ตัดกระเพาะลดอ้วน
ควรหรือไม่ ? ตัดกระเพาะลดอ้วน … อ้วน อ้วน อ้วน ใครๆ ก็พากันรังเกียจรูปร่างที่ใหญ่โตเกินมาตรฐาน ไม่ใช่แค่ความไม่สวยไม่หล่อ ที่แย่ยิ่งกว่าแย่คือโรคอีกร้อยแปดตามรังควานเอา รังควานเอา
เราก็เลยต้องหาวิธีลดความอ้วนกันชนิดที่เรียกได้ว่าแทบพลิกแผ่นดิน (ทั้งที่แท้จริงแล้วน่าจะเป็นแค่เรื่องยั้งใจและหยุดปากตัวเองให้ได้เท่านั้น)
ล่าสุดวิทยาการทางการแพทย์ค้นพบวิธีช่วยคนอ้วนที่ถูกรุมเร้าด้วยโรคร้ายนานา นั่นคือวิธี Bariatric Surgery การตัดหรือผูกกระเพาะอาหารเพื่อลดความอ้วนอย่างถาวร
ว่าแต่การเจาะผ่าช่องท้องที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อและความรู้สึกเจ็บปวดของเรา ปล่อยให้คมมีดเข้าไปตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ ก่อนนำทั้งสองส่วนนี้มาเย็บเชื่อมต่อกันใหม่อย่างน่าสยดสยอง เป็นสิ่งที่น่าลองหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อสนนราคาค่ามีดหมอก็อาจคือค่าข้าวทั้งปีของครอบครัวเรา และโครงการ 30 บาทก็ไม่รักษา…ฮา
ทำไมต้องทำให้กระเพาะเล็กลง
แต่อ้อนแต่ออกอวัยวะต่างๆ ของเราก็ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬาร เพียงแต่การเลี้ยงดูของบางครอบครัวทำให้หลายคนในหลายครอบครัวกลายเป็นคนมีขนาดกระเพาะอาหารใหญ่กว่าปกติ (ภาษาชาวบ้านเรียกกระเพาะคราก)โดยปริมาตรความจุอาหารมาเผาผลาญมากเกินความจำเป็นของร่างกาย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคอ้วนที่แพทย์ยอมรักษาให้ด้วยวิธีพิเศษ นอกเหนือจากวิธีที่เรารู้ๆ กันอยู่แล้ว
ว่ากันตามตำรา วิธี Bariatric Surgery นั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1965 โดยคำว่า bariatric มาจากรากศัพท์ภาษากรีก baro หมายถึง น้ำหนัก และ suffix – iatric หมายถึง สาขาวิชาแพทย์ เมื่อรวมกันจึงหมายถึง วิทยาการแพทย์ที่ว่าด้วยเรื่องน้ำหนักที่นอกเหนือจากการควบคุมด้านโภชนาการ ซึ่งก็คือการผ่าตัดเพื่อตัดหรือผูกกระเพาะเพื่อลดความอ้วนนั่นเอง
การผ่าตัดนี้ทำไปเพื่อจุดประสงค์หลักคือ ทำให้กระเพาะเล็กลง และวิทยาการนี้เพิ่งจะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเมื่อ 3 – 4 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรพล อังกูลภักดีกุล จากภาควิชาศัลยศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า คนที่จะทำ Bariatric Surgery ได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีค่าดัชนีมวลกาย(Body Mass Index หรือ BMI) มากกว่า 40 ขึ้นไป หรือผู้ชายมีน้ำหนักเกินมาตรฐานมากกว่า 45 กิโลกรัม (100 ปอนด์) ถ้าผู้หญิงก็มากกว่า 35 กิโลกรัม (80 ปอนด์)
นอกจากนี้จะต้องเป็นคนที่มีโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน (comorbidity) จำพวกเบาหวานในระดับรุนแรง โรคหัวใจ หรือมีปัญหาการนอนกรนอย่างรุนแรงจนถึงขนาดหยุดหายใจตอนหลับบ่อยๆ โดยที่คนไข้เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผ่านวิธีลดความอ้วนมาแล้วสารพัดอย่าง แต่วิธีเหล่านั้นกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า และถ้ายังปล่อยให้คนไข้เหล่านี้มีน้ำหนักเกินมาตรฐานต่อไป ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต
จากงานวิจัยในผู้ป่วย 136 คนที่ตีพิมพ์เผยแพร่ใน Journal of the American Medical Association หรือ JAMA พบว่า Bariatric Surgery นอกจากสามารถลดความอ้วนได้แล้ว ยังช่วยแก้อาการจากโรคเบาหวานได้ 77 เปอร์เซ็นต์
Bariatric Surgery จึงเป็นตัวช่วยแบบเร่งด่วน ว่าแต่คุณจะยอมเสี่ยงหรือไม่
หลากวิธีศัลยกรรมกระเพาะ
แรกเริ่มเดิมที วิธี Bariatric Surgery ใช้การผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อศัลยแพทย์จะได้ทำการผ่าตัด ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป ต้องอาศัยเวลาในการปฏิบัติการ และผู้ป่วยเองก็ต้องเสียเวลาพักฟื้นเป็นเวลานาน เต็มไปด้วยความเสี่ยงนานา
หากปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้า กระบวนการผ่าตัดจึงง่ายกว่านั้น เพียงให้ศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชำนาญเจาะหน้าท้องเป็นรูเล็กๆ ส่องกล้องลงไปปฏิบัติการ ซึ่งก็มีความหลากหลายดังนี้
- Biliopancreatic Diversion (BPD) หรือ Scopinaro procedure ส่วนหนึ่งของกระเพาะถูกเฉือนออกไปเพื่อสร้างกระเพาะใหม่ขึ้นมา ซึ่งเล็กกว่าและทำให้กระเพาะนี้ต่อตรงถึงลำไส้ การผ่าตัดแบบนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ คนไข้เกิดอาการขาดสารอาหารในภายหลัง เนื่องมา จากการดูดซึมซึ่งมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถแก้ได้ด้วยการให้อาหารและวิตามินเสริม
- Vertical Banded Gastroplasty and Adjustable Gastric Banding เป็นการใส่ยางซิลิโคนเข้าไปผูก ทำให้กระเพาะส่วนต้นเล็กลง สามารถใช้การส่องกล้องลงไปปฏิบัติการได้ เพราะคิดค้นโดยศูนย์การแพทย์อ็อบเทคแห่งสวีเดนในปี 1985 จึงสามารถเรียกวิธีนี้ว่าSwedish Adjustable Gastric Band (SAGB) ซึ่งผ่านมาตรฐานขององค์การอาหารและยาหรือ FDA แล้ว สามารถลด น้ำหนักส่วนเกินได้ 50 เปอร์เซ็นต์
- Gastric Bypass Surgery การตัดกระเพาะส่วนกลางออกไป ให้ขนาดกระเพาะเล็กลง และตัดลำไส้เล็กมาต่อกับกระเพาะส่วนต้น ช่วยลดการดูดซึมได้ด้วย เพราะลำไส้เล็กมีขนาดสั้นลงสามารถลดน้ำหนักได้มากถึง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักส่วนเกินเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากในประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนประเทศไทยเรานั้น คุณหมอธีรพลบอกว่ามีให้บริการเฉพาะวิธีที่ 2 และ 3 เท่านั้น ซึ่งล้วนแต่ทำให้กระเพาะจุอาหารได้แค่ 20 ลูกบาศก์เซนติเมตร คนไข้จึงกินอาหารได้น้อยลง นอกจากขนาดความจุอาหารน้อยลงแล้ว ยังรู้สึกอิ่มเร็ว เพราะความรู้สึกอิ่มนี้อยู่ที่ส่วนต้นของกระเพาะอาหาร
ว่าแต่ว่า สิ่งใดในโลกนี้ที่ให้แต่ผลดีโดยไม่มีผลเสียบ้างเล่า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิทยาการทันสมัย ซึ่งชาวชีวจิตหวาดหวั่นนักหนาผอม แต่เสี่ยง
ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดในปี 2006 ซึ่งได้จากการติดตามผลหลังการผ่าตัดเป็นเวลา 180 วันหลังจากคนไข้ออกจากโรงพยาบาล พบว่า มีคนไข้ 39.6 เปอร์เซ็นต์มีอาการต่างๆ ดังนี้
- มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยอาหาร เช่น อาเจียนกลืนอาหารไม่ได้ อาหารไหลย้อน และท้องเสีย 20 เปอร์เซ็นต์
- เกิดรอยรั่วหรือรอยตีบบริเวณแผลผ่าตัด จำนวน 12 เปอร์-เซ็นต์
- ภาวะไส้เลื่อนในช่องท้อง จำนวน 7 เปอร์เซ็นต์
- ติดเชื้อ จำนวน 6 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้แล้ว คนไข้ที่น้ำหนักลงเร็วๆ จะพบปัญหาเรื่องผิวหนังหย่อนยานแบบที่การออกกำลังกายอาจไม่ช่วยอะไร จำเป็นต้องใช้วิธีศัลยกรรมตกแต่งเข้าช่วย ซึ่งก็ต้องเสียกำลังทรัพย์อีกไม่น้อยนอกจากค่าผ่าตัดแบบบายพาสซึ่งมีสนนราคาสองถึงสามแสนบาทหรือค่ารัดยางผูกกระเพาะในราคาเกือบสองแสนบาท
ฉะนั้น คนที่ฝันว่ายอมเจ็บตัวและลงทุนค่าผ่าตัดไม่กี่แสนบาทแล้วจะได้ร่างกายสวยสมส่วน คงไม่ใช่เสียแล้ว
เมื่อเป็นอย่างนี้ นี่อาจไม่ใช่ปลายทางของสุขภาพดีอย่างที่เราต้องการ
ข้อมูลจาก คอลัมน์รายงาน นิตยสารชีวจิต