Slow Life

ดีท็อกซ์ชีวิต ด้วยแนวคิด “ Slow Life ”

ดีท็อกซ์ชีวิต ด้วยแนวคิด “ Slow Life ”

หลายท่านอาจได้ยินคำว่า “Slow life” หรือ “Slow living” ซึ่งแปลว่าใช้ชีวิตอย่างเนิบช้ากันจนเบื่อแล้ว แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า Slow life ที่แท้จริงนั้นคืออะไร

ทำไมต้อง “ช้า”

หากหันไปมองรอบ ๆ ตัว เราจะพบว่าทุกวันนี้ชีวิตเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟสายด่วน อาหารจานด่วน บทสนทนาที่รีบเร่ง ชะโงกทัวร์แบบด่วนจี๋ ข่าวด่วนทุกนาทีในโลกโซเชียล ฯลฯ

ความเร็วแม้จะมีประโยชน์ แต่หากมากไปก็อาจเป็นตัวการสำคัญในการบั่นทอนความสุขทางใจได้ นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังระบุว่า ความเร่งรีบอาจก่อให้เกิดโรค Hurry Sickness Syndrome ทำให้คนที่ใช้ชีวิตเร่งรีบเกินไปรู้สึกหายใจไม่ทันหรือหายใจหอบ หัวใจเต้นเร็ว ส่งผลให้แขนขาหมดแรง ใจหวิว และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา

เพื่อเป็นการหยุดชีวิตที่เร่งรีบ ขอเสนอเทคนิคการใช้ชีวิตแช่มช้า ซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในทุกที่ ทุกเวลา และทุกวัน ดังนี้

  1. ตื่นให้เร็วขึ้น แต่หายใจให้ช้าลง

เคยสังเกตไหมว่า เมื่อไรที่คุณตื่น คุณก็จะรีบอาบน้ำ รีบกินข้าว โดยที่ใจไม่เคยได้สัมผัสกับความเย็นฉ่ำของน้ำหรือความอร่อยของอาหารมื้อแรกเลยสักนิด

ลองตื่นเช้าขึ้นกว่าเดิมสักนิด แล้วค่อย ๆ ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ถ้าใครไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางไปทำงานนานนัก อาจลองเดินออกจากบ้านไปตักบาตร หรืออาจจะเดินไปรดน้ำต้นไม้ พร้อมทั้งสำรวจว่าต้นไม้แต่ละต้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างนับแต่วันแรกที่เราซื้อมา ที่สำคัญ อย่าลืมสูดอากาศยามเช้าให้เต็มปอดเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่

  1. ปฏิบัติการเพื่อความเงียบ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในมหานครที่มีแต่ความวุ่นวาย ขอให้คุณลองหามุมเงียบ ๆ ให้ใจได้พักบ้าง สักสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี

มุมเงียบ ๆ ที่ว่าไม่ได้หมายถึงการหนีไปไหนไกล ๆ แต่ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่อยู่กับตัวเองเงียบ ๆ สักวัน แล้วปิดโทรศัพท์มือถือ เลิกดูโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ รวมทั้งงดใช้งานอินเทอร์เน็ตและการแชตชั่วคราว เพื่อให้คุณได้หยุดวิ่งตามกระแสต่าง ๆ แล้วหันกลับมาฟังเสียงธรรมชาติดูบ้าง

ที่สำคัญ การอยู่เงียบ ๆ คนเดียวยังทำให้เราได้ยินเสียงลมหายใจเข้า – ออกและเสียงของหัวใจตัวเองชัดเจนขึ้นอีกด้วย

slow life
Photo by Noah Silliman on Unsplash
  1. ทำงานช้าลง แต่ได้ผลเต็มร้อย

บางครั้งการทำงานด้วยความรีบเร่งอาจไม่ได้เกิดประโยชน์เสมอไป ตรงกันข้าม การทำงานด้วยความรอบคอบและมีสติต่างหากที่จะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพ

ลองหัดทำงานให้ช้าลง แต่ได้ผลเต็มร้อยด้วยเทคนิคง่าย ๆ เหล่านี้

  • ทำให้คลื่นสมองช้าลง  หากเรากำลังเครียด ลองผ่อนคลายด้วยการนั่งหลับตา ผ่อนคลายใบหน้า วางมือและเท้าในท่าที่สบาย แล้วจินตนาการถึงภาพที่สวยงาม เพื่อให้คลื่นสมองทำงานช้าลง รู้สึกเบาสบาย และสามารถคิดสร้างสรรค์งานได้ดีขึ้น
  • รอบคอบ แต่ไม่คิดมาก  หัวใจของการทำงานแบบเชื่องช้าคือ การคิดและทำอย่างรอบคอบ แต่ไม่ใช่การคิดมาก เพราะการคิดมากจะทำให้เรากลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำอยู่ที่เดิมโดยไม่ได้พบทางออกของปัญหา
  • ใส่ใจกับปัจจุบัน  ฝึกตัวเองไม่ให้กังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เลิกวิตกกับกำหนดเวลา แต่มีสมาธิอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างผ่อนคลาย
  • รับมือกับความเครียดด้วยสติ  ความเครียดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เมื่อความเครียดเกิดขึ้น เราสามารถรับมือกับความเครียดอย่างมีสติด้วยการเตือนตัวเองให้ค่อย ๆ คิดทบทวนอย่างช้า ๆ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา วิธีนี้จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีและถูกต้องตรงจุดยิ่งขึ้น

  1. รักษ์โลกและร่างกายด้วย Slow Food

slow food ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธอาหาร fast food เท่านั้นแต่ slow food ยังหมายรวมถึงการให้ความสำคัญกับศิลปะในการปรุงอาหาร ตั้งแต่การเตรียมส่วนผสม การคัดสรรวัตถุดิบ รวมทั้งการปรุงอาหารแต่ละจานด้วยความใส่ใจ ไปจนถึงการค่อย ๆ เคี้ยวอาหารแต่ละคำ เพื่อให้ได้รับรสของอาหารอย่างแท้จริง

ลองฝึกเทคนิคการบริโภคแบบ slow food ดังนี้

  • ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น  เพื่อให้ได้ของสดใหม่ รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง
  • กินตามฤดูกาล  เพื่อลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ย และสารเคมีในการเร่งดอกออกผล
  • สนับสนุนเกษตรอินทรีย์  แบบไม่ใช้สารเคมี ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ได้ผลผลิตช้ากว่าการใช้สารเคมี แต่รับรองว่าปลอดภัยกว่าแน่นอน
  • ปรุงด้วยการนึ่ง ต้ม ตุ๋น  แทนการผัดและทอดที่อุณหภูมิสูง เพื่อรักษาคุณค่าของสารอาหาร และลดการปล่อยความร้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม
  • เคี้ยวอย่างเชื่องช้า  เพื่อช่วยระบบการย่อยอาหาร และทำให้ได้สัมผัสถึงรสชาติของอาหารอย่างแท้จริง
slow life
Photo by Joseph Gonzalez on Unsplash
  1. ชีวิตแช่มช้าด้วย Slow Shopping

เชื่อไหมว่าการช็อปปิ้ง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้ชีวิตอย่างแช่มช้าได้เช่นกัน ด้วยการสนับสนุนสินค้าในท้องถิ่นหรือสินค้าแฮนด์เมด รวมทั้งการซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและได้รับประทานอาหารสดใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดปรากฏการณ์เรือนกระจกเพราะมลพิษจากการขนส่งสินค้าทางไกลอีกด้วย

  1. ชีวิตไร้มลพิษกับ Slow Travel

ใครที่ชอบเดินทางด้วยความด่วนจี๋ ลองเปลี่ยนวิธีเดินทางเป็นแบบ slow travel ดูบ้าง ด้วยการหันมาเดินทางด้วยรถไฟ เรือ จักรยาน หรือแม้แต่การเดิน เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่โลก และใช้เวลาต่อหนึ่งทริปให้นานขึ้น โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมระหว่างทาง เช่น แวะไปเที่ยวตลาดสดกลางหมู่บ้าน ทักทายผู้คนสองข้างทาง และเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการเลือกไปพักแบบโฮมสเตย์ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทางในครั้งนี้ให้เต็มที่

slow lifw
Photo by Eneko Uruñuela on Unsplash
  1. ออกกำลังกายสร้างสมาธิ

อีกวิธีที่จะสลัดความเคร่งเครียดที่มาพร้อมกับความเร่งรีบก็คือการออกกำลังกายแบบแช่มช้า เช่น โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง และการออกกำลังกายตามแบบเต๋า ซึ่งนอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงจากความเครียดผ่อนคลายลงแล้ว ยังช่วยให้เรามีสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจและการเคลื่อนไหวของร่างกายมากขึ้น ส่งผลให้สติและสมาธิกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวอีกครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดสติและสมาธิที่เกิดขึ้นนี้เอง จะเป็นตัวการสำคัญในการดึงจังหวะชีวิตของเราให้ช้าลงโดยอัตโนมัติ

เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสุขใจและไม่เร่งรีบได้แล้ว

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

Image by Johannes Plenio from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

อย่าหยุดพัฒนาศักยภาพตนเอง ธรรมะเตือนสติ โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.