ผู้ป่วยมะเร็ง กับการฉีดวัคซีนโควิด-19
สำหรับ ผู้ป่วยมะเร็ง โดยปกติแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างต่ำกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว หากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่อาการของโรคจะรุนแรงมากขึ้นและร่างกายจะต่อสู้กับเชื้อได้น้อยลง จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้
ว่าด้วยผู้ป่วยมะเร็งกับโรคโควิด-19
ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากหากได้รับเชื้อโควิด-19 เพราะร่างกายมีภูมิต้านทานที่ต่ำกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงที่เชื้อจะอยู่ในร่างกายได้นานกว่าและเกิดอาการรุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีน-19 โดยเร็ว แต่ผู้ป่วยมะเร็งมีหลายกลุ่ม เพื่อให้การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพที่สุดควรได้รับการฉีดให้เหมาะสม ในผู้ป่วยที่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ทันที คือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ผ่านการวินิจฉัยแล้วแต่ยังไม่ได้รับการรักษา หรืออยู่ในขั้นตอนการรักษารับประทานยาและพบแพทย์ทุกเดือน รวมทั้งผู้ป่วยที่รักษาจนหายแล้วที่ไม่มีประวัติแพ้วัคซีน ในผู้ป่วยมะเร็งที่รับการผ่าตัดควรฉีดวัคซีนก่อนหรือหลังการผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ที่ปลูกถ่ายไขกระดูกจะต้องเว้นระยะให้ร่างกายฟื้นตัวและไม่มีภาวะแทรกซ้อนปรากฏหลังการรักษาประมาณ 3 เดือน จึงจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันที่ได้รับยาเคมีบำบัดทำลายเซลล์มะเร็ง ให้ฉีดวัคซีนเมื่อเกณฑ์ของเม็ดเลือดขาวมีระดับปกติ และในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รับยาฉีด อาทิ ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า ยาฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และที่ได้รับรังสีรักษา ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในส่วนของญาติผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุดเช่นกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ป่วย
เมื่อต้องฉีดวัคซีน
ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 6-7 ชั่วโมง ดื่มน้ำ 500-1000 ซีซี เลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด ถ้ามีอาการไข้ไม่สบายให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน ไม่ควรกินยาที่ไม่ใช่ยารักษาโรคประจำตัวหรืออาหารเสริมก่อนเข้ารับวัคซีน การดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีนหากมีไข้หรือปวดศีรษะสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หากมีผื่นลมพิษ ไข้สูงมาก หน้ามืด เป็นลม แขนขาอ่อนแรง เจ็บหน้าอกให้พบแพทย์ทันที ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย รักษาระยะห่างทางสังคม และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดหมายทั้ง 2 เข็ม หากมีคำถามหรือข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวทันที
นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถฉีดวัคซีนได้ทุกตัว โดยต้องเป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขแล้วเท่านั้น
(ที่มา : โรงพยาบาลกรุงเทพ)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วัคซีนผู้สูงอายุ มีอะไรบ้างที่ต้องฉีด เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง
รีวิวอาการ แพ้วัคซีน ซิโนแวค
ผลข้างเคียงวัคซีนซิโนแวค – แอสตร้าฯ ต่างกันอย่างไร