เซ็ง แซ่ลี ตามรอยในหลวง ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ รายได้กว่าเจ็ดหลัก
โรคภัย ความทุรกันดาร การเดินทางที่ยากลำบาก และก็อาจจะความทุกข์ น่าจะเป็นคำอธิบายสภาพความป็นอยู่ของชาวม้งที่ตั้งรกรากอยู่บนภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อหลายสิบปีก่อนได้เป็นอย่างดี ก่อนพบ ในหลวง
เซ็ง แซ่ลี ผู้อาวุโสชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง วัย 62 ปี เจ้าของแปลงผักเขียวขจีบนเนินเขาและชายผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวหนึ่งที่นี่ อธิบายภาพภูทับเบิกในอดีตให้เราฟังว่า สมัยนั้นคนเฒ่าคนแก่แทบจะยึดการปลูกฝิ่นเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง และมีอากาศหนาวเย็นปกคลุมอยู่ตลอด ทำให้ฝิ่นเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี แต่ถึงอย่างนั้น รายได้จากการปลูกฝิ่นก็ไม่ได้มากมายเท่ากับคนนำฝิ่นไปขายอีกทอดหนึ่ง
เซ็ง เล่าว่า เวลานั้นชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ไม่มีถนนตัดผ่าน ไม่มีแม้แต่เกลือให้กิน และเมื่อไหร่ที่พวกเขาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ทำได้เพียงเอาฝิ่นมาสูบเพื่อบรรเทาอาการ หรือไม่ก็นำมาทำแผลกันเอง
ไม่เพียงเท่านั้น นานวันเข้าปริมาณของฝิ่นก็ล้นตลาด ประกอบกับมีกฎหมายห้ามปลูกฝิ่นออกมา ทำให้อาชีพหลักของชาวบ้านต้องเปลี่ยนมาเป็นการปลูกผักเมืองหนาว โดยจำเป็นต้องพึ่งสารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตและกำจัดศัตรูพืช และเขาเองก็เคยเป็นหนึ่งในชาวเขาที่ไม่สามารถปฏิเสธสารเคมีได้
การปลูกกะหล่ำปลีโดยใช้สารเคมีในช่วงเวลา 20 ปีของเซ็ง แม้จะทำให้เขาและครอบครัวมีความสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้บ้าง ทว่าสารเคมีเหล่านั้นกลับย้อนมาทำร้ายสุขภาพของพวกเขาเอง ตั้งแต่นั้น เซ็ง จึงล้มเลิกการใช้สารเคมีทั้งหมด ก่อนจะหันมาศึกษาโครงการของ ในหลวงอย่างจริงจัง
“เราใช้สารเคมีก็เหมือนเราฆ่ามิตรสหายเราตายหมด ดินก็เสีย น้ำก็เสีย ทุกอย่างจะกลับมาสู่เรา เราจะไม่ปลอดภัย กินไปก็อันตราย คนที่ปลูกก็ถูกสารเคมี เป็นโรคมะเร็ง โรคปอด โรคไต พอไปให้หมอตรวจ หมอก็บอกว่า เป็นเพราะสารเคมี ผมเลยต้องไปศึกษาดูว่า ที่ไหนมีคนที่จะสอนเราปลูกผักแบบไม่มีสารเคมี แล้วก็ได้ไปพบโครงการของ ในหลวง พระองค์สนับสนุนการปลูกผักอินทรีย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปลอดภัย ผมเลยเอาของแนวคิดในหลวงมาประยุกต์ใช้” เซ็ง เล่า
จากเดิมที่เซ็งมีพื้นที่ปลูกผักเพียงแค่ 1-2 งาน เมื่อได้เริ่มน้อมนำเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปรับใช้ ในระยะเวลา 7-8 ปี เขาก็สามารถขยายพื้นที่ได้ถึง 5 ไร่ พร้อมทั้งสามารถขายผักได้ในราคามากกว่าเดิมถึง 10 เท่า โดยมีรายได้เฉลี่ยในแต่ละปีนับล้านบาท เนื่องจากตลาดต้องการผักปลอดสารพิษมากกว่าผักแบบเดิม
เซ็งไม่เพียงปลูกผักอินทรีย์กันเพียงในครอบครัว แต่เขายังนำแนวคิดของในหลวงมาบอกเล่าต่อให้ชาวม้งครอบครัวอื่น ๆ ฟัง แม้ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเกือบ 10 ปี กว่าจะเปลี่ยนความคิดของคนอื่นได้ แต่เขากลับไม่เคยล้มเลิก
“ชาวบ้านคนอื่นเขาคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงมันไม่มีรวยและก็อยู่ไม่ได้ ตอนที่เริ่มทำ เขาก็ดูถูกว่าถ้าไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้สารเคมี เมื่อไหร่จะขายได้ ถึงผมจะน้อยใจ แต่ผมก็สืบสาน ก็ทำไป สู้มาสองปีสามปี เราเชื่อว่าเราก้าวไปสู่ทางที่ถูกต้องแล้ว อย่าไปเชื่อคนอื่นว่าเราจะทำไม่ได้ ถ้าใครบอกว่า เราทำแบบนี้ เราอยู่ไม่ได้ ก็แล้วแต่เขาจะไปคิด เราจะบอกว่า สิ่งที่เราทำนั้น เราได้บุญแล้ว เราทำถูกแล้ว ผักเรามีขายทุกวัน เงินก็มี ผมเชื่อว่า ถ้าทำสิ่งที่ถูกต้อง เดี๋ยวก็จะมีเทวดามาช่วยเรา เราซื่อสัตย์ เราทำไปเพื่อคนไทย เราได้ความสุขจากตรงนี้”
เซ็งเล่าต่อว่า สิ่งที่ทำให้เขาภาคภูมิใจไม่ใช่แค่เรื่องการมีเงินใช้ มีรถขับ หรือมีอาชีพที่มั่นคงให้ลูก ๆ แต่ความภาคภูมิใจสูงสุดสำหรับเขาคือ การได้ประกอบอาชีพที่มีคุณค่าและการได้ส่งต่อจิตวิญญาณความเป็นเกษตรกรที่ซื่อสัตย์ให้กับลูก ๆ หลาน ๆ
“ผมภูมิใจว่าสิ่งที่เราทำคุ้มค่า มีค่า เพราะเราทำให้คนที่กินปลอดสารเคมี คุ้มค่าที่เราทำไปแล้วเราได้เงินที่บริสุทธิ์กลับมา ภูมิใจที่เราเอา ในหลวง มายึดไว้อยู่ในหัวใจ ในหลวงสอนแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้เรา เราเอาความคิดของในหลวงมาวิเคราะห์แล้ว ครอบครัวเรามีความสุข
“ผมสอนลูกทุกคนตลอดว่า สิ่งที่ในหลวงสอนเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจมาก และเก็บเอาไปใช้ได้ไม่มีวันหมด ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ มีชีวิต ก็เอาคำสอนของในหลวงมาใช้ ผมเชื่อว่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะอยู่อย่างมั่นคง” เซ็ง ทิ้งท้าย
ทุกวันนี้ ทิวเขากว้างใหญ่บนภูทับเบิก นอกจากจะกลายเป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักอินทรีย์ของเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าม้งแล้ว ยังเป็นพื้นที่แห่งความสุขและความทรงจำ ที่ทุกคนคงไม่มีวันลืมว่า ครั้งหนึ่งชีวิตพวกเขาเคยเปลี่ยนแปลงไปเพราะในหลวงของแผ่นดิน
เรื่อง รำไพพรรณ บุญพงษ์ ภาพ ศรายุธ นกแก้ว