ตอบข้อสงสัย มือใหม่หัด ” ภาวนา “
การ ภาวนา แปลตรงตัวว่า การฝึกจิตหรือการฝึกจิตใจให้สงบ การฝึกสมาธิภาวนานี้เรามักเข้าใจว่าเป็นของชาวพุทธ แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบสัจธรรมที่มีอยู่ในโลกก่อนการมาถึงของพระองค์ ความจริงมีอยู่แล้วเหมือนกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย
พระอาจารย์ชานนท์ ชยนนฺโท เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญธรรม จังหวัดชลบุรี ให้คำอธิบายคำถามต่าง ๆ เหล่านี้ว่า
ถาม: เหตุใดการภาวนาจึงถือเป็นบุญใหญ่ในพระพุทธศาสนา
ตอบ: การภาวนาถือเป็นบุญใหญ่ในพระพุทธศาสนา เพราะบุญจากการทำทาน รักษาศีลให้แค่สบายกายเท่านั้น แต่บุญจากการภาวนานั้นสามารถดับทุกข์ของใจได้และยังช่วยให้พ้นจากทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้วจะดับภพ ดับชาติ ดับชรา ดับมรณะได้จึงถือว่าเป็นยอดแห่งบุญ
ถาม: เหตุใดผู้ป่วยโรคร้ายแรงบางราย เมื่อฝึกทำสมาธิแล้วจึงหายจากโรคเหล่านั้นได้
ตอบ: สาเหตุของโรคร้ายแรงต่าง ๆ ในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากความเครียด ซึ่งมีผลให้ธาตุทั้งสี่ในร่างกายมีการทำงานที่แปรปรวนผิดปกติ การฝึกสมาธิทำให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่านเป็นการปรับสมดุลของธาตุ ผู้ที่ป่วยอยู่ก็จะมีโอกาสดีขึ้นหรือหายจากโรค เพราะอาศัยความสงบของสมาธิบำบัดรักษา เรียกว่าธรรมโอสถ
ถาม: การเห็นความคิดตัวเองว่า กำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ พอเห็นแล้วความคิดนั้นก็หายไป สิ่งนี้คือหนึ่งในการทำวิปัสสนาหรือไม่
ตอบ: ยังไม่ใช่ทีเดียว เพราะวิปัสสนานั้นต้องประกอบไปด้วยองค์ของสติปัฏฐานสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
- พิจารณากายโดยความเป็นธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อเห็นความจริงและยอมรับความจริงก็จะสลายความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาได้
- พิจารณาเวทนา เห็นว่าความสุข ความทุกข์มีได้เพราะกาย เมื่อกายเป็นเพียงแค่ธาตุธรรมชาติ ฉะนั้นเวทนาจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เวทนานี้จึงไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
- พิจารณาจิต เห็นอาการผ่องแผ้ว เศร้าหมองว่าเป็นผลมาจากเวทนาสุขและเวทนาทุกข์ ฉะนั้นเมื่อเวทนาเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติ จิตที่เศร้าหมอง ผ่องแผ้วก็จึงเป็นเพียงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเช่นกัน จิตนี้จึงไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
- พิจารณาธรรม เห็นว่าสภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลเกิดขึ้นได้เพราะจิตมีอาการผ่องแผ้วและเศร้าหมองอันสืบเนื่องมาจากสุขเวทนาและทุกขเวทนา เมื่ออาการของจิตและเวทนาเป็นเพียงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ สภาวธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลก็จึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเช่นกัน ธรรมนี้จึงไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
ถาม: คนที่สมาธิสั้นมาก ๆ ควรทำสมาธิด้วยรูปแบบใด
ตอบ: อานาปานสติคือการฝึกรู้ลมเข้ารู้ลมออก เป็นสมาธิที่มีความเหมาะสมใช้ได้กับทุก ๆ คนและทุก ๆ จริต
ถาม: มือใหม่ที่เพิ่งฝึกปฏิบัติ ควรเริ่มฝึกสมถะหรือควรฝึกวิปัสสนาก่อน
ตอบ: ต้องฝึกสมถะก่อน เบื้องต้นใช้อานาปานสติจนใจเริ่มสงบ เพื่อให้มีกำลังในการพิจารณา แต่การทำความสงบในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเข้าสมาธิลึก ผู้ปฏิบัติใหม่จึงสามารถพิจารณาได้เช่นกัน เพราะพอใจเริ่มสงบแล้วก็ให้ยกกายขึ้นมาพิจารณาให้เห็นกายเป็นธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม พิจารณาจนใจยอมรับความจริงของกาย จากนั้นจึงพิจารณาเวทนา จิต และธรรมเป็นลำดับ ๆ เรียกว่าวิปัสสนา
ถาม: คนที่ไม่เคยฝึกสมาธิเลย สามารถลองฝึกเองจากคลิปที่พระหลาย ๆ ท่าน สอนในสื่อออนไลน์ได้หรือไม่
ตอบ: เมื่อทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้วทุกคนสามารถนำมาฝึกเองได้ เพราะการฝึกสมาธิหรือกรรมฐานมีให้เลือกถึงสี่สิบกรรมฐานตามความถนัดหรือจริตของผู้ปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เพื่อเป็นเหตุให้สามารถเข้าถึงความสงบ แต่ในสี่สิบกรรมฐานมีอยู่หนึ่งกรรมฐานที่ฝึกได้ง่ายและไม่มีอันตรายต่อผู้ปฏิบัตินั่นคืออานาปานสติ ฝึกโดยใช้การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นอารมณ์ ซึ่งวิธีนี้สามารถทำให้เกิดความสงบได้เช่นกัน อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติได้ทุกอิริยาบท
ถาม: สำหรับคนที่อยู่ในประเภทของราคะจริต และโทสะจริต ควรฝึกสมาธิในรูปแบบใด
ตอบ: สามารถใช้อานาปานสติหรือทำสมาธิแบบใดก็ได้ที่ตัวเองถนัดเพื่อให้เกิดความสงบ แต่ต้องใช้วิปัสสนากรรมฐานเข้าไปเสริม เบื้องต้นให้พิจารณาร่างกายนี้แยกออกเป็นธาตุทั้งสี่ที่ประกอบด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อเห็นตามความเป็นจริงว่าร่างกายเป็นเพียงแค่ธาตุก็จะทำให้จิตยอมรับและปล่อยวางกายได้ แล้วก็มาพิจารณาความพอใจซึ่งเป็นราคะและความไม่พอใจซึ่งเป็นโทสะ ให้ดูทั้งสองตัวทำงาน อย่าดูเพียงตัวใดตัวหนึ่ง และต้องดูโดยไม่เข้าไปแทรกแซง ดูเฉย ๆ ไม่ต้องดับหรือแก้ไข ปล่อยให้ความพอใจและไม่พอใจนั้นเป็นไปตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่ภายในใจ โดยไม่ส่งออกทางกายและวาจา เมื่อเห็นบ่อย ๆ เข้าจะไม่ยึดอารมณ์ทั้งพอใจและไม่พอใจ เพราะเห็นว่าทั้งหมดเป็นเพียงแค่สภาวธรรม จึงไม่มีรัก ไม่มีชังในธาตุทั้งสี่ เห็นเป็นแค่ธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ราคะและโทสะก็จะเบาบางและหายไปในที่สุด
ถาม: หากเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเต็มรูปแบบมากนัก แต่อยากฝึกสมาธิและวิปัสสนาไปควบคู่กันควรทำอย่างไร
ตอบ: จริงๆ แล้วการฝึกสติสามารถฝึกได้ทั้งลืมตาและหลับตาจึงมีเวลาปฏิบัติทั้งวัน เพียงแค่แอบไปดูลมหายใจเข้าออกเบาๆ ว่าปัจจุบันขณะนี้ร่างกายเขาหายใจเข้าหรือหายใจออก เรียกว่าเรากำลังทำอานาปานสติ เมื่อสติเกิดนานเข้าก็จะกลายเป็นสมาธิ ทำให้มีความสงบเกิดขึ้น ถ้าบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติคงไม่ถูก เพราะตราบใดที่ยังมีเวลาหายใจอยู่ก็ต้องมีเวลาปฏิบัติ และทำได้ทุก ๆ เวลา ทุกขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน
การทำวิปัสสนาก็ทำได้ทุกเมื่อเช่นกัน เบื้องต้นให้พิจารณาดูธาตุที่ไหลเข้าออกในร่างกาย ขณะรับประทานอาหารก็พิจารณาว่าธาตุดินกำลังไหลเข้า ขณะขับถ่ายก็พิจารณาว่าธาตุดินกำลังไหลออก ขณะดื่มน้ำก็พิจารณาว่าธาตุน้ำกำลังไหลเข้า ขณะปัสสาวะก็พิจารณาว่าธาตุน้ำกำลังไหลออก เมื่อรู้สึกหนาวก็พิจารณาว่าธาตุไฟในกายลดลง เมื่อรู้สึกร้อนก็พิจารณาว่าธาตุไฟในกายมีมากเกินไป ขณะหายใจก็พิจารณาว่าธาตุลมกำลังไหลเข้าไหลออกจากกาย เป็นต้น การพิจารณาเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เพราะเราอยู่กับการเคลื่อนของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลมนี้ตลอดเวลาตั้งแต่วันเกิดจนวันตายอยู่แล้ว
ที่มา นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ
บ้านจิตสบาย แหล่งเรียนรู้และภาวนาด้วยการเจริญสติ
5 หลุมพรางของนักภาวนา นิตยสาร Secret