เกิดเหตุสังหารหมู่ผู้พิการในจังหวัดคานากาวะ ประเทศ ญี่ปุ่น เมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) โดยผู้ต้องหาบุกเข้าศูนย์ผู้พิการด้วยการพังหน้าต่าง จับพนักงานมัด ขโมยกุญแจ และใช้มีดแทงผู้พิการที่นอนหลับอยู่ทีละคน จนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 19 ราย และบาดเจ็บอีก 25 ราย
นายชินยะ ซากูมะ ผู้บริหารด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ประจำจังหวัด เผยว่า นายซาโตชิ อูเอมัทสึ ผู้ต้องหาในเหตุการณ์ เคยเป็นพนักงานในศูนย์พิการดังกล่าว
หลังจากเสร็จภารกิจ นายซาโตชิเข้ามอบตัวกับตำรวจด้วยตัวเอง โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายซาโตชิเคยเขียนจดหมายถึงนายทาดาโมริ โอชิม่า ผู้ร่างกฎหมายชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า ตั้งใจจะกำจัดผู้พิการ 470 ราย ซึ่งศูนย์ผู้พิการที่เกิดเหตุ มีผู้พิการทั้งหมดประมาณ 160 ราย
จดหมายมีใจความว่า นายซาโตชิอยากให้ผู้พิการซ้ำซ้อนสามารถทำการุณยฆาตได้ เพราะคนเหล่านี้ใช้ชีวิตในสังคมลำบาก สร้างความลำบากให้สังคม และยังไม่มีใครสามารถออกแบบหนทางใช้ชีวิตที่ดีให้คนเหล่านี้ได้ ดังนั้นการฆาตรกรรมครั้งนี้จึงถือเป็นการตัดสินใจเพื่อมวลมนุษยชาติ นอกจากนี้การฆ่าผู้พิการจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก และป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสุขภาพจิตท้องถิ่น เผยว่า นายซาโตชิเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิตเวช เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ และยังตรวจพบว่าใช้กัญชา แต่ก็ออกจากโรงพยาบาลในเดือนถัดมา
ญี่ปุ่นเองเป็นประเทศที่ถือว่า มีสถิติอาชญากรรมต่ำเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว พฤติกรรมรุนแรงเช่นนี้อาจพบได้ไม่บ่อย แต่ทุกครั้งที่เกิดมักมีความรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น…
– ปี 1995 เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เลวร้ายที่สุดโดยกลุ่มโอมชินริเกียวที่มีความเชื่อในวันสิ้นโลก นำแก๊สพิษซารินมาปล่อยในขบวนรถไฟใต้ดิน คร่าชีวิตผู้โดยสารและพนักงานรถไฟฟ้าไปจำนวน 13 คน พร้อมด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสูดดมก๊าซพิษอีกกว่า 6,000 คน
– ปี 2001 เกิดเหตุการณ์ชายมีอาการป่วยทางจิต ไล่แทงเด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมที่เมืองโอซากาเสียชีวิต 8 คน และบาดเจ็บอีก 15 คน
– ปี 2008 เกิดเหตุชายขับรถบรรทุกพุ่งใส่ย่านอากิฮาบาระในกรุงโตเกียว ก่อนจะปืนลงจากรถเพื่อใช้มีดไล่แทงคนที่ผ่านไปมา จนมีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บอีก 10 คน
ในความโหดร้ายก็มีข้อควรสังเกตเช่นกัน เพราะเหตุการณ์ร้ายในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่คนร้ายมักใช้อาวุธมีดแทนการใช้ปืนอย่างในประเทศที่เกิดเหตุอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มงวดในกฎหมายการครอบครองอาวุธปืน
แต่ถึงกระนั้นเหตุการณ์โศกนาฎกรรมครั้งล่าสุดนี้ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2
สำหรับในบ้านเรา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยถึงเรื่องภาวะซึมเศร้าว่า จากรายงานการศึกษาของธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้วิจัยออกมาว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 สาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้น ให้คนมีโอกาสเกิดอาการคือ ความเครียด อย่างไรก็ตามประเทศไทยภาวะซึมเศร้าถือเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าจับตามอง และสังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
หากใครรู้ตัวหรือมีคนใกล้ชิด ที่เข้าข่ายเสี่ยงกับโรคภาวะซึมเศร้า แนะนำให้เข้าพบจิตแพทย์และกินยาตามที่แพทย์สั่ง โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้
ภาพจาก : manager.co.th
ที่มา: เอ็นบีซีนิวส์ (NBC News) , กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ข้อมูลเรื่อง “สลด ! ญี่ปุ่น เกิดเหตุสังหารหมู่ผู้พิการ” เขียนโดย ธปัน เรียบเรียงเพิ่มเติมโดย ดวงพร เจียรสุธรรมพร เผยแพร่ใน www.cheewajit.com