โควิด 19 ระบาด

6 ข้อห้าม “อย่าทำ” ช่วงโควิด 19 ระบาด

6 ข้อห้าม “อย่าทำ” ช่วงโควิด 19 ระบาด

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ มีความรุนแรงเทียบเท่ากับโรคซาร์สมากที่สุด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ องค์การอนามัยโลก ยังไม่สามารถหาที่มาของเชื้ออย่างชัดเจน และเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้แล้ว จากการถูกไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของคนที่ป่วย

มีการปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค สนามบินเงียบเหงา สถานที่ท่องเที่ยวแทบร้างผู้คน หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จนต้องลดพนักงาน เลิกจ้าง หรือปิดตัวเองลง ผู้คนไม่จำเป็นก็ไม่ออกนอกบ้าน ไม่กล้าอยู่ในที่คนพลุกพล่าน และคอยติดตามข่าวสารเพื่ออัพเดทการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้  ซึ่งข้อมูลที่ได้รับนั้นก็มีทั้งจริงและปลอมปะปนกัน หรือบางข้อมูลที่เราเคยยึดถือเป็นแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อ ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ขึ้น เช่นการใช้ช้อนกลางตักอาหารก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสช้อนร่วมกันได้ ต้องเปลี่ยนมากินร้อน ช้อนใครช้อนมัน และหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

ช่วงโควิด 19 ระบาด

แต่หากมองในแง่ดี การระบาดในวงกว้างของ COVID-19 ก็ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ มากขึ้น รวมถึงในภาครัฐ และภาคธุรกิจ ก็ตระหนักถึงการต้องปรับเปลี่ยน และปรับตัว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงรุก เพื่อลดความเสี่ยงในการการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ในอนาคตมากขึ้นด้วย

มีคำเตือนจากหมอโดยศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้

โดยหมอธีระวัฒน์ ได้แนะเรื่อง “อย่า” 6 ข้อในช่วงโควิด ที่ถึงแม้ว่าตัวเลขจะลดลง แต่มีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัว ไม่แสดงอาการอยู่ ถ้าหยุดยั้งไม่ได้ เชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายทำให้อักเสบรุนแรงกว่าไวรัสอื่น

โดยระบุถึงเรื่อง “อย่า” 6 ข้อ ดังนี้

อย่าทนงตนว่าเป็นหนุ่มสาวหรือไม่มีโรคประจำตัวแล้วไม่เป็นไร

นอกจากจะเป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราเห็นกันแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในโรงพยาบาลขณะนี้ ที่คนแข็งแรงอาการหนักได้

อย่าคิดว่าเมื่อติดเชื้อแล้วและเริ่มมีอาการ จะรักษาง่ายๆ

กลไกของการติดเชื้อเมื่อเข้าร่างกายแล้วจะเพิ่มจำนวนและถ้าหยุดยั้งไม่ได้หรือไม่ทัน เชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกระบบที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสอื่นๆ จากผลของการอักเสบจะกระทบทุกอวัยวะในร่างกายและทำให้เลือดข้น เกิดลิ่มเลือดเล็กๆทั่วไปด้วย

ระวังตัวจากโควิด

อย่าคิดว่ามียาต้านไวรัสแค่นั้นก็พอ

เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นจำเป็นต้องให้ยากดการอักเสบซึ่งทำให้ติดเชื้ออื่นได้ง่ายขึ้นจากการกดภูมิคุ้มกันและปอดอักเสบที่เห็นนั้นจะกลายเป็นทั้งจากไวรัสและแบคทีเรียซ้ำซ้อน

อย่าคิดว่าถ้าตัวเลขลดลงหมายความว่าต่อไปนี้ไม่ต้องระวังตัวแล้ว

ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการที่จะตรวจให้ได้ทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้ว่าตัวเลขจะลดลงก็ตามยังคงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการอยู่ทั่วไปได้

เว้นระยะห่างทางสังคม

อย่าเข้าไปในสถานที่แออัด ที่อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

สถานที่ดังกล่าวและยิ่งมีคนที่แพร่เชื้อได้หลายคนโอกาสที่จะได้รับเชื้อยิ่งสูงขึ้นและจำนวนเชื้อมากขึ้นตั้งแต่ต้น และเชื้อที่อยู่กับละอองฝอย จะอบอวลอยู่ในอากาศได้นาน และแม้เมื่อตกพื้นไปแล้วการเดินจะกระพือให้ละอองฝอยเหล่านี้ลอยขึ้นอีก (จากข้อมูลของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2563)

อย่านิ่งนอนใจในภาวะโรคประจำตัวทุกอย่าง ต้องคุมให้ได้

โรคประจำตัวจะเปิดโอกาสทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและเกี่ยวข้องกับกลไกในการรับเชื้อ และการเพิ่มจำนวนของเชื้อได้เก่งขึ้นและนอกจากนั้นโรคประจำตัวหลายชนิด จะมีลักษณะของการเอื้อให้เกิดมีการอักเสบในร่างกายอยู่แล้วเช่นโรคหัวใจอัมพฤกษ์การอักเสบของข้อ การรักษาจะยิ่งซับซ้อนขึ้น ทั้งจาก โควิด-19 เองและโรคประจำตัวที่ปะทุซ้ำซ้อนขึ้น

สรุปคือต้องรักษาตัวให้แข็งแรงคุมโรคประจำตัวให้หมดจดที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลีกเลี่ยงการเอาตัวเข้าไปในที่เสี่ยง ช่วยตัวเองได้ = ช่วยคนไทยทั้งประเทศ

ที่มา: เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha”, thairath

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

HOW TO ขึ้นรถสาธารณะ ให้ปลอดภัย ห่างไกล โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

6 ผื่น สัญญาณติด โควิด-19 หนึ่งในอาการร่วมที่น่าสนใจ

พบอาการ แพ้วัคซีนโควิด เกิดผื่นคันเป็นวงกว้าง ในยี่ห้อ Moderna

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.