โรคคอตีบ
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค เรื่องสถานการณ์ โรคคอตีบ ในปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยรวม 20 ราย เสียชีวิตจำนวน 5 ราย จาก 10 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยร้อยละ 95 เป็นชาวพม่าร้อยละ 5 กลุ่มอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ 7 – 9 ปี รองลงมาคือ 35 – 44 ปี และ 10 – 14 ปี ตามลำดับ
ส่วนในปี 2560 มีรายงานผู้ป่วยสงสัยโรคคอตีบแล้วจำนวน 8 ราย และมีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายโรคคอตีบ เสียชีวิต 1 ราย จากจังหวัดปัตตานี เป็นเด็กขายอายุ 4 ปี 6 เดือน มีประวัติเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ เพียงครั้งเดียว ตอนอายุ 2 เดือน และอาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่มีความครอบคลุมวัคซีนต่ำ
การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยคอตีบเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจัย และข้อมูลที่พบแนวโน้ม การเกิดโรคในกลุ่มเด็ก 7 – 9 ปี โดยเฉพาะพื้นที่ ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ หรือมีแรงงานย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ คือ ประชาชนไม่เคยฉีดวัคซีนคอตีบมาก่อน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ และไม่ไปรับการกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดต่ำลง
การป้องกันโรค สามารถทำได้โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ จึงขอแนะนำผู้ปกครองนำบุตรหลานรับวัคซีน ให้ครบตามช่วงเวลาที่กำหนด และสังเกตอาการของโรค คือ มีไข้ เจ็บคอ มีแผ่นขาวในช่องปาก ให้รีบพบแพทย์ทันที หรือโทรปรึกษาสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422
ที่มา : กรมควบคุมโรค