รายงานประเมินแนวโน้มความเสี่ยงปี 67 เผย ภาวะหมดไฟในวัยทำงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

  • 80% ของผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงที่มีส่วนร่วมในการสำรวจความคิดเห็น เชื่อว่าความเครียดและภาวะหมดไฟมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจและพนักงานในปีนี้
  • 72% เชื่อว่า ปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและพนักงานอย่างมาก
  • 75% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เชื่อว่า ผู้คนคาดหวังเกี่ยวกับการดูแลพนักงานมากขึ้น ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ปัจจุบัน ภาวะหมดไฟในการทำงานและความเหนื่อยล้าถูกมองว่าเป็นความรับผิดชอบขององค์กรที่จะต้องบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น

ท่ามกลางวงจรวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) บริษัทผู้ให้บริการด้านสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยชั้นนำของโลก ได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากรายงานประเมินแนวโน้มความเสี่ยง ประจำปี 2567 (The Risk Outlook 2024) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ภาวะหมดไฟของพนักงานที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลายเป็นปัญหาที่สำคัญ รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องความท้าทายที่สำคัญที่องค์กรต้องเผชิญ โดย 2 ใน 3 ของผู้เชี่ยวชาญที่ตอบแบบสำรวจมองว่า การสร้างความเชื่อมั่นในด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความปลอดภัยของพนักงานในปีนี้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลเชิงลึกจากรายงานดังกล่าว อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส จึงได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการบริหารจัดการกับความเครียดและภาวะหมดไฟของพนักงานอย่างจริงจัง

ผลกระทบสะสมที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดส่วนบุคคล เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการแบ่งขั้วทางการเมือง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละบุคคล วิกฤตที่ทับซ้อนกันเหล่านี้ยิ่งผลักดันให้เกิดภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต (permacrisis) ซึ่งเป็นวงจรของสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การเผชิญกับวิกฤตเป็นเวลานานมีส่วนทำให้อาการหมดไฟของพนักงานเพิ่มสูงขึ้น โดยภาวะหมดไฟนี้สามารถจำแนกได้จากความรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์และประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้น ตลอดจนเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอื่น ๆ ดังนั้น นายจ้างจึงจำเป็นต้องหันมาจัดการกับภาวะวิกฤตแบบเชิงรุกแทนที่จะจัดการแบบเชิงรับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดผลกระทบเชิงลบจากทั้งภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตและภาวะหมดไฟภายในที่ทำงาน

นพ.จามร เงินจารี ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวโดยเน้นย้ำถึงความรุนแรงของสถานการณ์ว่า “สถานการณ์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลเกี่ยวกับภาวะหมดไฟที่เกิดขึ้นในที่ทำงานทั่วโลก เราพบเห็นปัจจัยต่าง ๆ ที่ทับซ้อนกัน ซึ่งครอบคลุมถึงปริมาณงานที่มากขึ้น การขาดสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและคาดเดาไม่ได้ ความท้าทายเหล่านี้ทำให้พนักงานต้องเผชิญกับสภาวะที่ไม่คุ้นเคยและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นสภาพที่ขอบเขตระหว่างการทำงานและความเป็นอยู่มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นปัญหาที่แพร่หลายในหลายองค์กร จนถึงจุดที่องค์กรต้องหันมาใส่ใจและหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน นายจ้างจะต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้และใช้มาตรการป้องกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงและต้นตอของอาการหมดไฟอย่างลึกซึ้ง จากนั้นจึงพุ่งความสนใจไปที่การออกแบบเนื้องานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวมของพนักงานและประสิทธิภาพการทำงานที่ยั่งยืน”

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ และคำแนะนำเพื่อจัดการกับภาวะหมดไฟของพนักงาน 5 ข้อ ดังนี้:

  1. ส่องสัญญาณภาวะหมดไฟ: จัดให้มีการพูดคุยกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสุขภาวะและค้นหาสัญญาณเริ่มต้นของภาวะหมดไฟในการทำงานตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงฝึกอบรมผู้จัดการให้สามารถแยกแยะสัญญาณของภาวะหมดไฟ ตลอดจนจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการสนับสนุนทีมงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ใช้มาตรการเชิงรุก: ใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อจัดการกับภาวะหมดไฟด้วยโครงการที่ช่วยสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงบริการให้คำปรึกษา หรือโครงการช่วยเหลือพนักงาน
  3. ส่งเสริมความยืดหยุ่นในองค์กร: เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น ด้วยการส่งเสริมให้พนักงานสามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว พร้อมทั้งจัดหาสิ่งสนับสนุนที่จำเป็นให้กับพนักงานที่ต้องการความช่วยเหลือ
  4. วางแผนกลยุทธ์: จัดทำแผนการจัดการภาวะวิกฤตอย่างครอบคลุม ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดโดยเฉพาะ รวมถึงกำหนดมาตรการในการจัดสรรงานในช่วงที่มีความกดดันสูง และจัดตั้งกลไกเพื่อเฝ้าติดตามและดูแลสุขภาวะของพนักงาน
  5. ผนึกกำลังร่วมมือกัน: สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกกับองค์กร เพื่อนำความรู้ความชำนาญเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้รับมือกับความเครียดและเสริมสร้างสุขภาวะของพนักงาน

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ท่าออกกำลังกายปรับบุคลิกภาพ ทำง่าย หายหลังค่อม
แนะวิธีจับคู่ สมุนไพรรักษาโรค บำรุงเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

ติดตามชีวจิตได้ที่
Instagram : Cheewajitmedia
Facebook : นิตยสาชีวจิต

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
Tanatat
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.