วิตามินดี สำหรับผู้สูงอายุ มีความสำคัญอย่างมากต่อผู้สูงอายุ เพราะอะไรนั้นเรามีคำตอบ
วิตามินดี สำหรับผู้สูงอายุ หากกินในปริมาณที่เหมาะสม ย่อมเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งคุณทราบหรือไม่ว่า ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพในการสังเคราะห์วิตามินD จากแสงแดดจะลดลงต่ํากว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับคนอายุ 20 ปี หากเป็นเช่นนี้ ผู้สูงอายุควรกินผลิตภัณฑ์วิตามินD เสริมหรือไม่ เรามาหาคําตอบเรื่องนี้กันเถอะ
วิตามิน D เสริม จําเป็นสําหรับผู้สูงอายุหรือไม่
วิทยาลัยการสาธารณสุขฮาร์วาร์ด ที.เอช.ชาน ยืนยันว่า การที่ร่างกายได้รับปริมาณวิตามินD ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังของกระดูกและข้อ ขณะที่วิทยาลัยการแพทย์ในเครือเดียวกัน ให้ข้อมูลเสริมว่า การขาดวิตามินดังกล่าว โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคซึมเศร้ามากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในการกินวิตามินตัวดังกล่าวเสริม พันเอกหญิงแพทย์หญิงสุมาภา ชัยอํานวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แนะนําไว้ในคอลัมน์บทความ นิตยสารชีวจิต(ฉบับที่409) โดยอ้างข้อมูลจากสถาบันการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ในกรณีที่ร่างกายมีปริมาณวิตามินดีไม่เพียงพอ สามารถกิน วิตามิน D เสริมได้วันละ 600–4,000 ยูนิต
ผู้สูงอายุจะรู้ได้อย่างไรว่า ร่างกายขาดวิตามิน D
บทความหนึ่งของ วิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด ระบุว่า สามารถตรวจระดับวิตามิน D ในร่างกายได้ ด้วยการเจาะเลือดเพื่อหาค่าดังกล่าว โดยปริมาณวิตามิน D ที่เหมาะสม ควรอยู่ระหว่าง 20–40 นาโนกรัม/มิลลิลิตร
การกินวิตามิน D เสริม มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ส่งผลเสียอย่างไร นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก และ คอลัมนิสต์ชื่อดัง ได้ให้ข้อมูลไว้ในบล็อกตอบปัญหาสุขภาพของท่านว่า วิตามิน D ที่ได้จากแสงแดดและจากอาหารทั่วไป จะไม่ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย ต่างจากการรับวิตามิน D ในรูปวิตามินเสริมที่หากได้รับมากเกินไป อาจทําให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ําหนักลด ท้องผูก ไปจนถึงเกิดอาการสมองสับสนและหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
มีทางเลือกอื่นๆ ในการเพิ่มวิตามิน D หรือไม่
ผู้สูงอายุสามารถเพิ่มวิตามิน D ให้แก่ร่างกายได้ 2 ทาง ดังนี้
1. เพิ่มระดับวิตามิน D ในร่างกายด้วยการตากแดด
โดยความเข้มของแสงที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามิน D ได้ สูงสุดคือ ช่วง 10.00น.–15.00 น. แต่เนื่องจากการตากแดดในช่วงที่แสงมีความเข้มสูงต่อเนื่องเป็นประจํา อาจส่งผลให้เกิดโรค มะเร็งผิวหนังได้ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงแนะนําว่า ควรตากแดดในช่วงเวลาดังกล่าวเพียงครั้งละ 15– 20 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือตากแดดในช่วงเวลาอื่น โดยเพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น
2. สามารถเสริมวิตามิน D จากการกินน้ํามันตับปลาค้อด ปลา แซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า และส้ม
รู้หรือไม่
สีผิว ยิ่งสีผิวเข้มเท่าไรร่างกายจะผลิตวิตามิน D ได้น้อยลง จึงควรตากแดดในช่วงเวลา 6.00น.–8.30 น.เพิ่มขึ้น เพื่อให้ร่างกายสามารถผลิตวิตามิน D ได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
บทความอื่นที่น่าสนใจ วิตามินดี สำหรับผู้สูงอายุ
แนะนำวิธี กินวิตามินบี อย่างไร ช่วยฟิตสมอง
กินวิตามินซี 11 ข้อ ต้องรู้ก่อนกิน