synaesthesia, ซินเนสทีเซีย, อาการ synaesthesia, เห็นตัวอักษรเป็นสี

โลกที่มีแต่สีสัน โรคซินเนสทีเซียหรือ synesthesia

ซินเนสทีเซีย หรือ synesthesia โรคหรือแค่อาการ ?

ซินเนสทีเซีย โรคที่ใคร ๆ ต่างก็ให้ความสนใจเมื่อ “พิมฐา ฐานิดา มานะเลิศเรืองกุล” เน็ตไอดอลสาวสวย เธอได้ไปเป็นแขกรับเชิญให้กับ YouTuber เพื่อนสนิทของเธอ ซึ่งในรายการมีช่วงที่ได้พูดคุยในหัวข้อ “ขอความลับ 1 อย่าง” ซึ่งความลับของเธอก็ทำให้กระแสโซเซียลอยากรู้ว่า โรคที่เธอเป็น มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงเป็นได้ มันอันตรายหรือเปล่า แล้วสามารถดำเนินชีวิตประจำได้หรือไม่

วันนี้เรามีคำตอบมาฝากคุณผู้อ่านทุกท่านได้ไขข้อว่า จริง ๆ แล้วอาการ ซินเนสทีเซีย หรือ Synesthesia มันคืออะไรกันแน่

ซินเนสทีเซียคือ … ?

ซินเนสทีเซีย หรือ Synesthesia มาจากภาษากรีกที่ว่า  syn (ร่วม) + aisthesis (การรับรู้) หมายความว่า ประสาทสัมผัสตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป รับรู้พร้อมกันนั่นเอง  ไม่ได้เรียกว่าเป็นอาการป่วยโดยตรง แต่เรียกกันว่าเป็น “ลักษณะพิเศษ” หรือเรียกว่า “อาการ” เท่านั้น

พิมฐา, เซียเนสทีเซีย, Synesthesia, เห็นตัวอักษรเป็นสี
พิมฐา กับอาการเซียเนสทีเซีย อาการที่เห็นตัวอักษรเป็นสี

อย่างกรณีของ พิมฐา เธอได้บอกเล่าอาการของเธอว่า จริง ๆ แล้วที่เธอได้ศึกษาอาการที่เธอเป็น พบว่ามีคนที่มีอาการแบบเธอเยอะมาก คือมันไม่ใช่การมองตัวอักษรเป็นสี แต่มันเป็นจิตใต้สำนึกที่ค่อยบอกเราว่าสีนี้มันมาคู่กับตัวอักษรตัวนี้ โดยกำเนิดและไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสีนี้ได้ไปตลอดชีวิต เช่น ก พิมฐาบอกว่า เธอมองเห็นพยัญชนะนี้เป็นสีชมพูมาตั้งแต่เด็ก เราไม่ได้เห็นตัวนี้แล้วเห็นเป็นสี แต่เราเห็นตัวนี้แล้วเรานึกถึงสี อย่างการเลือกป้ายทะเบียนรถพิมฐาบอกว่า การเลือกเราไม่ได้เอาแบบที่เราจำได้ แต่เราเลือกเพราะเราเห็นสีที่เรียงกันแล้วออกมาสวย เธอยังบอกอีกว่าเธอเห็นสีแค่ ตัวอักษรภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น และตัวเลข แต่สระไม่เห็น ซึ่งอาการของเธอถือว่าเป็นอาการที่เบสิคมาก

อาการทั่วไปของซินเนสทีเซีย

โดยอาการซินเนสทีเซีย ที่พบทั่วไปอย่างที่พิมฐาบอกว่า อาการของเธอถือว่าเบสิคมาก ชีวจิต จึงไปศึกษาเพิ่มเติมมาว่า อาการซินเนสทีเซีย เป็นอาการที่เกิดจากการทำงานของสมองที่ เชื่อมต่อกันผิดพลาดของ ส่วนที่รับรู้ รสชาติ กลิ่น เสียงทำให้ เวลาได้ยินจึงเห็นเป็นสี เวลาสัมผัสแล้วเห็นเป็นรูปสี่ต่างๆ เวลาเห็นแล้วนึกถึงเป็นรสชาติต่าง ๆ โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ เห็นตัวเลขหรือตัวอักษรเป็นสี (colored letters and numbers) และได้ยินเสียงเป็นสี (colored hearing) ส่วนอาการที่รับรู้มากกว่าการเห็นสีที่ผู้มีอาการไม่สามารถบอกใครได้ คือ “การได้ยินเสียงเพลง แล้วรู้สึกว่า สีนี้สวยดีเนอะ” หรือ “ไอ้ขนมนี้ รสชาติมันเหลี่ยมๆ คมๆ” หรือจะ “อาการของคนที่ได้ยินเสียงเพลง แล้วรู้สึกรับรู้ถึงแรงสัมผัส” นั่นเอง

ซินเนสทีเซียเกิดได้อย่างไร  ?     

ซินเนสทีเซียสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ในกรณีของนักเขียนชาวรัสเซียคนหนึ่งชื่อ วลาดีมีร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) นั้น ตอนเด็กๆ เคยบ่นกับคุณแม่ของเขาว่า ใครกันนะทำตัว A มาผิดสี เพราะตัว A ในความคิดของเขานั้นต้องเป็นสีน้ำเงิน ไม่ใช่สีแดง ฝ่ายคุณแม่ของเด็กน้อย เมื่อได้ยินเช่นนั้น แทนที่จะว่าลูกเพี้ยน เธอกลับเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะเธอเองก็เป็นซินเนสทีเซียเช่นเดียวกัน ต่อมาเมื่อวลาดีมีร์ นาโบคอฟ มีลูกชาย ก็พบว่าลูกชายก็เป็นอีก เรียกว่าครอบครัวนี้มีประสบการณ์พิเศษเรียงติดกันถึง 3 รุ่น!
            นายแพทย์ริชาร์ด อี ไซโทวิค (Richard E. Cytowic, MD) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องซินเนสทีเซีย และผู้แต่งหนังสือ ‘The Man Who Tasted Shapes’ (‘ชายผู้ลิ้มรสเป็นรูปร่าง’) ประมาณไว้ว่า โอกาสที่จะพบคนเป็นซินเนสทีเซียมีประมาณ 1 คน ใน 25,000 คน โดยสำหรับคนอเมริกัน พบว่าโอกาสที่จะพบในผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายราว 3:1 ในขณะที่ทางสหราชอาณาจักร มีนักวิจัยท่านอื่นได้ประมาณไว้สูงกว่านี้คือ 8:1 กล่าวโดยสรุป ผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายหลายเท่า

ซินเนสทีเซีย เป็นโรคหรือไม่ ?

แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่รู้เรื่อง synesthesia อย่างถ่องแท้ แต่ก็มีข้อเท็จจริงบางอย่างพิสูจน์ออกมาบ้างแล้ว นั่นคือ synesthesia ไม่ใช่โรค ไม่ได้เป็นความผิดปกติของสมอง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้หลายลักษณะ ในแต่ละแบบจะรับรู้สัมผัสแตกต่างกันไป เช่น Conceptual synesthesia เห็นสมการทางคณิตศาสตร์เป็นรูปร่างได้ หรือ  แบบ Grapheme Personification คือ รับรู้บุคลิกของตัวอักษร เป็นต้น และการรู้รับสัมผัสต่างๆ ก็เกิดจากสมองหลายๆ ส่วนทำงานร่วมกัน เป็นลักษณะที่เกิดจากพันธุกรรม และ 99% ส่งต่อยีนมาจากฝั่งแม่ และคนที่เป็น ซินเนสทีต (synesthete) ส่วนมากก็เป็นผู้หญิง พบว่าคนที่มีลักษณะ  synesthesia แบบเห็นตัวอักษรหรือสัญลักษณ์เป็นสีมีมากที่สุด ถึง 69% รองลงมาคือ ได้ยินเสียงเป็นสี 20% และรับรู้เสียงมีกลิ่นหรือรสชาติมีสี 11%

รูปแบบต่าง ๆ ของ ปรากฏการณ์ซินเนสทีเซีย 

ซินเนสทีเซียเป็นสัมผัสที่ซับซ้อนมากกว่าปกติ จึงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกผัสสะทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เชื่อมโยงกันไปเป็นลักษณะพิเศษของแต่ละคน รูปแบบการเกิดซินเนสทีเซียไม่มีความแน่นอน และในคนคนเดียวยังอาจเกิดซินเนสทีเซียได้หลายรูปแบบด้วย

เพื่อให้การศึกษาซินเนสทีเซียเป็นเรื่องง่าย Dr. Ashok Jansari หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันจิตเวชแห่ง University of East London ได้กำหนดโครงสร้างรูปแบบการเกิดซินเนสทีเซียไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้

1.Grapheme – colour synesthesia คือ กลุ่มที่เห็นตัวหนังสือหรือตัวเลขเป็นสี
2.Taste–touch synaesthesia คือ กลุ่มที่เกิดความรู้สึกต่างๆจากการลิ้มรสชาติ
3.Sound–colour synaesthesia คือ กลุ่มที่เสียงเพลง เสียงดนตรีหรือตัวโน้ตทำให้เห็นเป็นสี

ภาพวาดจากผู้มีอาการซินเนททีเซีย, ซินเนสทีเซีย, synesthesia, อาการ synesthesia
ภาพจาก Melissa McCracken เผยผลงานของศิลปินสาวที่มีอาการ ซินเนสทีเซีย เธอตอบไม่ได้ว่าเธอชอบเพลงเพราะเสียงหรือการเห็นภาพ แต่เธอก็พอจะรู้สึกได้ว่า บางครั้งการมองเห็นก็ส่งผลต่อความชื่นชอบในเพลงของเธอ

4.Word–taste synesthesia คือ กลุ่มที่สัมผัสรสชาติได้จากตัวอักษร ตัวหนังสือ

สำหรับรูปแบบซินเนสทีเซียที่พบได้บ่อยที่สุดคือแบบที่ 1 เห็นอักษรเป็นสี

ข้อดีของซินเนสทีเซีย

จากสถิติของผู้เป็นซินเนสทีเซียส่วนใหญ่พบว่ามีความจำดีกว่าคนทั่วไป นั่นอาจเป็นเพราะประสบการณ์การรับรู้พร้อมกันมากกว่าหนึ่งช่องทางในเวลาเดียว เมื่อรู้ตัวว่าเป็นซินเนสทิต อาจเป็นเรื่องง่ายที่จะจัดระบบความจำให้ตัวเอง หรือใช้ทักษะพิเศษที่มีอยู่สร้างสรรค์จุดเด่นขึ้นมา เพื่อความเป็นเลิศของทักษะด้านต่างๆ ได้

เป็นอย่างไรกันบ้างคะพอจะเริ่มรู้จักอาการซินเนสทีเซียได้มากขึ้นแล้วหรือยัง พอได้ลองศึกษากันแล้วรู้สึกกันไหมว่าจริง ๆ แล้ว ซินเนสทีเซีย ไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงอะไรเลย เพียงแต่เป็นอาการผิดปกติของการประมวลภาพของสมองแค่นั้นเอง แล้วถ้าลองศึกษาดี ๆ จะรู้สึกได้เลยว่า อาการซินเนสทีเซียไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำเลย แถมยังช่วยเรื่องของความจำและรสสัมผัสที่ละมุนมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นซะอีก

ยังไงก็ลองศึกษาตัวเองกันเน้อว่า โลกของคุณมีสีชมพูเหมือนพิมฐากันไหม

อ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูล : https://www.dek-d.com/education/36614/

https://www.online-station.net/movie/view/36306

https://www.gotoknow.org/posts/86023

https://www.dek-d.com/board/view/2216029/

ภาพประกอบ : http://www.odditycentral.com/art/artist-who-experiences-sounds-as-colors-paints-popular-songs.html

https://www.instagram.com/pimtha/?hl=th

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.