วัยหมดประจำเดือน
สาวๆ เคยสงสัยไหมว่าทำไมคุณแม่ของเราเมื่อเริ่มเข้าสู่ วัยหมดประจำเดือน มักมาบ่นว่ามีอาการตัวบวม อ้วน หรือรู้สึกอัดอัด งั้นวันนี้เรามาค้นหาคำตอบไปฝากคุณแม่พร้อมๆ กันเลยค่ะ
“วัย หมดประจำเดือน” (Menopause)
“วัย หมดประจำเดือน” ของผู้หญิงญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี (ประมาณ 45-55 ปี) ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ปรากฏขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ กว่า 90% ของผู้หญิงวัยนี้จะมีอาการของคนหมดประจำเดือน คือ นอนไม่หลับ หงุดหงิด ซึมเศร้า ปวดตามข้อ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดศีรษะ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก หรืออาการอื่นๆ ที่เกิดจากสภาพร่างกายไม่ปกติ
- ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงก็จัดเป็นหนึ่งในอาการของคนวัยนี้.
ผลกระทบจากการที่ฮอร์โมนเพศหญิงลดน้อยลง
ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มีสาเหตุมาจากปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะความสามารถในการทำงานของรังไข่เสื่อมถอย
เอสโทรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงตัวหนึ่ง ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ควบคุมการทำงานของเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายให้เป็นปกติ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล บำรุงรักษากระดูกให้แข็งแรง เป็นต้น เมื่อย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและประสิทธิภาพในการทำงานของรังไข่ลดลง ปริมาณฮอร์โมนเอสโทรเจนจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความแปรปรวนในกระบวนการสังเคราะห์พลังงานจากอาหาร เป็นเหตุให้ปริมาณคอเลสเตอรอลรวมทั้งไขมัน (Neutral lipid) พุ่งสูงขึ้น
จึงกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงหมดประจำเดือนนี้เองที่ทำให้น้ำหนักตัวผู้หญิงเพิ่มขึ้น
อาการของคนวัยทองเกิดกับผู้หญิงวัย 30 ปีด้วยหรือ
การลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนเนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของรังไข่เสื่อมถอยคืออาการหลักของคนหมดประจำเดือน แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าผู้หญิงวัย 30 ปีจำนวนมากมีอาการนี้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่พบในคนที่เครียดและทำงานหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การทำงานของรังไข่เสื่อมถอยและผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนได้น้อยลง ทำให้ผู้หญิงวัย 30-40 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนวัยทองก็มีโอกาสอ้วนได้เช่นเดียวกับผู้หญิงหมดประจำเดือน
เมื่อผู้หญิงย่างเข้าวัยทอง
- อ้วน เมื่อคอเรสเตอรอลและไขมันสูงขึ้น ร่างกายจะอยู่ในสภาพที่อ้วนง่าย
- คอเลสเตอรอลสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อฮอร์โมนเอสโทรเจนลดปริมาณลง คอเลสเตอรอลจะพุ่งสูง และปริมาณไขมันจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- กระบวนการสังเคราะห์พลังงานเสื่อมสภาพ ประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์และกระบวนการสังเคราะห์พลังงานจากอาหารเสื่อมสภาพ ตับอ่อนแอลง ทำให้ร่างกายนำพลังงานไปใช้ได้ยาก
- ฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ที่เสื่อมถอยลง ทำให้ปริมาณฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว สภาพร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลง