หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรมองข้าม
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้ว นำมาซึ่งโรคพ่วงและภาวะแทรกซ้อนมากมาย หนึ่งในอาการที่อันตรายและไม่ควรมองข้ามก็คือ หลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งจัดเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนกลางลำตัว และคุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรทั่วโลกและของผู้ป่วยเบาหวาน เรามาดูกันว่าจะสามารถหยุดยั้งโรคแทรกได้อย่างไรบ้าง
หยุดเบาหวาน สลายหลอดเลือดหัวใจตีบ
รองศาสตราจารย์นายแพทย์องอาจ วิพุธศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน เวชศาสตร์เขตร้อน สาธารณสุขศาสตร์ อธิบายว่า
“การมีน้ำตาลในเลือดสูงก็เปรียบเหมือนเลือดกลายเป็นเลือดเชื่อม เมื่อเลือดเชื่อมไหลไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย หลอดเลือดทั้งหมดจึงอยู่ในสภาวะแช่อิ่ม ผนังหลอดเลือดซึ่งมีเอนโดทีเลียลเซลล์ (Endothelial Cell) ก็จะแข็งตัว หยุดการเจริญ ทำหน้าที่ไม่ได้ แทนที่จะมีเอนไซม์ต่างๆซึ่งจะทำให้เส้นเลือดดี ใช้งานได้นาน กลับกลายเป็นเสื่อมหมด เสียความยืดหยุ่นและเปราะแตกง่าย”
และเพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด มีเลือดไหลผ่านในปริมาณมาก ผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีภาวะใกล้เป็นเบาหวานที่ไม่ดูแลตัวเองจึงมักอยู่ในภาวะเหมือนหัวใจแช่อิ่มและเป็นโรคหัวใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เมื่อเส้นเลือดฝอยในหัวใจหนาขึ้น การไหลเวียนของเลือดก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อาจผ่านได้แค่ทีละเม็ดเลือดอย่างติดขัด และที่สุดเมื่อผ่านไม่ได้ ก็ไม่สามารถนำออกซิเจนและสารอาหารเข้าไปเลี้ยงเซลล์บริเวณนั้นได้ แม้เกิดขึ้นแค่เพียงจุดใดจุดหนึ่งหรือสะดุดแค่เพียงนิดเดียวก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นำมาซึ่งอาการต่างๆ เช่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ปวดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวายได้
“นอกจากนี้ ผนังหลอดเลือดที่หนาขึ้นยังส่งผลให้หัวใจต้องบีบตัวอย่างหนักเพื่อให้เลือดไปหล่อเลี้ยงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย ซึ่งหากความดันโลหิตสูงเกิน 145/100 มิลลิเมตรปรอทต่อเนื่องนานเป็นปีๆ ก็จะทำให้หัวใจห้องซ้ายบนโตและทำให้เส้นเลือดเริ่มตีบและแข็งตัวนำไปสู่เส้นเลือดหัวใจแตกหรือตีบทำให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นตายในที่สุด”
ใน กรณีผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย มักมีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจอย่างกะทันหัน แม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะฉีดยาละลายลิ่มเลือดหรือขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูน เพื่อช่วยรักษากล้ามเนื้อหัวใจให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนหลังเกิดอาการเพื่อให้ทันการณ์
ทางที่ดีจึงควรป้องกันแต่เนิ่นๆด้วยวิธีที่คุณหมอแนะนำต่อไปนี้
คู่มือป้องกันโรคหัวใจจากเบาหวาน
คุณหมอองอาจเปรียบร่างกายเสมือนชามข้าว หากเติมอาหารที่มีแต่แป้ง น้ำตาล และไขมัน ก็ยิ่งเพิ่มคราบข้นเหนียวเกาะติดชาม หากทิ้งไว้ ชามจะสกปรกจนเกรอะกรังดังนั้นท่านจึงแนะให้
1. ออกกำลังกายทุกวัน
อุปมาเหมือนการล้างชามสกปรกทุกวัน ทำให้ชามสะอาด หลอดเลือดไม่อุดตัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 – 40 นาที โดยเลือกการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เร็วกว่าการเดินธรรมดาอย่างต่อเนื่อง เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ รำกระบอง จึงจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
2. กินให้อายุยืน
คือ เป็นคนอ่อนหวาน ไม่เป็นคนเค็มและมัน (กินหวานน้อย ไม่กินรสเค็มและของมัน) และกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว ขม เผ็ด โดยเฉพาะรสเปรี้ยวที่มีประโยชน์ช่วยล้างเม็ดเลือด เส้นเลือดฝอย และท่อเล็กท่อน้อยทั่วร่างกายให้สะอาดได้
3. หมั่นตรวจสุขภาพ
ผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงควรเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจระดับการทำงานของหัวใจอย่างน้อยปีละครั้ง และหมั่นตรวจเช็กระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) อย่างน้อยปีละครั้ง และดูแลตัวเองไม่ให้ระดับน้ำตาลสะสมสูงกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
เพียงเท่านี้ก็หยุดโรคหัวใจจากเบาหวานได้แล้วค่ะ
อยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานเพิ่มเติม หรือมีคำถามคาใจอยากถามผู้เชี่ยวชาญ
ชีวจิตชวนคุณผู้อ่านไปงานนี้เลย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิธีง่ายๆ แค่ “เดิน” ก็ลดเสี่ยงเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือดได้
สารพัดวิธีป้องกัน โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ตอนที่ 1 หลอดเลือดสมอง
แนะนำการกินอาหารสำหรับคนเป็นโรคเบาหวานพ่วงโรคไต
สำรวจอาการเบาหวาน จะรู้ได้อย่างไรเมื่อเป็นโรคยอดฮิต