับหนึ่ง กดค้างไว้ 2 นาที จากนั้นทำสลับข้าง ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า การกดจุดนี้จะส่งเสริมให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยขับพิษสะสมในร่างกายด้วย
จุดเฟิงชี่ (Feng Chi)
ใช้นิ้วโป้งขวากดบริเวณฐานกะโหลกด้านขวา โดยเริ่มจากการกดแนวตรง จากนั้นก็ดันขึ้นด้านบน โดยให้ศีรษะออกแรงต้านนิ้วที่กดลงไปด้วย จากนั้นทำสลับข้าง จะช่วยลดอาการปวดหัวลงได้
สูดไอร้อนลดไข้
คุณหมอเดวิด คีย์เฟอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวจากวิทยาลัยการแพทย์วอชิงตัน แนะนำว่า การสูดไอร้อนนอกจากจะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจโล่งและลดอาการไอที่เกิดขึ้นจากโรคหวัดได้แล้ว ไอน้ำที่สูดเข้าไปในระยะสั้น ๆ ยังช่วยลดไข้ได้อีกด้วย มีวิธีง่าย ๆ 2 วิธี คือ
- อาบน้ำอุ่นทุกวัน เพื่อสูดไอน้ำเข้าไประหว่างอาบน้ำ วิธีนี้ควรใช้กับผู้ที่มีไข้ไม่สูงนักที่สามารถทรงตัวระหว่างอาบน้ำได้ และไม่ควรอาบนานจนเกินไป โดยมีข้อพึงระวังคือ ต้องทำความสะอาดห้องน้ำให้ปราศจากเชื้อราเสมอ
- กระโจมผ้าขนหนู วิธีง่าย ๆ คือ ต้มน้ำให้เดือด นำหม้อต้มน้ำลงจากเตา จากนั้นนำผ้าขนหนูผืนใหญ่คลุมศีรษะในลักษณะกระโจม หลับตา ก้มลงสูดไอร้อนที่ระเหยจากหม้อนานครั้งละ 30 วินาที โดยเว้นระยะห่างระหว่างใบหน้ากับหม้อพอสมควร จากนั้นพักสักครู่จึงค่อยทำซ้ำ
สามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการจนอาการไข้และหายใจติดขัดดีขึ้น อีกทั้งสามารถเติมน้ำมันหอมระเหยกลิ่นเปปเปอร์มินต์ หรือกลิ่นยูคาลิปตัสลงไปได้ 1 – 2 หยด เพื่อช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น
ไข้หวัดใหญ่ VS ไข้หวัด
แม้จะมีอาการบางอย่างคล้ายกัน แต่ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า ไข้ทั้งสองชนิดมีสาเหตุของการเกิดโรคมาจากไวรัสคนละตัวกัน โดยโรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัสไรโน (Rhinoviruses) และไวรัสโคโรนา (Coronaviruses) ขณะที่ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Viruses) ที่สำคัญ นอกจากจะมีอาการรุนแรงกว่าแล้ว ไข้หวัดใหญ่อาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ เช่น โรคปอดบวม โรคหืด หรือการอักเสบรุนแรงที่หูชั้นกลาง โพรงไซนัส กล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงเยื่อหุ้มสมอง
นอกจากวิธีที่กล่าวมานี้ แนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองด้วยวิธีพื้นฐานร่วมด้วย ทั้งการดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือบ่อย ๆ และงดเดินทางไปในที่ชุมชนเพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นนะคะ
เพียงเท่านี้คุณก็จะลดความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้แล้ว
เรื่อง สุนิสา สมคิด ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 459 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 16 พฤศจิกายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
10 ข้อต้องรู้ ป้องกันและรักษา ไข้หวัดใหญ่
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์