ทำบุญอย่างไรให้ได้ ผลบุญมาก (และอาจได้เกิดเป็นเทวดาด้วย)
คนทั่วไปมักมีคำถามว่า ทำบุญอย่างไรจึงจะได้ ผลบุญมาก และหวังว่าผลบุญนั้นอาจส่งผลให้ไปเกิดเป็นเทวดา ส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจกันว่าต้องทำบุญแก่พระผู้ปฏิบัติดี ความเชื่อนี้มีอิทธิพลมากทีเดียว บางคนยอมทิ้งงานทิ้งการ ทิ้งบ้านไปตามหาพระอรหันต์เพื่อจะทำบุญแล้วจะได้บุญทันตาเห็นและได้บุญมาก
แต่หากลองศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเทวดาจากคัมภีร์ ก็จะพบว่าเทวดาส่วนใหญ่ไปเกิดในสวรรค์เพราะผลของทาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทานหรือการให้เป็นการทำบุญสำคัญที่ปรากฏในพุทธศาสนาเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเป็นวิธีเบื้องต้นที่สอนให้คนเรารู้จักการละวางหรือบรรเทาความรักตัวเอง ให้รู้จักถ่ายโอนความรักตัวเองไปยังผู้อื่น จึงเป็นเรื่องที่อภิปรายกันอยู่เสมอว่า
“ทำทานอย่างไรให้ได้ผลมากกว่า”
พระพุทธเจ้าทรงอธิบายถึงผลของทานหลายประการ เช่นว่า ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ผลของทานทำให้มีพร้อมด้วยของกินของใช้และบริวาร เมื่อตายไปแล้วผลของทานยังส่งให้เกิดในสวรรค์ และสูงที่สุดคือทำให้บรรลุมรรคผล
ทานที่มีผลมากต้องประกอบด้วยองค์ 3 คือ
1. ไทยธรรมหรือของที่ให้ทานต้องเป็นของที่ีบริสุทธิ์ ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงจากการทำงานหรือประกอบอาชีพที่สุจริต
2. ผู้ให้มีเจตนาบริสุทธิ์ มีศรัทธาแน่วแน่ ปราศจากความตระหนี่หรือความลังเลสงสัย
3. ผู้รับก็บริสุทธิ์ มีศีล มีคุณธรรม ทำประโยชน์แก่สังคม ในคัมภีร์ยกพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก แต่ก็อาจขยายความไปถึงคนดีทั่วไปได้ด้วย ยังมีการอธิบายเพิ่มเติมว่า
“…ใช่แต่ไทยธรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้นที่ทำให้ทานมีผลมาก แท้จริงแล้วผู้ให้ยังต้องประกอบด้วยจิตเลื่อมใส และผู้รับมีคุณธรรมพร้อม เพราะฉะนั้นแม้จะเป็นข้าวสุกสักกำมือ ผ้าเก่าสักชิ้น เพียงหญ้าเครื่องปูลาด เพียงใบไม้เครื่องปูลาด เพียงสมอดองด้วยน้ำปัสสาวะ ที่ถวายในทักขิไณยบุคคลด้วยจิตที่เลื่อมใส ก็จักมีผลมาก ทำให้รุ่งเรือง”
คำอธิบายนี้แม้จะดูเชยหรือเหลือเชื่อในความรู้สึกของคนยุคปัจจุบัน แต่ก็น่าจะให้ความกระจ่างชัดได้ว่า ถ้าพร้อมด้วยองค์ประกอบ 3 ประการข้างต้น ทานย่อมมีผลมาก แต่ถ้าไม่ครบองค์ประกอบ เพราะมีข้อที่หายากที่สุดคือ ผู้รับที่บริสุทธิ์ ผู้ให้ก็ต้องมาดูแลตัวเองว่าบริสุทธิ์แค่ไหน และดูแลไทยธรรมด้วยว่าบริสุทธิ์แค่ไหน หาก 2 ข้อนี้พร้อม แม้ข้อที่ 3 จะยังไม่สมบูรณ์ ทานก็มีผลยิ่งใหญ่ได้
ข้อสำคัญ เมื่อให้ทานแล้วก็ต้องไม่เสียดาย ตัดความกังวลหรือความสงสัยออกไปให้หมด ต้องทำจิตให้ผ่องใสแกล้วกล้าอาจหาญ
หลายครั้งในคัมภีร์มักพูดถึงคนที่ทำบุญด้วยของที่เขาคิดว่า “เล็กน้อย” เช่น ถวายดอกไม้บูชาพระ ถวายผลไม้หนึ่งผล แล้วกลับได้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ เช่น เกิดเป็นเทวดามีวิมานอยู่ ได้อาหารทิพย์ ดูช่างเหลือเชื่อ แต่ก็ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
การให้ของที่คิดว่า “เล็กน้อย” นั้น ต้องพิจารณาว่าของนั้นบริสุทธิ์ไหม และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ของนั้นมีความสำคัญหรือมีคุณค่าต่อผู้ให้เพียงใด บางทีข้าวสุก 1 กำมืออาจหมายถึงชีวิตของเขา แต่เขาตัดสินใจให้ได้โดยไม่เสียดาย ไม่ลังเลสงสัย แสดงถึงสภาพจิตที่ละเอียดประณีตและเข้มแข็ง สภาพจิตอย่างนี้มีอานุภาพที่จะแปรสภาพทานที่เล็กน้อยออกมาเป็นผลที่ยิ่งใหญ่ได้
พระพุทธเจ้าทรงเคยอธิบายให้เศรษฐีอนาถบิณฑิกะฟังว่า “เมื่อจิตประณีต ของที่ให้แม้มีมูลค่าน้อยแต่เป็นประโยชน์ บุญนั้นก็ประณีตด้วย”
ที่มา โอปปาติกะ ชีวิตหลังความตาย – ดร.บรรจบ บรรณรุจิ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ