3 เลเวล + ตารางแก้ปัญหา ติดโซเชียล ของผู้สูงอายุ
ทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงเด็ก ๆ เท่านั้นที่ติดเกมออนไลน์หรือ ติดโซเชียล มีเดียแต่ยังมีคนอีกหนึ่งกลุ่มซึ่งมีปัญหาไม่แพ้กัน นั่นคือผู้สูงวัย
นายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 ประจำกรมสุขภาพจิต พร้อมเผยวิธีแก้ไขปัญหาที่ทำได้ไม่ยาก แต่ได้ผลชะงัด
Level 1 ทบทวนชีวิตที่อาจตกหล่น
การใช้สื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย นอกจากเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงแล้ว หลายคนยังใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เพื่อเติมเต็มชีวิตส่วนที่ขาดหายไปอีกด้วย
ทางจิตวิทยาเชื่อว่า ความสุขหรือคุณภาพชีวิตไม่ได้เป็นผลมาจากความสำเร็จหรือความสุขจากการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับคนใกล้ตัว รวมถึงการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน
ผู้สูงวัยหลายท่านที่ไม่ได้ทำงานประจำอาจมองเห็นคุณค่าในตัวเองลดน้อยลง ยิ่งหากผู้สูงวัยท่านนั้นห่างเหินกับลูกหลานหรือคู่สมรส หรืออาจไม่ได้พบปะเพื่อนฝูง หรือมีข้อจำกัดด้านสุขภาพจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามที่ต้องการได้ ทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงวัยหลายท่านเลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาเติมเต็มความสุขทดแทนโดยไม่รู้ตัว จึงทำให้เสพติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ได้ง่าย
ลูกหลานช่วยท่านได้
ลูก ๆ หลาน ๆ มีส่วนช่วยให้ผู้สูงวัยที่คุณรักลดพฤติกรรมการติดโซเชียลให้น้อยลงได้ โดยอาจเริ่มจากการเข้าไปสวมกอดท่าน พร้อมหอมแก้มเบา ๆ แล้วพูดว่า “คุณย่าเล่นไลน์ ไม่มีใครกอดคุณย่าได้อุ่นแบบนี้นะคะ หนูอยากให้คุณย่ามานั่งคุยกับหนูหน่อยได้ไหมคะวันนี้หนูมีเรื่องจะเล่า (หรือปรึกษา) คุณย่าเยอะแยะเลยค่ะ”
เพียงเท่านี้ก็แสดงให้ท่านเห็นว่าความสัมพันธ์ที่แท้จริงย่อมมีคุณค่าและมีความหมายมากกว่าความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์อย่างแน่นอน
Level 2 มองข้อดี – ข้อเสียให้ออก
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมไปถึงสื่อหรือสังคมออนไลน์มีประโยชน์มากมาย ทั้งการรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็วทันใจ เพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารที่สะดวกสบายเพียงแค่ปลายนิ้ว แต่อย่าลืมว่า หากเผลอใช้สื่อเหล่านี้มากเกินไปหรือใช้ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ ย่อมส่งผลเสียกับชีวิตได้มากไม่แพ้กัน
ผลกระทบโดยตรงต่อผู้สูงวัยคือปัญหาสุขภาพ ลดสัดส่วนของการพักผ่อน หรืออาจรับประทานอาหารไม่ตรงเวลารวมถึงออกกำลังกายน้อยลง อีกทั้งยังอาจมีปัญหาสัมพันธภาพกับคนใกล้ชิด เพราะมีเวลาให้กันน้อยลง ที่สำคัญ ผู้สูงวัยหลายคนกลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย เนื่องจากถูกรบกวนระหว่างที่เพลิดเพลินกับสังคมออนไลน์
Level 3 ปรับตารางชีวิตให้สมดุล
หลังจากทบทวนข้อดี – ข้อเสียของการใช้สื่อออนไลน์ไปแล้ว ลองมาจัดตารางเวลาในแต่ละวันกันใหม่ เพื่อให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น หลักสำคัญคือการคงไว้ซึ่งพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ทั้งการรับประทานอาหารที่เหมาะสมตรงเวลา การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการจัดเวลาสำหรับกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เข้าสปา รวมถึงพบปะสังสรรค์หรือใช้เวลาร่วมกับคนอื่นอย่างเหมาะสม หลังจากนี้ในช่วงเวลาว่างคุณปู่คุณย่าจะใช้สื่อออนไลน์ก็ไม่ผิดกติกาอะไร
ตัวอย่างตารางเวลาสำหรับผู้สูงวัย
7.00 น. - 8.00 น. ออกกำลังกายหรือโยคะเบา ๆ เช่น เดินเร็ว แกว่งแขน
8.00 น. - 9.00 น. รับประทานอาหารเช้าพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว
9.00 น. - 12.00 น. ช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อยๆ หรือช่วยเหลือกิจการของครอบครัวตามกำลัง (อาจเน้นที่การเก็บหรือนับเงินเป็นหลัก)
12.00 น. - 13.00 น. รับประทานอาหารกลางวันพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว
13.00 น. - 14.00 น. ท่องโลกออนไลน์ #1 เช่น เล่นไลน์ เฟซบุ๊กอ่านข่าว หรือดูละครย้อนหลังในยูทูบ
14.00 น. - 15.30 น. พักสายตาสักหน่อย งีบหลับได้ตามอัธยาศัย
15.30 น. - 16.00 น. ชวนสมาชิกในครอบครัวรับประทานอาหารว่างด้วยกัน
16.00 น. - 18.00 น. ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านตามความสนใจ เช่น เข้ากลุ่มรำไม้พลอง แอโรบิก เข้าสปา / ร้านเสริมสวย
18.00 น. - 19.00 น. รับประทานอาหารเย็นพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว
19.00 น. - 20.30 น. กิจกรรมครอบครัว เช่น นั่งดูละครด้วยกันเล่นเกม / ไพ่เพื่อลับสมอง
20.30 น. - 21.30 น. ท่องโลกออนไลน์ #2
21.30 น. - 22.00 น. กิจกรรมผ่อนคลาย นั่งสมาธิ สวดมนต์เตรียมตัวเข้านอน
เรื่อง นายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ เรียบเรียง ชลธิชา แสงใสแก้ว