ยาต้านซึมเศร้า

ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) จำเป็นอย่างไร

รู้จัก ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) ทำงานอย่างไร จำเป็นหรือไม่

โรคซึมเศร้า แทบจะกลายเป็นอีกโรคที่พบได้ทั่วไปในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหน ทำอาชีพอะไร ล้วนตกเป็นเหยื่อของโรคซึมเศร้าได้ทั้งนั้น วันนี้ทางชีวจิตจึงจะมาพูดถึง ยาต้านซึมเศร้า โดยมีข้อมูลประกอบจากหนังสือ โรคซึมเศร้า โดยนายแพทย์ประเสริฐ กันค่ะ

ยาต้านซึมเศร้า

คุณหมอได้อธิบายเรื่องของ ยาต้านซึมเศร้า หรือยาปฏิโทมนัส (Antidepressants) ในหนังสือไว้ว่า “เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลางโดยตรง ช่วยปรับสมดุลของสารสื่อนำประสาทให้เข้าที่ ยาต้านอารมณ์เศร้ามีข้อดีคือ เป็นการรักษาจำเพาะ (Specific Treatment) มิใช่ยาบรรเทาอาการเหมือนยาลดไข้แก้ปวด ดังนั้น การให้ยาต้านอารมณ์เศร้าจำเป็นต้องให้ในขนาดที่ถูกต้องและใช้เวลานานพอก่อนที่จะประเมินผลการรักษา

“โดยทั่วไปยาต้านอารมณ์เศร้าใช้เวลาประเมินผล 2 -4 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วที่สุดที่ยาจะออกฤทธิ์หลังจากได้ขนาดที่ถูกต้อง จะเห็นว่าใช้เวลานาน ไม่ทันใจ และต้องการความอดทนของผู้ป่วยและญาติในตอนแรก ๆ ก่อนที่จะได้รับประโยชน์ของยา

“ยาต้านอารมณ์เศร้าทุกตัวมีข้อเสียคือความง่วง บ้างมีอาการคอแห้ง ท้องผูก และลุกเร็วหน้ามืด เหล่านี้เป็นฤทธิ์ข้างเคียงที่เลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถรอเวลาให้ร่างกายชินกับยาเองได้ หากจำเป็นควรลางานพักผ่อนในตอนแรก ๆ ดื่มน้ำมากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายและเปลี่ยนอิริยาบถด้วยความระมัดระวัง ไม่ลุกขึ้นยืนรวดเร็วเกินไป โดยทั่วไปอาการข้างเคียงต่างๆ นานาเหล่านี้จะดีขึ้นได้เองใน 2 – 4 สัปดาห์”

คุณหมอสรุปเส้นทางการรักษาของผู้ป่วยซึมเศร้าหลังจากพบจิตแพทย์ว่า “แพทย์จะให้ยาขนาดต่ำหรือปานกลางในวันแรกที่พบกัน เพื่อป้องกันมิให้มีฤทธิ์ข้างเคียงคือความง่วงหรือปากคอแห้งมากเกินไป จากนั้นจะค่อย ๆ ปรับยาขึ้นช้า ๆ ตามความสามารถในการรับยาของผู้ป่วยและประสบการณ์ของแพทย์เอง เพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดไปถึงจุดที่เพียงพอต่อการรักษา ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 2- 6 สัปดาห์”

“เมื่อได้ระดับยาที่ดีที่สุดแล้ว ผู้ป่วยต้องรอเวลาให้อาการต่าง ๆ ค่อย ๆ ลดลงแล้ว หายไปจนหมดหรือเกือบหมด จากนั้นควรรักษาระดับยาที่ดีที่สุดนี้เอาไว้นานประมาณ 3 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรง ระยะเวลาที่ไม่สบายก่อนมาพบแพทย์ สภาพแวดล้อม รวมถึงประวัติพันธุกรรม การลดยาก่อนเวลามักนำมาซึ่งการกำเริบ กลับเป็นซ้ำ แล้วต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่อีก หลังจาก 6 เดือนแพทย์อาจจะเริ่มลดยาลงทีละตัว จนถึงระดับที่ยังคงสามารถทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตปกติได้ดีพอสมควร ถึงขั้นนี้แพทย์อาจจะลดยาลงเรื่อย ๆ จนถึงระดับต่ำสุดเพียงวันละ 1 – 2 เม็ด หรืออาจจะรักษาระดับยาไว้ที่ระดับสูงพอสมควรนานประมาณ 2 -5 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของแพทย์แต่ละคนที่จะประเมินความเสี่ยงของการลดยาเร็วเกินควร

“ในกรณีที่ลดยาหรือทดลองหยุดยาหลังจากได้รับการรักษาครบตามโปรแกรมแล้ว หากผู้ป่วยมีอาการกลับเป็นซ้ำครั้งที่ 2 แพทย์จะขอให้กินยานาน 2 – 5 ปีอีกครั้งหนึ่ง”

ในท้ายที่สุดนี้ ยาต้านซึมเศร้ามีอยู่เป็นสิบขนาน แต่ละ ประเภท ก็ออกฤทธิ์ต่างกันไป ซึ่งจากการศึกษาไม่พบว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหนอย่างชัดเจน เรียกว่าผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหนเป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือลางเนื้อชอบลางยา ซึ่งโดยรวมแล้วก็มักจะรักษาได้ผลทุกตัว การใช้ยาขึ้นอยู่กับว่าแพทย์มีความชำนาญ คุ้นเคยกับการใช้ยาขนานไหน และผู้ป่วยมีโรคทางกายหรือกำลังกินยาอื่น ๆ ที่ทำให้ใช้ยาบางตัวไม่ได้หรือไม่

โดยสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงและระวัง คือ

  • การซื้อยากินเองจากร้านขายยา ยืมยาจากเพื่อน หรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของท่าน แพทย์คนอื่น หรือหมอฟันก่อน อย่าวางใจว่า คงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรร้ายแรง
  • การดื่มแอลกอฮอล์จากเหล้า เบียร์ หรือไวน์ จะลดประสิทธิภาพของยาลง
  • ส่วนยานอนหลับหรือยาลดความกังวล ไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้โดยลำพัง แม้ว่าบางครั้งแพทย์จะสั่งใช้ยาชนิดนี้ควบคู่ไปกับยาต้านซึมเศร้า เพื่อบรรเทาอาการกังวลในระยะต้นของการรักษา และไม่ควรใช้ยากระตุ้นประสาทหรือยาม้าเพื่อหวังผลให้หายเพลียเพียงชั่วคราว ควรถามแพทย์ทุกครั้งที่ท่านมีปัญหาที่เกิดจากยา หรือเกิดปัญหาที่คิดว่าอาจเกิดจากยา

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยามหิดล

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.